การพิจารณาซัดดัม ฮุสเซน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซัดดัม ฮุสเซนนั่งต่อหน้าผู้พิพากษาชาวอิรักที่สำนักงานศาลในกรุงแบกแดด วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

การพิจารณาซัดดัม ฮุสเซน เป็นการพิจารณาประธานาธิบดีอิรักที่ถูกขับจากตำแหน่ง ซัดดัม ฮุสเซน โดยรัฐบาลชั่วคราวอิรัก ด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง

คณะบริหารประเทศชั่วคราวออกเสียงจัดตั้งศาลพิเศษอิรัก ประกอบด้วยผู้พิพากษาห้าคน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เพื่อพิจารณาซัดดัม ฮุสเซนและผู้ช่วยของเขาในข้อหาอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และพันธุฆาต[1]

การพิจารณาดังกล่าวบางส่วนมองว่าเป็นศาลเถื่อนหรือการพิจารณาจำอวด[2][3][4][5][6] องค์การนิรโทษกรรมสากลแถลงว่า การพิจารณานี้ "อยุติธรรม"[7] และฮิวแมนไรทส์วอตช์ให้ความเห็นว่า การประหารชีวิตซัดดัมนั้น "ดำเนินตามการพิจารณาอันมีตำหนิและเป็นก้าวสำคัญผิดจากหลักนิติธรรมในอิรัก"[8]

ซัดดัมถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546[9] เขาอยู่ในการคุมขังของกองทัพสหรัฐที่ค่ายครอปเปอร์ในกรุงแบกแดด ร่วมกับเจ้าหน้าที่พรรคบาธอาวุโสอีกสิบเอ็ดคน ระหว่างการพิจารณาได้รับความสนใจเป็นพิเศษระหว่างการพิจารณากิจกรรมในการรณรงค์อันรุนแรงต่อชาวเคิร์ดทางเหนือระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ต่อมุสลิมชีอะฮ์ทางใต้ใน พ.ศ. 2534 และ 2542 เพื่อปราบปรามกบฏ และในดูเญลหลังความพยายามลอบสังหารที่ล้มเหลวในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่านเช่นกัน ซัดดัมให้การแก้ต่างว่า เขาถูกขับจากตำแหน่งโดยผิดกฎหมาย และยังเป็นประธานาธิบดีอิรัก

การพิจารณาครั้งแรกมีขึ้นต่อหน้าศาลพิเศษอิรักเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ที่การพิจารณานี้ ซัดดัมและจำเลยอื่นอีกเจ็ดคนถูกพิจารณาข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติสำหรับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังความพยายามลอบสังหารที่ล้มเหลวในดูเญลเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยสมาชิกพรรคดะอ์วะฮ์อิสลาม การพิจารณาครั้งที่สองซึ่งแยกจากครั้งแรกมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2549[10] โดยพิจารณาซัดดัมและจำเลยร่วมอีกหกคนด้วยข้อหาพันธุฆาตระหว่างการทัพอันฟาลต่อชาวเคิร์ดในตอนเหนือของอิรัก ซัดดัมยังอาจถูกพิจารณาลับหลังสำหรับเหตุการณ์ซึ่งสืบย้อนไปได้ถึงสงครามอิรัก-อิหร่านและการรุกรานคูเวต รวมทั้งอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและพันธุฆาต

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ซัดดัมถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ วันที่ 26 ธันวาคม การอุทธรณ์ของซัดดัมถูกปฏิเสธและยืนโทษประหารชีวิต ไม่มีการอุทธรณ์เพิ่มเติมและซัดดัมถูกสั่งให้ประหารชีวิตภายใน 30 วันนับแต่วันนั้น วันที่และสถานที่การประหารชีวิตนั้นเป็นความลับกระทั่งประหารแล้ว[11] ซัดดัม ฮุสเซนถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549[12] ด้วยการเสียชีวิตของเขา ข้อกล่าวหาอื่นจึงตกไปโดยปริยาย

การไต่สวนครั้งแรก : 1 กรกฎาคม 2547[แก้]

ซัดดัมดูมั่นใจและท้าทายตลอดการไต่สวนนาน 46 นาที เขาเปลี่ยนไปมาระหว่างการฟังและชี้มือไปที่ผู้พิพากษาริซการ์ โมฮัมเหม็ด อามิน เขาตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของศาลที่จัดตั้งขึ้นพิจารณาเขา เขาเรียกศาลนี้ว่า "ละคร" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อโอกาสของบุชในการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ[13] เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาต่อตัวเขาอย่างเฉียบขาด เขาแถลงว่า "ทั้งหมดนี้เป็นโรงละคร อาชญากรต่อจริงคือบุช"[14] เมื่อผู้พิพากษาให้เขาระบุตัวเองในการปรากฏขึ้นครั้งแรกต่อผู้พิพากษาชาวอิรัก เขาตอบว่า "คุณเป็นคนอิรัก คุณรู้ว่าผมเป็นใคร"[15]

