งานเลี้ยงที่หงเหมิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สุสานสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) แสดงฉากงานเลี้ยง การเต้นรำและดนตรี กายกรรม และมวยปล้ำ จากสุสานต๋าหู่ถิง เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
งานเลี้ยงที่หงเหมิน
อักษรจีนตัวเต็ม鴻門宴
อักษรจีนตัวย่อ鸿门宴

งานเลี้ยงที่หงเหมิน (อังกฤษ: Feast at Hong Gate, Banquet at Hong Gate, Hongmen Banquet, Hongmen Feast; จีนตัวย่อ: 鸿门宴; จีนตัวเต็ม: 鴻門宴; พินอิน: Hóngményàn; คำแปล: "งานเลี้ยงที่ประตูห่านป่า") เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดใน 206 ปีก่อนคริสตกาล เป็นส่วนหนึ่งของสงครามฉู่-ฮั่น (206-202 ปีก่อนคริสตกาล) อันเป็นสงครามภายหลังสิ้นสุดราชวงศ์ฉิน เป็นการแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างเซี่ยงอวี่ หรือฌ้อปาอ๋อง แห่งรัฐฉู่ กับหลิวปัง แห่งรัฐฮั่น

โดยสถานที่ ๆ เกิดเหตุในปัจจุบัน คือ หมู่บ้านหงเหมินเปา ในอำเภอหลินตง เมืองซีอาน มณฑลส่านซี[1]

เหตุการณ์[แก้]

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นที่ หลิวปังสามารถยาตราทัพเข้าสู่เมืองเสียนหยาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจ ได้สำเร็จก่อนกองทัพของเซี่ยงอวี่ พร้อมกับซื้อใจราษฎรชาวเมือง โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือกดขี่ใด ๆ พร้อมกับได้สิทธิขึ้นเป็นอ๋องแห่งรัฐฉินคนใหม่ ซึ่งก็เท่ากับว่าเตรียมพร้อมที่จะสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ในไม่ช้า ทั้ง ๆ ที่กองทัพของเซี่ยงอวี่นั้นได้ฝ่าฟันการศึกต่าง ๆ มามากกว่า ยังความโกรธแค้นให้แก่เซี่ยงอวี่มาก เพราะเนื่องจากหลิวปังเคยร่วมเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐฉินมาก่อน ทางฝ่ายเซี่ยงอวี่จึงคิดจะจัดการหลิวปังให้ได้อย่างเด็ดขาด ฟ่านเจิ้ง ที่ปรึกษาของเซี่ยงอวี่จึงคิดแผนที่จะจัดงานเลี้ยงฉลองให้แก่ความสำเร็จของหลิวปัง ที่ด่านหงเหมิน นอกเมืองเสียนหยางอออกไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภายในงานจะซุ่มซ่อนอาวุธและมือสังหารไว้ เพื่อลอบสังหารหลิวปัง

ทางฝ่ายหลิวปังล่วงรู้แผนนี้ได้จาก เซี่ยงป๋อ ซึ่งเป็นญาติของเซี่ยงอวี่ และเป็นมิตรสหายกับหลิวปัง เซี่ยงป๋อแอบเอาข้อมูลนี้แจ้งแก่จางเหลียง ที่ปรึกษาคนสำคัญของหลิวปังเพื่อพร้อมรับมือ จางเหลียงสั่งให้หลิวปังเชิญเซี่ยงป๋อมาพบอย่างเป็นทางการพร้อมมอบเงินทองของมีค่าที่ได้จากเมืองเสียนหยางให้ แถมยังสัญญาว่าจะยกลูกชายของหลิวปังให้แต่งงานแก่ลูกสาวของเซี่ยงป๋อ เพื่อเกี่ยวดองความเป็นญาติกัน เซี่ยงป๋อได้กลับไปรายงานต่อเซี่ยงอวี่ว่า หลิวปังนั้นมิได้หักหลัง แต่กระนั้นงานเลี้ยงที่หงเหมินก็ยังมีขึ้นตามกำหนด กำหนดการสังหารนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงการร่ายรำดาบหลังจากที่ดื่มกินกันไปแล้วพักใหญ่

