งูอนาคอนดายักษ์
งูอนาคอนดายักษ์ (อังกฤษ: Giant Anaconda) เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับที่เชื่อกันว่าว่ามีอยู่ในป่าดิบชื้น ทวีปอเมริกาใต้ โดยเป็นงูอนาคอนดาขนาดใหญ่ที่ใหญ่กว่างูอนาคอนดาธรรมดามาก ซึ่งชื่อในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "คอบร้าแกรนดี" แปลว่า "งูยักษ์"[1]
โดยที่งูอนาคอนดาสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดนั้น คือ งูอนาคอนดาเขียว (Eunectes murinus) ที่โตเต็มที่จะยาวได้ประมาณ 17 ฟุต (แต่อาจยาวได้ถึง 29 ฟุต)[2] และงูใหญ่จำพวกอื่น คือ งูเหลือม (Python reticulatus) ที่พบในทวีปเอเชีย ก็อาจยาวได้มากกว่า 20 ฟุต[3]
เรื่องราวของงูอนาคอนดายักษ์นั้น ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าและนิทานพื้นบ้านของชนพื้นเมืองมานานแล้ว จนกระทั่งมีการเข้าไปสำรวจทวีปอเมริกาใต้ของชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม โดยชาวสเปนและชาวโปรตุเกสได้รายงานมาว่า มีงูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "มาตาโตโร่" ที่แปลได้ว่า "งูกินวัว" โดยรายงานว่ามันมีความยาวกว่า 80 ฟุต
ต่อมาในปี ค.ศ. 1906 พันเอกเพอร์ซี ฟาลเคตต์ ซึ่งเป็นนักสำรวจผู้เขียนแผนที่ป่าอเมซอนได้เขียนลงในบันทึกของเขาว่าเขามีหนังงูที่มีความยาว 62 ฟุต และกล่าวว่า เขาได้สังหารงูตัวนี้ด้วยปืนไรเฟิลด้วยกระสุนขนาด .44 ในกระดูกสันหลังของมัน ซึ่งมันโจมตีใส่เรือของคณะเขา เส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัวมันเกินกว่า 12 นิ้ว และอาจจะใหญ่ได้มากกว่านี้ถ้าได้กินอาหารเข้าไป
ในปี ค.ศ. 1925 สาธุคุณวิคเตอร์ไฮนซ์ เห็นงูขนาดใหญ่ที่แม่น้ำริโอเนโกรซึ่งสาขาของแม่น้ำอเมซอน ท่านกล่าวว่าลำตัวของมันที่มองเห็นได้อย่างน้อยยาวกว่า 80 ฟุต และร่างกายมีความหนาเหมือนหนังกลอง
ต่อมาหนังสือพิมพ์เปอร์นัมบูโก ในบราซิลประจำวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1948 ตีพิมพ์ภาพและพาดหัวว่า พบงูอนาคอนดาที่มีน้ำหนักกว่า 5 ตัน ขณะที่กำลังกินวัวไปครึ่งตัว โดยภาพส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นซากงูที่ถูกชำแหละโดยชาวอินเดียนพื้นเมือง วัดความยาวได้ 113 ฟุต 4 เดือนต่อมาหนังสือพิมพ์นูตี อิลลัสตราดา ของริโอเดอจาเนโร ได้ลงภาพถ่ายของงูอนาคอนดาตัวหนึ่งที่ถูกฆ่าโดยทหารบก มีความยาวทั้งสิ้น 115 ฟุต
นอกจากนี้แล้วการรายงานพบเห็นงูขนาดใหญ่ยังมีในทวีปอื่นด้วย
ในทวีปแอฟริกา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีเรื่องเล่าของนักสำรวจว่า ในประเทศแอฟริกาใต้ บริเวณแม่น้ำออเรนจ์ มีถ้ำที่มีอัญมณีซุกซ่อนอยู่ โดยมีงูยักษ์ชื่อ กรูสสแลง เฝ้าอยู่ปากถ้ำ งูนี้มีลำตัวยาว 13 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวกว้าง 1 เมตร [4] และมีความเชื่อของชนพื้นเมืองแถบน้ำตกอูกราบีส์ ซึ่งเป็นน้ำตกของแม่น้ำออเรนจ์ว่า ใต้น้ำตกเป็นที่อยู่ของงูใหญ่ที่เฝ้าสมบัติอยู่ในนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังฝนตก เมื่อปรากฏรุ้งขึ้น นั่นคือ ลำตัวของงูที่มานอนอาบแดด ซึ่งมีผู้อ้างว่าเคยพบเห็นงูตัวนี้ โดยอ้างว่ามีสีดำสนิททั้งตัว[5]
พันเอกเรเน่ เลียร์ด ได้ขับเฮลิคอปเตอร์ของเขาจากเมืองกาตังกาในเบลเยียมคองโก ทันใดนั้นมีงูขนาดใหญ่ตัวหนึ่งได้โจมตีเฮลิคอปเตอร์ของเขา แต่เขาเอาตัวรอดพ้นได้และถ่ายรูปงูนั้นได้หลายรูป ประมาณความยาวได้กว่า 40–50 ฟุต[6]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาจากชาวพื้นเมือง บนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซียว่าได้พบเห็นงูขนาดยักษ์ตัวหนึ่งแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำบนเกาะและถูกบันทึกภาพไว้ได้ ซึ่งน่าจะยาวกว่า 100 ฟุต แต่รูปนี้ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าเป็นการตกแต่งหรือไม่[7]
และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน ที่เมืองกูผิง มณฑลเจียงซี ประเทศจีน ขณะมีการก่อสร้างถนนผ่านพื้นที่ป่า คนงานก่อสร้างก็พบกับงูขนาดใหญ่ยาวถึง 16.7 เมตร หนักถึง 300 กิโลกรัม อายุคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 140 ปี ถึง 2 ตัว และหนึ่งในสองตัวนั้นก็ได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถแบ็คโฮขุดถนนขุดถูกทำให้บาดเจ็บและตายลงในที่สุด อีกตัวก็หนีเข้าป่าไป ซึ่งซากงูตัวที่ตายนั้นได้ถูกถ่ายภาพและเป็นภาพที่แพร่หลายกันในประเทศจีน[8]
เรื่องราวของงูอนาคอนดายักษ์ได้ถูกอ้างอิงในวัฒนธรรมสมัยนิยมหลายประการ เช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด 3 ภาค เรื่อง Anaconda ในปี ค.ศ. 1997 Anacondas: The Hunt for the Blood Orchid ในปี ค.ศ. 2004 และ Anaconda 3: The Offspring ในปี ค.ศ. 2008 และเป็นสารคดีทางโทรทัศน์ของดิสคัฟเวอรี่ แชนนอลชุด Lost Tapes ในปี ค.ศ. 2009 ชื่อตอน Megaconda
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "River Monsters" Amazon Assassins (TV Episode 2009) ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ "Green Anaconda Eunectes murinus". เนชั่นแนลจีโอกราฟิก.
- ↑ "How to Identify Types of Pythons and Boas". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-07. สืบค้นเมื่อ 2010-11-24.
- ↑ "โลกวิทยาการ - พบซากงูดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก". สารคดี.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Animal Planet Showcase, สารคดีทางแอนิมอล พลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ Sucuriju Gigante By Aaron Justice
- ↑ "Picture of 100ft-long 'snake' sparks fears of mythical monster in Borneo". Dailymail.co.uk.
- ↑ "ฮือฮา! คนงานจีนเจอ 'งูยักษ์' 140 ปี (ไทยรัฐ)". กระปุกดอตคอม.