นกเค้าจุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกเค้าจุด
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Strigiformes
วงศ์: Strigidae
สกุล: Athene
สปีชีส์: A.  brama
ชื่อทวินาม
Athene brama
(Temminck, 1821)
ชนิดย่อย
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Carine brama
  • Noctua indica (Franklin, 1831)

นกเค้าจุด (อังกฤษ: Spotted owlet; ชื่อวิทยาศาสตร์: Athene brama) เป็นนกล่าเหยื่อจำพวกนกเค้าแมวชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ในประเทศไทย

มีลักษณะส่วนหัวกลมไม่มีขนชี้ขึ้นไปเหมือนหูอย่างนกเค้ากู่ (Otus lempiji) มีจุดสังเกตอยู่ที่ขนคิ้วสีขาวที่เห็นได้เด่นชัด หัวค่อนข้างแบน บริเวณหัวจนถึงท้ายทอยสีน้ำตาลมีจุดเล็ก ๆ สีขาวประทั่วไป บริเวณตัวด้านบนซึ่งเป็นสีน้ำตาลก็มีจุด แต่จะมีขนาดใหญ่และกระจายมากกว่าบริเวณหัว บางทีใหญ่และเรียงตัวกันดูคล้ายบั้งมากกว่าจุด โดยเฉพาะด้านหลังคอที่จะเรียงตัวต่อกันคล้ายปลอกคอ ด้านล่างของลำตัวสีขาว แต่มีลายจุดสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน[2]

โตเต็มที่มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 20 เซนติเมตร จัดว่าเป็นนกเค้าแมวขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ออกหากินในเวลากลางคืน โดยเริ่มออกจากรังตั้งแต่เวลาโพล้เพล้ เป็นนกที่บินได้เงียบมาก อาหารได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ รวมถึงแมลงปีกแข็ง, หนูขนาดเล็กหรือนกขนาดเล็กชนิดอื่นที่นอนหลับบนต้นไม้ เมื่อเห็นเหยื่อจะพุ่งตัวกางกรงเล็บอันแข็งแรงและแหลมคมออกจับเหยื่อ ถ้าเหยื่อตัวเล็กจะกินเลยทันที ถ้าตัวใหญ่ก็นำกลับมาที่รังก่อนแล้วใช้กรงเล็บจับเหยื่อขึ้นมาฉีกกินจนหมด นกเค้าจุดที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านอาจมีพฤติกรรมไล่จับแมลงที่มาเล่นไฟที่หลอดนีออน[3]

มีการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างกว้างขวาง โดยพบได้ตั้งแต่อิหร่าน, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อนุทวีปอินเดีย สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ที่พม่า, ไทย, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 400 เมตร จนถึงทะเลทราย ทั้งยังปรับตัวให้อยู่ในเมืองขนาดใหญ่ได้อีกด้วย โดยสามารถพบได้ตามที่ ๆ มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นหรือตามสวนสาธารณะ เป็นนกที่ปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์ได้ดีมากชนิดหนึ่งและไม่ค่อยกลัวมนุษย์ มีชนิดย่อยทั้งหมด 4 ชนิด (ดูในตาราง)[4][5][6]

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน โดยรังวางไข่ของนกเค้าจุด จะใช้โพรงธรรมชาติหรือโพรงที่สัตว์อื่นทำไว้ หรือรอยแตกรอยแยกในตึก, เจดีย์, ซอกหลังคาตามอาคารเป็นรัง อาจหาหญ้าหรือขนนกมารองพื้นรัง แต่ส่วนมากจะวางไข่กับพื้นเปล่าเลย วางไข่ครั้งละ3-5ฟอง ไข่มีลักษณะกลม ขนาด 37x27 มิลลิเมตร เปลือกไข่สีขาวเป็นมันเล็กน้อย นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่ เช่นเดียวกับนกเค้าแมวชนิดอื่น ๆ นกเค้าจุดจะกกไข่ทันทีตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ลูกนกในรังจึงมีขนาดแตกต่างกันมาก เพราะออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ใช้เวลาเลี้ยงลูกนกประมาณ 35-40วัน ลูกนกจะสามารถออกมานอกรังได้

ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกอ่อน โดยจะออกหากินในเวลากลางวัน ถ้าเหยื่อเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะส่งให้ลูกทั้งตัว ถ้าขนาดใหญ่ก็จะฉีกเป็นชิ้นเล็กให้ ลูกนกที่โตพอสมควรแล้วจะยังคงอยู่กับพ่อแม่อีกนาน บางครั้งอาจพบนกเค้าจุด 2-3ตัว อยู่บนต้นไม้เดียวกัน หรือเกาะกิ่งเบียดใกล้ชิดกันเสมอ ๆ โดยในตอนกลางวันจะเกาะกิ่งหลับอยู่บนต้นไม้ใบหนา หรือถ้ามีโพรงก็จะมุดเข้าไปหลบในโพรงเพื่อความปลอดภัย[7]

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่ก็เป็นนกเค้าแมวอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง[3] [8] [9] [10][11][3] [12]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Athene brama". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. Rasmussen PC & JC Anderton (2005). Birds of South Asia: The Ripley Guide. Vol. 2. Smithsonian Institution & Lynx Edicions. pp. 246–247.
  3. 3.0 3.1 3.2 Pande, Satish; Amit Pawashe; Murlidhar N. Mahajan; Charu Joglekar & Anil Mahabal (2007). "Effect of Food and Habitat on Breeding Success in Spotted Owlets (Athene brama) Nesting in Villages and Rural Landscapes in India". Journal of Raptor Research. 41 (1): 26–34. doi:10.3356/0892-1016(2007)41[26:EOFAHO]2.0.CO;2.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Deignan HG (1941). "New birds from the Indo-Chinese sub-region" (PDF). The Auk. 58 (3): 396–398. doi:10.2307/4078958.
  5. Ali, S & S D Ripley (1981). Handbook of the birds of India and Pakistan. Vol. 3 (2 ed.). Oxford University Press. pp. 299–302. ISBN 0-19-562063-1.
  6. Baker, E. C. S. (1919). "Descriptions of subspecies of Carine brama". Bulletin B.O.C. 40: 60–61.
  7. Ali, Salim (1996). The Book of Indian Birds (12 ed.). Oxford University Press. ISBN 0-19-561634-0.
  8. Lan, Yang;Li Gui-yuan (1989). "A New Subspecies of The Athene brama (Spotted Little Owl)—A. b. poikila (Belly-mottled Little Owl)". Zoological Research. 10 (4): 303–308.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. Sun, Yue-Hua; Bi Zhong-Lin; Wolfgang Scherzinger (2003). "Belly-mottled little owl Athene brama poikila should be boreal owl (Aegolius funereus beickianus)". Current Zoology. 49 (3): 389–392. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 2013-12-30.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  10. Shah, Z.A. and M.A. Beg (2001). "Food of the Spotted Little Owl (Athene brama) at a place where a cropland and a sandy wasteland met". Pakistan J. Zool. 33: 53–56.
  11. Shah, Zahid Ali; Mirza Azhar Beg & Akbar Ali Khan (2004). "Prey Preferences of the Spotted Little Owl (Athene brama) in the Croplands Near Faisalabad–Pakistan" (PDF). Int. J. Agri. Biol. 6 (2): 278–280. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2013-12-30.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. Beg, M.A., M. Maqbool & M. Mushtaq–ul–Hassan (1990). "Food habits of spotted owlet, Athene brama". Pakistan J. Agri. Sci. 27: 127–131.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Athene brama ที่วิกิสปีชีส์