ข้ามไปเนื้อหา

ตำรวจศาล (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจศาล
Court Marshal
อาร์มเจ้าพนักงานตำรวจศาล
ตราสัญลักษณ์ศาลยุติธรรม
ชื่อทางการเจ้าพนักงานตำรวจศาล
คำขวัญรักษาความสงบ เคารพคำสั่งศาล คุ้มครองตุลาการ เป็นเจ้าพนักงานที่ดี
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง15 เมษายน พ.ศ. 2562
เจ้าหน้าที่311 นาย[1]
โครงสร้างเขตอำนาจ
เขตอำนาจในการปฏิบัติการศาลยุติธรรมและตามคำสั่งศาล
บัญญัติตราสาร
  • พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562
ลักษณะทั่วไป
สำนักงานใหญ่ศาลอาญา (อาคารจอดรถ ชั้น 2)
ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

ผู้บริหารหน่วยงาน
  • เหรียญทอง เพ็งพา, ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย
หน่วยงานปกครองศาลยุติธรรม
ส่วนงาน • 7 ส่วนงาน

ตำรวจศาล (อังกฤษ: Court Marshal) ในประเทศไทย เป็นข้าราชการศาลยุติธรรม[2] ตำแหน่ง เจ้าพนักงานตำรวจศาล สังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย ศาลยุติธรรม ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562[3] มาตรา 5 แต่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 แต่อย่างใด

ความเป็นมา

[แก้]

ตำรวจศาลในประเทศไทย ถูกพูดถึงในหน้าสื่อเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดย นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น ในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานครบรอบ 13 ปีของศาลปกครอง ซึ่งพูดถึงระบบตำรวจศาลในต่างประเทศว่าควรนำมาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่ออารักขาและรักษาความปลอดภัยแก่บุคลากรและตุลากร เนื่องจากในขณะนั้นมีการคุกคามกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจนในหน้าสื่อมวลชน ทั้งการเดินทางไปปิดล้อมที่พัก การคุกคามต่อตัวบุคคล และการคุกคามอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาคดีให้ไม่มีความเป็นธรรม หากมีการจัดตั้งตำรวจศาลขึ้นก็จะสามารถพิจารณาคดีต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรม เที่ยงตรง และแก้ไขปัญหาได้อย่างสันติวิธี โดยอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่จากภายใน เนื่องจากทุกวันนี้เวลามีเหตุก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นครั้งคราวตามการร้องขอ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความมั่นใจในการปฏิบัติงาน หากจัดตั้งขึ้นมาแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในองค์กรตุลาการมากขึ้น[4]

นอกจากนี้ยังมีกรณีการกระทำผิดภายในเขตพื้นที่ศาลหลายกรณี อาทิ กรณีผู้ต้องหามีอาการมึนเมาและอาละวาดในบริเวณศาล[5] กรณีผู้ต้องหาใช้อาวุธมีดแทงตำรวจที่ควบคุมตัวเข้ามาในพื้นที่ศาลจังหวัดพัทยาแล้วใช้อาวุธปืนยิงเพื่อหลบหนี[6] ทำให้ตำรวจศาลมีความจำเป็นในการอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการควบคุมตัวของศาล

ในส่วนของการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย มีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ดูแลรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการควบคุมตัวผู้ต้องหาภายในแต่ละท้องที่ และร่วมรักษาการณ์บริเวณศาล โดยในส่วนของศาลเอง มีเพียงเจ้าหน้าทีรักษาความปลอดภัยขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ที่แม้จะมีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ด้านการทหาร แต่ไม่มีอาวุธประจำกายในการควบคุมเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ในบริเวณศาล สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีการก่อตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลขึ้นมาเพื่อดูแลในพื้นที่ของศาลยุติธรรม[7]

ในปี พ.ศ. 2561 ประธานคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติตำรวจศาล นายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล ผู้พิพากษาประจำสำนักประธานศาลฎีกา ระบุว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามารับการคัดเลือกเป็นตำรวจศาลนั้น จะต้องเคยเป็นอดีตทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใกล้เคียง โดยจูงใจเจ้าหน้าที่เหล่านี้ด้วยค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อทดแทนเงินตอบแทนพิเศษจากค่าปีก ค่าร่ม หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่หน่วยงานต้นสังกัตเคยมอบให้และเสียสิทธิ์เหล่านั้นเมื่อลาออกมาเป็นตำรวจศาล[8]