ซัดดัมแก้ต่างการรุกรานคูเวตของอิรักเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 และกล่าวถึงชาวคูเวตว่า "สุนัข" ผู้พยายามเปลี่ยนสตรีอิรักเป็น "โสเภณีสองเพนนี" ซึ่งทำให้ผู้พิพากษาเตือนมิให้ใช้ภาษาหยาบในศาล[16]

แม้ไม่มีอัยการซัดดัมปรากฏขึ้นที่การไต่สวนวันที่ 1 กรกฎาคม ภรรยาคนแรกของเขา ซาจิดา ทัลฟาฮ์ จ้างทีมอัยการกฎหมายนานาชาติ ท้ายการไต่สวนครั้งแรก ซัดดัมปฏิเสธจะลงนามเอกสารกฎหมายยืนยันรับทราบข้อกล่าวหา

การพิจารณาดูเญล : 19 ตุลาคม 2548[แก้]

ทางการอิรักนับตัวซัดดัมและอดีตเจ้าหน้าที่อิรักอื่นอีกเจ็ดคนขึ้นพิจารณาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 สี่วันหลังการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของอิรัก 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ศาลเจาะจงข้อกล่าวหาด้วยการสังหารมุสลิมชีอะฮ์ 148 คนจากดูเญล เพื่อเป็นการแก้แค้นความพยายามลอบสังหารที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ผู้สนับสนุนซัดดัมประท้วงต่อต้านการพิจารณาในตีกริต[17]

ในการปรากฏตัวก่อนพิจารณา ที่การเปิดการพิจารณาวันที่ 19 ตุลาคม ซัดดัมดูท้าทาย เขาปฏิเสธความชอบธรรมของศาลและเอกราชจากการควบคุมของการยึดครองต่างชาติ ซัดดัมประกาศว่า "ผมไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เรียกว่าศาลนี้ ด้วยความเคารพทั้งหมดต่อประชาชน ผมถือสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผมในฐานะประธานาธิบดีอิรัก" เขาเสริมว่า "ผมทั้งไม่ยอมรับหน่วยงานซึ่งจัดตั้งและให้อำนาจคุณ และการรุกราน เพราะทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนรากฐานที่ผิดย่อมผิด"[18]

เมื่อผู้พิพากษาถามชื่อเขา ซัดดัมปฏิเสธ โดยว่า "ผมเป็นประธานาธิบดีแห่งอิรัก" เขาย้อนถาม โดยถามผู้พิพากษาชาวเคิร์ดริซการ์ โมฮัมเหม็ด อามิน "แล้วคุณล่ะเป็นใคร ผมอยากทราบว่าคุณเป็นใคร" เมื่ออามินเรียกซัดดัมว่าเป็น "อดีตประธานาธิบดี" ซัดดัมปฏิเสธอย่างเฉียบขาด โดยว่า เขายังเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิรัก และยังไม่ถูกขับจากตำแหน่ง

หลังมีการอ่านข้อกล่าวหาให้จำเลยฟัง จำเลยทั้งแปดคนต่างแก้ต่างว่าตนไม่มีความผิด การพิจารณาซัดดัมสมัยแรกกินเวลาสามชั่วโมง ศาลเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เพราะพยานบางคนกลัวเกินกว่าจะเข้าร่วม และอนุญาตให้จำเลยมีเวลาศึกษาหลักฐานมากขึ้น[19] ระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวอาหรับอัลอาราบิยาหลังการเปิดการพิจารณา บุตรสาวคนโตสุดของซัดดัม รากัด เรียกศาลว่าเป็น "ละครตลก" และอ้างว่าบิดาของเธอวางตัวเช่น "สิงโต" ระหว่างกระบวนการ "พ่อของฉันกล้าหาญ เป็นสิงโต ฉันภูมิใจในตัวท่านมาก" เธอกล่าว "ท่านเป็นชายผู้อุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประเทศของท่าน ท่านกล้าหาญในวัยหนุ่ม แล้วท่านจะมากลัวในยามนี้ได้อย่างไร" เธอเสริม