หลิวปังได้พบหน้าเซี่ยงอวี่ก็ประกาศความยิ่งใหญ่ของเซี่ยงอวี่ทันที โดยยกให้ความดีความชอบที่ได้เข้าเสียนหยางก่อนเป็นเพราะเซี่ยงอวี่รับศึกกับ จางฮั่น แม่ทัพใหญ่ของรัฐฉิน จนไม่มีทหารเหลือต่อต้านตน การเดินทางของตนเองนั้นได้มาจากโชคที่ทางเซี่ยงอวี่ประทานให้ แถมที่เข้ามาควบคุมเมืองให้ก็เพื่อให้เซี่ยงอวี่เข้ามาสู่เมืองเสียนหยางอย่างสะดวก และการที่ตนเข้าเมืองเสียนหยางมานี้ ก็มิได้ตั้งตนเป็นอ๋อง เพราะต้องการจะมอบตำแหน่งนี้ให้แก่เซี่ยงอวี่ การอวยความยิ่งใหญ่นี้ ทำให้เซี่ยงอวี่ไม่ส่งสัญญาณให้มือสังหาร ออกมารำดาบตามแผนเสียที ฟ่านเจิ้งนั้นกระตุ้นเตือนหลายครั้งให้เซี่ยงอวี่ลงมือ สุดท้ายเมื่อเซี่ยงอวี่ไม่ยอมทำ ฟ่านเจิ้งจึงกระซิบให้เซี่ยงจวงซึ่งเป็นญาติอีกคนของเซี่ยงอวี่ และเป็นมือสังหารที่เตรียมไว้ออกมารำดาบทันที

เมื่อเห็นดังนั้น ฟานไขว้ แม่ทัพคนสนิทของหลิวปัง ได้ชักดาบออกมาสกัดกั้นเซี่ยงจวงทันที พร้อมกับตะโกนต่อว่าเตือนสติเซี่ยงอวี่ไปว่า หูเบา ไปหลงคำยุแหย่ของผู้ที่ต้องการให้สองฝ่ายแตกแยกกัน เมื่อฟังถ้อยความของฟานไขว้แล้ว เซี่ยงอวี่ก็ได้สั่งให้หยุดกิจกรรมทุกอย่าง และรินสุราคาราวะให้ฟานกุ้ย

ทางฝ่ายหลิวปังได้ทีก็แสร้งเมาแล้วเดินออกจากกระโจมจัดงาน โดยอ้างว่าจะไปปัสสาวะ โดยมีฟานไขว้เป็นคนประคองออกไปพร้อมกัน เมื่อออกมาไกลทั้งคู่ก็หนีกลับไปที่ค่ายของตัวเอง รอดพ้นการถูกสังหารอย่างหวุดหวิด หลังเหตุการณ์นี้ ฟ่านเจิ้งได้ถึงกับปรารภออกมาว่า ท้ายที่สุดสงครามครั้งนี้ เซี่ยงอวี่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และหลิวปังจะได้สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นทุกประการ หลังจากนี้

ในวัฒนธรรม[แก้]

เรื่องราวดังกล่าว ได้กลายมาเป็นเรื่องเล่าขานในวัฒนธรรมจีนจนถึงปัจจุบัน โดยมีสำนวนที่ว่า "項莊舞劍" หรือ "意在沛公" (พินอิน: Xiàng Zhuāng wǔ jiàn, yì zài Pèi Gōng) อันมีความหมายว่า "ใครบางคนถูกเรียกตัวให้ไปตาย หรือเรียกตัวให้ไปรับความผิด หรือการวางแผนเพื่อลอบสังหารโดยที่อีกฝ่ายไม่มีทางเลือก"[2] ซึ่งเรื่องราวนี้ได้ถูกอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น White Vengeance ภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2011 และThe Last Supper ภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2012 เป็นต้น[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Wang Family Compound (Wang Jia Da Yuan) (อังกฤษ)
  2. "งานเลี้ยงที่หงเหมิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-30. สืบค้นเมื่อ 2012-08-19.
  3. [ลิงก์เสีย] White Vengeance : “ฌ้อปาอ๋อง vs. หลิวปัง” ฉบับฉายก่อนได้เปรียบ (รึเปล่า?) จากผู้จัดการออนไลน์