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โฆษกศาลยุติธรรมได้ระบุว่า ตำรวจศาลได้รับการเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว โดยอนุมัติอัตรากำลังทั้งหมด 109 นาย[a] พร้อมทั้งงบประมาณในปีแรกจำนวน 22.18 ล้านบาท[9] ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2562[3] บังคับใช้เมื่อพ้นจากกำหนดในการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยเปิดรับเจ้าพนักงานตำรวจศาลรุ่นแรกจำนวน 35 นาย และเริ่มปฏิบัติงานวันแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562[10] ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นการวางกำลังไปที่อาคารทำการของศาลยุติธรรม

ภารกิจ

[แก้]
การติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามคำสั่งศาลอาญา เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการติดตามผู้ได้รับการประกันตัวของตำรวจศาล

ตำรวจศาลมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยรวมถึงอารักขาคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการ[9] รักษาความสงบเรียบร้อย[11] ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาล การควบคุมตัวผู้ต้องหาจากกระบวนการศาลเพื่อนำส่งต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อนำฝากขังที่เรือนจำ[12]

นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีจากการปล่อยตัวชั่วคราว ขัดคำสั่งของหมายเรียกหรือคำสั่งศาล[13] ปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจในการดำเนินการจับกุมเพื่อเข้าสู่กระบวนการศาล[14] โดยมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกันกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[15] ซึ่งนอกจากนี้ ตำรวจศาลยังสามารถติดตามผู้ต้องหาหรือจำเลยได้จากกำไล EM[16] ที่สามารถรายงานตำแหน่งได้ตลอดเวลา รวมถึงมีการแจ้งเตือนเมือมีการพยายามถอดหรือทำลายอุปกรณ์ติดตาม[17]

คุณสมบัติ

[แก้]

เจ้าพนักงานตำรวจศาล ตามระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกอบด้วย

ประเภทวิชาการ จะต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายหรือเทียบเท่าในระดับเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน เคยผ่านงานรักษาความปลอดภัย การปราบปราม สืบสวน สอบสวน การข่าว การตรวจสอบพฤติการณ์บุคคล หรืองานธุรการของศาลยุติธรรมไม่น้อยกว่าห้าปี และจะต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นดังนี้

  • เป็นข้าราชการศาลยุติธรรมประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ หรือสูงกว่า
  • หรือ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาลประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน หรือสูงกว่า
  • หรือ เป็นนายทหารหรือตำรวจสัญญาบัตร ยศไม่ต่ำกว่าร้อยโท เรือโท เรืออากาศโท หรือร้อยตำรวจโท หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีงานด้านการรักษาความปลอดภัย การปราบปราม สืบสวน สอบสวน การข่าว การตรวจสอบพฤติการณ์บุคคล ในประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ หรือสูงกว่า กรณีชำนาญการพิเศษ ต้องมียศไม่ต่ำกว่า พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอก หรือเทียบเท่า

ประเภททั่วไป จะต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือเทียบเท่าไม่จำกัดสาขาวิชา หรือจบจากโรงเรียนนายสิบตำรวจ นายสิบทหารบก จ่าอากาศ ชุมพลทหารเรือหรือเทียบเท่า และเคยผ่านงานรักษาความปลอดภัย การปราบปราม สืบสวน สอบสวน การข่าว การตรวจสอบพฤติการณ์บุคคล หรืองานธุรการของศาลยุติธรรมไม่น้อยกว่าห้าปี และมีทักษะที่จำเป็นต่อตำแหน่ง

นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจศาล จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562[18]

ประเภทตำแหน่ง

[แก้]

สำหรับเจ้าพนักงานตำรวจศาลนั้น ใช้มาตรฐานการกำหนดตำแหน่งของสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ประกอบไปด้วย

  • ประเภททั่วไป[19]ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน และระดับอาวุโส
  • ประเภทวิชาการ[15] ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ และระดับชำนาญการพิเศษ

โครงสร้าง

[แก้]

ตำรวจศาล แบ่งโครงสร้างการทำงานอยู่ภายในศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม แบ่งออกเป็น 7 ส่วน[20]

  • ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล 1 รับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 1
  • ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล 2 รับผิดชอบในพื้นรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 2 และภาค 7
  • ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล 3 รับผิดชอบในพื้นรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 3 และภาค 4
  • ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล 4 รับผิดชอบในพื้นรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 5 และภาค 6
  • ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล 5 รับผิดชอบในพื้นรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 8 และภาค 9
  • ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล 6 รับผิดชอบในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร
  • ส่วนฝึกอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาล

ผลการปฏิบัติงาน

[แก้]