เมื่อถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 หัวหน้าผู้พิพากษาริซการ์ โมฮัมเหม็ด อามินเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 5 ธันวาคม เพื่อหาคนมาแทนทนายฝ่ายจำเลยสองคนที่เสียชีวิตและอีกคนหนึ่งซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศหลังเขาได้รับบาดเจ็บ วันที่ 5 ธันวาคม ทีมกฎหมายฝ่ายจำเลยของซัดดัมออกจากศาลไปด้วยความโกรธหลังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของศาล และถามเกี่ยวกับการคืนเอกสารฝ่ายจำเลยที่กองทัพสหรัฐยึดไปและปัญหาความปลอดภัยเกี่ยวกับการคุ้มครองจำเลย ซัดดัมกับจำเลยร่วมต่อว่าหัวหน้าผู้พิพากษาอามินและศาล วันรุ่งขึ้น หลังฟังคำให้การต่อเขาหลายชั่วโมง เขาระเบิดคำพูดใส่ผู้พิพากษา เขาบอกว่าเขาเหนื่อย เขาไม่ต้องการกลับมาพิจารณาอีก และ "ไปลงนรกซะ"

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ราอูฟ ราชิด อาบิด อัล-เราะห์มานได้รับเสนอชื่อเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลชั่วคราว เขาดำรงตำแหน่งแทนอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาริซการ์ โมฮัมเหม็ด อามิน ซึ่งเป็นชาวเคิร์ดเช่นเดียวกัน ผู้ลาออกหลังไม่พอใจที่รัฐบาลเข้าแทรกแซง[20] ซัดดัมและจำเลยร่วมคัดค้านการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา โดยอ้างอคติหลังเขาสั่งให้จำเลยคนหนึ่งออกจากศาล[21] และประกาศว่าพวกเขาจะคว่ำบาตรการพิจารณาภายใต้เราะห์มาน

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2549 การพิจารณาอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงหลังสมัยห้องพิจารณาคดีซึ่งจำเลยคนหนึ่งถูกยามลากตัวออกไป ทำให้ทีมกฎหมายฝ่ายจำเลยเดินออก และซัดดัมถูกขับออกมาหลังใช้ภาษาหยาบคายกับหัวหน้าผู้พิพากษา เมื่อความสงบกลับคืนมาอีกครั้ง มีจำเลยเพียงครึ่งเดียวและไม่มีทีมกฎหมายฝ่ายจำเลยมาพิจารณาเลย[22]

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2549 หัวหน้าอัยการเรียกร้องโทษประหารชีวิตแก่ซัดดัมและจำเลยอีกสี่คน ผู้ต้องสงสัยจะถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอหากถูกพิพากษาว่ามีความผิดและตัดสินโทษประหารชีวิต[23]

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2549 หัวหน้าทนายความฝ่ายจำเลยของซัดดัมถูกลอบสังหารในกรุงแบกแดด ซัดดัมเริ่มอดอาหารประท้วงต่อการขาดการคุ้มครองต่อทนายความระหว่างประเทศ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 มีรายงานว่าเขายุติการอดอาหารประท้วง โดยไม่ทานอาหารหนึ่งมื้อ[24]

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ทนายของซัดดัมสองคนซึ่งเป็นชาวอเมริกัน จัดการแถลงข่าวที่สมาคมสื่อแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เรียกร้องความปลอดภัยอย่างเร่งด่วนสำหรับทนายฝ่ายจำเลยอิรักทุกคน และร้องเรียนในถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรว่าการพิจารณาอยุติธรรม และกำลังดำเนินการโดยทางการหสรัฐซึ่งใช้ชาวอิรักเป็นฉากหน้า ทนายความทั้งสองอ้างว่าสหรัฐอเมริกาปฏิเสธจะให้การคุ้มครองทนายฝ่ายจำเลยอย่างเพียงพอ แม้มีการร้องขอซ้ำแล้วซ้ำเล่า และสหรัฐอเมริกาเจตนาค้ำการพิจารณาอยุติธรรมนี้[25]

พิพากษา : 5 พฤศจิกายน 2549[แก้]

