ผำ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ไข่แหน | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Liliopsida |
อันดับ: | Alismatales |
วงศ์: | Lemnaceae |
สกุล: | Wolffia |
สปีชีส์: | W. globosa |
ชื่อทวินาม | |
Wolffia globosa (Roxburgh) |
ไข่แหน, ไข่น้ำ, ไข่ขำ หรือ ผำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Wolffia globosa) เป็นพืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุด จัดอยู่ในวงศ์ Lemnaceae สกุล Wolffia อาศัยลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจลอยอยู่เป็นกลุ่มล้วน ๆ หรือลอยปนกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น แหน แหนแดง ก็ได้ มีรูปร่างรี ๆ ค่อนข้างกลม มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละต้นมีสีเขียว ไม่มีราก ไม่มีใบ ต้นประกอบด้วยเซลล์ชนิดพาเรงคิมาเป็นส่วนใหญ่ มีช่องอากาศแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ ทำให้เห็นเป็นฟองน้ำ และช่วยให้มีการลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ไม่มีเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่นำน้ำและอาหาร มีช่องให้อากาศเข้าออกได้อยู่ทางบนของต้น
ไข่แหนกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ในทวีปแอฟริกากลาง ทางใต้ในเกาะมาดากัสการ์ และในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะบริเวณเขตศูนย์สูตรใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศบราซิล ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศออสเตรเลียด้วย
การขยายพันธุ์
[แก้]การขยายพันธุ์ของไข่แหนมี 2 แบบ ได้แก่
- การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เนื่องจากไข่แหนเป็นพืชมีดอกขนาดเล็กที่สุด ดอกของไข่แหนจะเจริญเติบโตออกทางช่องข้างบนของต้น ดอกไม่มีกลีบดอก และไม่มีกลีบเลี้ยง ดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ 1 อัน ประกอบด้วยอับละอองเรณู 2 อับ ดอกตัวมีรังไข่ที่มี 1 ช่องและมีไข่อยู่ 1 ใบ ก้านเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรตัวเมียมีลักษณะแบน เมล็ดมีขนาดเล็ก กลมเกลี้ยง ยังไม่ปรากฏว่ามีไข่แหนมีดอกในประเทศไทย มีแต่รายงานการพบเห็นในประเทศอื่น ไข่แหนจะมีดอกและเมล็ดในราวๆเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม
- การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อ ซึ่งมีผู้ทำการศึกษาการเจริญเติบโตแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ไข่แหนแต่ละต้นจะแตกหน่อให้ต้นใหม่ทุก ๆ 5 วัน
ประโยชน์
[แก้]ด้านการศึกษา เนื่องจากไข่แหนเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถนำมาปลูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ จึงเหมาะแก่การทำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการศึกษา เช่น การศึกษาอิทธิพลของสารที่ควบคุมการขยายพันธุ์ของพืช ด้านโภชนาการ ไข่แหนเป็นอาหารของสัตว์น้ำและสัตว์ปีกหลายชนิด นอกจากนี้ คนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ยังได้นำไข่แหนมาประกอบเป็นอาหาร ไข่แหนมีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร จึงต้องนำไข่แหนมาทำให้สุกก่อนรับประทาน นอกจากนี้ ไข่แหนยังมีแคลเซียมและบีตา-แคโรทีนสูงมากอีกด้วย
ผำสามารถสะสมแคดเมียมได้ สะสม 80.65 mg/g [1] จึงมีประโยชน์ในการใช้ฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนแคดเมียม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เบญจภรณ์ บุณยพุกณะ. การทดสอบความเป็นพิษและการดูดซับโลหะโครเมียมและแคดเมียมโดยไข่น้ำ. [ม.ป.ท.] : วิทยานิพนธ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2542.