จากผลการปฏิบัติงานในรายงานประจำปี พ.ศ. 2563 ตำรวจศาลสามารถสืบสวนจับกุมร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นได้จำนวนทั้งสิ้น 2,050 หมายจับ ระงับและควบคุมเหตุฉุกเฉินภายในศาลจำนวน 174 ครั้ง ดูแลรักษาความปลอดภัยและอารักขาภายในศาลและสำนักงานศาลยุติธรรมจำนวน 263 ครั้ง และมีเป้าหมายในการเพิ่มอัตรากำลังตำรวจศาลให้ได้จำนวน 871 นาย ภายในปี พ.ศ. 2567 จากกรอบอัตรากำลังทั้งหมด 1,180 นาย[b][21]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. กรอบอัตรากำลังพลตามแผนในปี พ.ศ. 2562
  2. กรอบอัตรากำลังพลตามแผนในปี พ.ศ. 2563

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศาลยุติธรรมจัดเจ้าพนักงานตำรวจศาล รุ่น 3 อีก 217 คน กระจายไปดูแลศาลทั่วประเทศ
  2. "ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจศาลปฏิบัติการ ในสำนักงานศาลยุติธรรม". op.coj.go.th.[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล. (soc.go.th) เล่มที่ 136, ตอนที่ 50 ก, วันที่ 16 เมษายน 2562. หน้า 253-257
  4. "แนวคิดตั้ง'ตำรวจศาล'". bangkokbiznews. 2014-03-11.
  5. "ระทึก! หนุ่มเมาอาละวาด ตะโกนด่า ชกตำรวจ พื้นที่ศาลอาญารัชดาฯ ไล่จับพัลวัน". www.sanook.com/news.
  6. "ตั้งค่าหัวล่า 5 หมื่น 3 ผู้ต้องหาแทงตำรวจศาลพัทยาหลบหนี". www.posttoday.com. 2019-11-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "เปิดตัว "คอร์ท มาร์แชล" ปิดช่องโหว่ยิงกันกลางศาล". bangkokbiznews. 2019-11-13.
  8. "เผย 'ตร.ศาล' วางสเปกสูง ได้โอกาสไต่เต้าก้าวหน้า". www.thairath.co.th. 2018-04-16.
  9. 9.0 9.1 "สนช.ไฟเขียวตั้งตำรวจศาลอารักขาผู้พิพากษา ตามจับผู้ต้องหาหนีคดีตามหมายจับ". mgronline.com. 2019-02-08.
  10. "มาแล้ว!ตำรวจศาลรุ่น 1 เริ่มงาน 6 ส.ค.นี้". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
  11. "ศาลอาญา สั่งถอนประกันกลุ่มทะลุฟ้า 6 คน หลังขีดเขียนข้อความห้องเวรชี้ ระบุเป็นการผิดเงื่อนไข". THE STANDARD. 2022-01-21.
  12. "ตร.เชียงรายจับแล้ว "นักโทษ" หนีกลับบ้าน ขณะคุมส่งศาลรอเงินค่าปรับ". คมชัดลึกออนไลน์. 2022-02-08.
  13. "มารู้จักเจ้าพนักงานตำรวจศาลกันเถอะ". ojso.coj.go.th.[ลิงก์เสีย]
  14. matichon (2021-11-10). "ตำรวจศาลร่วมกองปราบฯตามจับอดีตผช.ผจก.เอ็กซิมแบงก์หลบหนีคดีกว่า 5 ปี". มติชนออนไลน์.
  15. 15.0 15.1 "มาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการ สายงานเจ้าพนักงานตำรวจศาล". ojoc.coj.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-01. สืบค้นเมื่อ 2022-03-16.
  16. matichon (2019-08-06). "ตำรวจศาลรายงานตัวพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ดูแลความปลอดภัย ไล่ล่าผู้หนีประกัน". มติชนออนไลน์.
  17. "คุกอีกครั้ง หนุ่มใหญ่จัดปาร์ตี้พี้ยา ฉลองปลดกำไลข้อเท้า EM ตำรวจตามรวบ". www.sanook.com/news.
  18. ราชกิจจานุเบกษา. ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 เก็บถาวร 2022-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (coj.go.th) เล่มที่ 136 ตอนที่ 73 ก วันที่ 4 มิถุนายน 2562 หน้า 25-27
  19. "มาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภททั่วไป สายงานเจ้าพนักงานตำรวจศาล". ojoc.coj.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-01. สืบค้นเมื่อ 2022-03-16.
  20. "ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายใน และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานในสำนักงานศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2562". ojso.coj.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-15. สืบค้นเมื่อ 2022-03-16.
  21. "ผลการดำเนินงานของเจ้าพนักงานตำรวจศาล Court Marshal ในปี 2563". www.facebook.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)