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ซัดดัม ฮุสเซนถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอจากการสังหารมุสลิมชีอะฮ์ 148 คนจากดูเญล เป็นการแก้แค้นความพยายามลอบสังหารเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 หัวหน้าทนายฝ่ายจำเลยภายหลังอ้างคำพูดจากซัดดัม ฮุสเซนที่ให้เพียงก่อนหน้าศาลพิพากษา เขาว่า ซัดดัมกระตุ้นให้ประชาชน "ให้อภัยและไม่แก้แค้นต่อชาติผู้รุกราน พลเรือนของมัน"[26] การอุทธรณ์ ซึ่งบังคับโดยระบบตุลาการอิรัก ตามมา มีการคาดคะเนว่าการอุทธรณ์อาจกินเวลาหลายปี ซึ่งเลื่อนการประหารชีวิตแท้จริงไป อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม การอุทธรณ์ของซัดดัมถูกปฏิเสธและยืนโทษประหารชีวิต[27] การอุทธรณ์อีกไม่อาจกระทำได้และซัดดัมจะต้องถูกประหารภายใน 30 วันนับแต่วันนั้น การตัดสินนั้นยังต้องได้รับการให้สัตยาบันโดยประธานาธิบดีอิรักแต่ไม่อาจลดโทษได้[11]

ในบรรดาจำเลยร่วมของซัดดัม บาร์แซน อิบราฮิม อัล-ตีกริติ น้องร่วมมารดาของซัดดัมและอดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองของอิรักขณะเกิดการสังหารหมู่ดูเญล และอะวัด ฮาเหม็ด อัล-บันดาร์ อัล-ซาดุน ผู้ตัดสินโทษประหารชีวิตต่อผู้อยู่อาศัยในดูเญลในฐานะประธานศาลปฏิวัติ ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเช่นกัน ทั้งสองถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 อดีตรองประธานาธิบดีทาฮา ยาสซิน รามาดัน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต[28] อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 โทษเปลี่ยนเป็นประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเช่นกัน[29] และรามาดานถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2550[30]

ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่พรรคบาธในภูมิภาคดูเญลสองคนได้รับโทษจำคุก 15 ปี และมีคนหนึ่งถูกปล่อยตัวไปเพราะขาดหลักฐาน[28]

อ้างอิง[แก้]

  1. Sachs, Susan (10 December 2003). "Iraqi Governing Council Sets Up Its Own Court for War Crimes". The New York Times.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  3. The Show Trial of the Century
  4. "Iraq PM 'seeks Saddam show trial'". BBC News. 23 September 2004. สืบค้นเมื่อ 26 May 2010.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-07. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  6. "Middle East Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-12. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  7. "Amnesty International | Working to Protect Human Rights". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-06. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  8. Iraq: Saddam Hussein Put to Death (Human Rights Watch, 30-12-2006)
  9. Lewis, Neil A. (15 December 2003). "The Capture of Hussein: Legal Process; Iraqis Just Recently Set Rules to Govern Tribunal". The New York Times.
  10. Paley, Amit R. (22 August 2006). "As Genocide Trial Begins, Hussein Is Again Defiant". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 26 May 2010.
  11. 11.0 11.1 "Death sentence for Saddam upheld". BBC World Service. 26 December 2006. สืบค้นเมื่อ 24 November 2011.
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  13. "Saddam defiant in court", 2 July 2004, Al-Jazeera.
  14. "Know Nothing, Do Nothing", The American Spectator, 11 October 2005.
  15. "You are an Iraqi. You know who I am", The Guardian, 20 October 2005.
  16. Saddam upsets Kuwaiti 'dogs' at Mail & Guardian online
  17. "Demonstrations, statements, supporting Saddam". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-14. สืบค้นเมื่อ 2011-12-31.
  18. "Excerpts: Saddam's courtroom clashes". BBC News. 5 November 2006. สืบค้นเมื่อ 24 November 2011.
  19. Saddam pleads innocent, trial adjourns at MSNBC
  20. "Iraq court names new Saddam judge". BBC News. 23 January 2006. สืบค้นเมื่อ 24 November 2011.
  21. Judge orders Saddam ejected from court at Guardian Unlimited
  22. Howard, Michael (30 January 2006). "Judge orders Saddam ejected from court". The Guardian. London.
  23. Saddam prosecution begins sum up เก็บถาวร 2007-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at The Daily Telegraph
  24. Reuters: "Saddam ends hunger strike after missing one meal" เก็บถาวร 2008-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Published 23 June 2006.
  25. Attorney Says US Intimidating Saddam Hussein's Lawyers เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Cybercast News Service
  26. "Saddam urges Iraqis not to take revenge on US". Associated Press. 2006-11-05.
  27. "Translation of Appelate ruling" (PDF). Case western University/Iraqi High Tribunal. 26 December 2006. สืบค้นเมื่อ 20 November 2009.
  28. 28.0 28.1 BBC (5 November 2006). "Saddam trial: Verdicts in detail". BBC News.
  29. "Top Saddam aide sentenced to hang". BBC News. 12 February 2007. สืบค้นเมื่อ 26 May 2010.
  30. "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-22. สืบค้นเมื่อ 2007-03-22.