นักองค์อี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระศรีวรราชธิดา
บาทบริจาริกาวังหน้า
ประสูติพ.ศ. 2310
สิ้นพระชนม์ไม่ปรากฏ
คู่อภิเษกสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระราชบุตรพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำพุชฉัตร
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์มาลา
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม (ประสูติ)
จักรี (เสกสมรส)
พระบิดาพระนารายน์ราชารามาธิบดี
พระมารดานักนางแม้น
ศาสนาพุทธ

สมเด็จพระศรีวรวงษ์ราชธิดา บรมบพิตร หรือ สมเด็จพระศรีวรราชธิดา[1] พระนามเดิม นักองค์อี เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี หรือนักองค์ตน ประสูติแต่นักนางแป้น หรือแม้น ต่อมาได้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

นักองค์อี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2310 เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี หรือนักองค์ตน ประสูติแต่นักนางแป้น หรือแม้น น้องสาวออกญาบวรนายก (ซู)[2] นักองค์อีมีพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่งคือ นักองค์เม็ญ (หรือเมน) ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระเอกกระษัตรี (พระนามเดิม นักนางบุบผาวดี) ส่วนพระขนิษฐภคินีคือ นักองค์เภา ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา (พระนามเดิม นักนางอี)[3] และพระอนุชาคือ นักองค์เอง ประสูติแต่นักนางไชย[4]

หลังพระนารายน์ราชาธิบดีสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2320 เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) และออกญากระลาโหม (โสร์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กรุงกัมพูชา ประกาศถวายพระนามแก่พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่ในพระบรมโกศสองพระองค์ คือ นักองค์เม็ญ พระพี่นางพระองค์ใหญ่ ถวายพระนามเป็นสมเด็จพระมหากระษัตรี และนักองค์อี พระพี่นางพระองค์รอง ถวายพระนามเป็นสมเด็จพระศรีวรวงษ์ราชธิดา บรมบพิตร ใน พ.ศ. 2323[5]

ลี้ภัยสู่กรุงสยาม[แก้]

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ระบุว่า พ.ศ. 2325 พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) พาเจ้านายเขมรและเขมรเข้ารีตประมาณ 500 คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้านายเขมรที่เสด็จลี้ภัยในคราวนั้น ได้แก่ นักองค์อี นักองค์เภา และนักองค์เอง ไปประทับอยู่วังเจ้าเขมรที่ตำบลคอกกระบือ[1] แต่นักองค์เม็ญป่วย ถึงแก่พิราลัยเสีย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกราบทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภาไปเป็นพระสนมเอกในวังหน้าสองพระองค์ ส่วนนักองค์เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรม[6] สอดคล้องกับ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับนักองค์เม็ญ นักองค์อี และนักองค์เภาไปเลี้ยงเป็นพระอรรคชายาเมื่อ พ.ศ. 2325[7] แต่ในเอกสารไทยว่านักองค์เม็ญสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนในกรุงเทพมหานคร คงเหลือเพียงนักองค์อีและนักองค์เภาที่รับไปเลี้ยงเป็นพระสนมเอกในกรุงสยาม[8] ส่วนนักนางแม้นที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครด้วยกันนั้นก็ได้บวชเป็นชีที่วัดหลวงชี (ต่อมาคือ วัดบวรสถานสุทธาวาส)[9]

เจ้าจอมมารดานักองค์อีมีพระประสูติการพระธิดาสองพระองค์คือ

  1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำพุชฉัตร หรือกัมโพชฉัตร (พ.ศ. 2329 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)
  2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์มาลา หรือวงศ์กษัตริย์ (พ.ศ. 2336 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)

ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์วังหลวงกับวังหน้า ที่ไพร่พลเขมรลากปืนขึ้นป้อมวังหลวงจนเกิดความกินแหนงกันจนเกือบเกิดสงครามกัน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงส่งให้เจ้าจอมมารดานักองค์อีที่เป็นเจ้านายเขมรเข้าไปสืบความจริง จึงพบว่าเป็นการลากปืนเพื่อใช้ในพระราชพิธีตรุษเท่านั้น[10] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกริ้ววังหน้า จึงมีรับสั่งให้ชำระความ "คหบดีกรุงธิปัต" คือพระยาเขมรคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นขุนนางของพระอัยกานักองค์อี แต่ปรากฏว่าขุนนางคนนี้กล่าวปด โดยเบิกความว่าเจ้าจอมมารดานักองค์อีเป็นผู้ยุยงกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้กระทำการกระด้างกระเดื่องต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงสั่งจองจำนักองค์อีและบ่าวไพร่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความผิด พร้อมระวางโทษประหาร แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้สืบความใหม่ ด้วยการไต่สวนหม่อมวันทา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ดังปรากฏใน นิพานวังน่า พระนิพนธ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำพุชฉัตร ซึ่งระบุถึงเหตุการณ์กบฏครั้งนี้ไว้ ความว่า[11]

ให้สืบถามวันทาสุดาเดียว ไฉนเจียวยุเย้าให้เราแคลง
ฝ่ายจอมฉลองโอษฐ์พระบิตุเรศ สดับเหตุให้การไม่เคลือบแฝง
ว่าคงตายขอถวายสัตย์แสดง จึงแจ้งจริงให้สมคำไม่อำพราง

หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สดับความจริงครบถ้วนทุกประการ ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าจอมมารดานักองค์อีและบ่าวไพร่พ้นผิด พร้อมกับพระราชทานเบี้ยหวัดให้เป็นการชดเชย[12]

ครั้น พ.ศ. 2350 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ตรัสใช้พระองค์แก้ว (ด้วง) และออกญาจักรี (แกบ) นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับสมเด็จพระปิตุจฉาคือนักองค์อีและนักองค์เภาที่ประทับอยู่กรุงสยามกลับคืนกรุงกัมพูชา เอกสารไทยระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่โปรดพระราชทาน เพราะ "มีพระองค์เจ้าอยู่ จะให้ออกไปมิได้มารดากับบุตรจะพลัดกัน"[1][13][14] ขณะที่เอกสารเขมรระบุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าพระราชทานให้ นักองค์เม็ญ นักองค์เภา และพระภัควดีพระเอกกระษัตรีกลับคืนเมืองเขมร เว้นแต่นักองค์อีที่คงให้อยู่กรุงเทพมหานครทั้งมารดาและพระราชบุตร[15]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 156
  2. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 134
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 135
  4. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 141
  5. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 152
  6. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (8. พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 160
  8. ไกรฤกษ์ นานา (5 ตุลาคม 2563). "วารสาร "นักล่าอาณานิคม" ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ "นครวัด" ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "พระราชวังบวรสถานมงคล". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. ดิเรก หงษ์ทอง (มกราคม–มิถุนายน 2558). "พงศาวดารเขมรใน "นิพานวังน่า" : ความสำคัญต่อการตีความชีวิตของเจ้านายเขมรพลัดถิ่นในสยาม". วารสารอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน (6:1), หน้า 212
  11. หญิงร้าย, หน้า 153
  12. ดิเรก หงษ์ทอง (มกราคม–มิถุนายน 2558). "พงศาวดารเขมรใน "นิพานวังน่า" : ความสำคัญต่อการตีความชีวิตของเจ้านายเขมรพลัดถิ่นในสยาม". วารสารอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน (6:1), หน้า 218-219
  13. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (129. สมเด็จพระอุทัยทูลขอนักองอี นักองเภา)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 (13. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 181-183
บรรณานุกรม
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล. หญิงร้าย. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2562. 256 หน้า. ISBN 978-616-301-670-6