ข้ามไปเนื้อหา

ปลากะพงดำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลากะพงดำ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Lobotidae
สกุล: Lobotes
สปีชีส์: L.  surinamensis
ชื่อทวินาม
Lobotes surinamensis
(Bloch, 1790)

ปลากะพงดำ (อังกฤษ: Tripletail, Atlantic tripletail) ปลากระดูกแข็งชนิดหนึ่ง ในอันดับปลากะพง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lobotes surinamensis อยู่ในวงศ์ปลากะพงดำ (Lobotidae)

มีลักษณะลำตัวแบนค่อนข้างลึก ความยาวหัวจะสั้นกว่าความลึกลำตัว ปากกว้างเฉียงขึ้น มุมปากจะอยู่แนวเดียวกับปุ่มกลางนัยน์ตา ครีบหลังจะเป็นก้านครีบเดี่ยวเป็นซี่ปลายแหลมประมาณ 11-13 ก้าน และก้านครีบแขนง 13-16 ก้าน ส่วนครีบหลัง ครีบก้น ครีบหางขนาดใกล้เคียงกันดูเหมือนจะมีครีบหาง 3 ครีบ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ ขนาดค่อนข้างใหญ่สีน้ำตาลเข้มทั้งตัวหรือสีเหลืองอมเขียวมะกอก

มีความยาวเต็มที่ได้ 110 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์บริเวณน้ำกร่อยตามปากแม่น้ำ พบได้ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย และแถบอินโด-แปซิฟิก ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีพฤติกรรมอำพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อล่าเหยื่อและอำพรางสัตว์ผู้ล่าที่ใหญ่กว่า โดยปรับเปลี่ยนสีได้ ปกติมักจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ กับที่โดยทิ่มส่วนหัวลง กินสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร ลูกปลาวัยอ่อนมักอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน โดยมักจะตะแคงข้างหรือลอยตัวนิ่ง ๆ ทำให้แลดูคล้ายใบไม้

นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา และรับประทานเนื้อเป็นอาหาร แต่หากนำไปปรุงด้วยการทำแกงหรือต้มยำ รสชาติจะจืดชืดไม่อร่อย จนต้องโยนหม้อที่ใช้ต้มทิ้งไปพร้อมปลา จนได้อีกชื่อเรียกหนึ่งว่า "ปลาหม้อแตก" และมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น "กะพงขี้เซา", "กะพงแสม", "อีโป้", "ใบไม้" "ตะกรับทะเล" หรือ "กูกู" (มอแกน) เป็นต้น[1]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]