การบุกครองคูเวต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การรุกรานคูเวต)
การบุกครองคูเวต
ส่วนหนึ่งของ สงครามอ่าว

แผนที่คูเวต
วันที่2–4 สิงหาคม ค.ศ. 1990
สถานที่
ผล

อิรักชนะอย่างขาดลอย

  • คูเวตกลายเป็นรัฐหุ่นเชิดของอิรัก
  • เกิดขบวนการต่อต้านอิรักในคูเวต[1]
  • จุดชนวนสู่สงครามอ่าว
คู่สงคราม
อิรัก คูเวต
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ซัดดัม ฮุสเซน จาเบอร์ อัล-อาหมัด อัล-ซาบาห์
กำลัง
ทหาร 88,000 นาย[2][3][4] ทหาร 20,000 นาย[5]
ความสูญเสีย
39 อากาศยาน (est.).
295 ผู้ตาย
361 ผู้บาดเจ็บ
≈120 รถถังและรถหุ้มเกราะ[6]
4 เรืออัปปาง
57 อากาศยาน[7]
4,200 ตายในหน้าที่[8]
12,000 เชลย
≈200 รถถังถูกทำลาย/ยึด
850+ รถหุ้มเกราะถูกทำลาย/ยึด[9][10][11][12]
17 เรือรบอัปปาง 6 เรือรบถูกยึด[13][14][15]

การบุกครองคูเวต หรือที่รู้จักกันในนาม สงครามอิรัก–คูเวต เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพรรคบะอัธของประเทศอิรักกับเอมิเรตแห่งคูเวต อิรักสามารถยึดคูเวตได้อย่างง่ายดายและปกครองคูเวตอยู่ 7 เดือน จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ส่งกำลังทหารเข้าแทรกแทรงบานปลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย

ในปี 1990 อิรักได้กล่าวหาคูเวตว่า คูเวตได้ขโมยน้ำมันของอิรักโดยการขุดเจาะน้ำมันแบบเฉียงเข้ามาใต้ดินแดนอิรัก ในขณะที่แหล่งข่าวในอิรักบางแห่งกล่าวอ้างว่า แผนโจมตีคูเวตถูกตัดสินใจโดยประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน เพียงเดือนสองเดือนก่อนหน้าเท่านั้น[16] บางความเห็นก็ว่าการโจมตีครั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลอิรักเป็นหนี้คูเวตอยู่กว่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการกู้มาใช้จ่ายในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน และหลังสงครามครั้งนั้น คูเวตก็ได้ผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมหาศาลส่งผลให้ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้อิรักไม่มีรายได้มากพอจะมาชำระหนี้ก้อนนี้[8]

การบุกครองคูเวตเริ่มขึ้นในเวลาตีสองของวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1990 เนื่องจากกำลังทหารที่มากกว่าประกอบกับมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยจากการสนับสนุนของชาติตะวันตกในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน ทำให้อิรักใช้เวลาเพียงสองวันในการบุกครองคูเวต กำลังทหารส่วนใหญ่ของคูเวตก็ต้องล่าถอยไปยังซาอุดีอาระเบียและบาห์เรนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน คูเวตถูกผนวกดินแดนเข้ากับอิรัก โดยซัดดัม ฮุสเซน ได้ออกมาประกาศไม่กี่วันให้หลังว่าคูเวตเป็นจังหวัดที่ 19 ของอิรัก ซัดดัม ฮุสเซนได้แต่งตั้งให้ อัลลาอา ฮุสเซน อาลี เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลหุ่นเชิดในคูเวต และตั้ง อาลี ฮัสซัน อัลมาจิด เป็นผู้ว่าการคูเวตโดยพฤตินัย

พระราชวงศ์คูเวตที่อยู่ระหว่างลี้ภัยก็ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติกดดันให้อิรักออกไปจากคูเวต คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติจำนวน 12 เรื่อง ให้ทหารอิรักถอนกำลังออกจากคูเวตในทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง[17] ในระหว่างการบุกครองนั้น ชาวคูเวตกว่าสี่แสนคนและชาวต่างชาติในคูเวตกว่าหลายพันคนต้องหนีออกนอกประเทศ ตลอดช่วงเวลาเจ็ดเดือนที่อิรักปกครองคูเวต รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนได้แย่งชิงความมั่งคั่งของคูเวตไปมหาศาล นอกจากนี้ยังมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย[18]

มหาอำนาจของโลกต่างประณามการบุกครองครั้งนี้อย่างร้ายแรง แม้กระทั่งประเทศที่มีความใกล้ชิดกับอิรักอย่างฝรั่งเศสและอินเดียก็ออกมาเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังจากคูเวตในทันที บางประเทศอย่างสหภาพโซเวียตและจีนได้งดจำหน่ายยุทธภัณฑ์แก่อิรัก นาโตได้มีการประชุมประเด็นนี้ในปลายปี 1990 โดยสหรัฐอเมริกาได้นำแถลงยื่นเส้นตายต่อรัฐบาลอิรัก ให้อิรักถอนกำลังจากคูเวตภายใน 15 มกราคม ค.ศ. 1991 แต่การเจรจาไม่เป็นผล ฉะนั้นกองกำลังสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาได้เริ่มโจมตีอิรักอย่างหนักหน่วง และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอ่าวเปอร์เซีย

อ้างอิง[แก้]

  1. Presenters: Dan and Peter Snow (2007). "1997 Gulf War". Twentieth Century Battlefields. ฤดูกาล 1. ตอน 6. BBC. BBC Two.
  2. Al Moquatel
  3. "1990: Iraq invades Kuwait". BBC On This Day. BBC. 2 August 1990. สืบค้นเมื่อ 20 April 2010.
  4. Johns, Dave (24 January 2006). "1990 The Invasion of Kuwait". Frontline/World. PBS. สืบค้นเมื่อ 20 April 2010.
  5. "Kuwait Organization and Mission of the Forces". Country Studies. Library of Congress. January 1993. สืบค้นเมื่อ 20 April 2010.
  6. "سير العمليات العسكرية للغزو العراقي للكويت", Al Moqatel
  7. House of Lords Judgments – Kuwait Airways Corporation v Iraqi Airways Company and Others on 16 May2002, [2002] UKHL 19
  8. 8.0 8.1 Cooper, Tom; Sadik, Ahmad (16 September 2003). "Iraqi Invasion of Kuwait; 1990". Air Combat Information Group Journal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 31 December 2015.
  9. John Pike. "Iraqi Ground Forces Equipment". สืบค้นเมื่อ 19 December 2014.
  10. Jane's Armour and Artillery 2003–2004
  11. Armies of the Gulf War, Gordon L. Rottman, 1993, p.48,49
  12. Tanki v operacii "Shok i trepet", Aleksei Brusilov, Leonid Karyakin, Tankomaster 2003–08(Russian: Танки в операции «Шок и трепет», Алексей Брусилов, Леонид Карякин, Танкомастер 2003–08)
  13. سير العمليات العسكرية للغزو العراقي للكويت, Al Moqatel
  14. "IRAQ: NAVAL THREAT TO US FORCES". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ 19 December 2014.
  15. المبحث الرابع, إعادة بناء القوات المسلحة لكل من دول مجلس التعاون الخليجي، بعد الحرب, Al Moquatel
  16. Gause, F. Gregory, III (2005). "The International Politics of the Gulf". ใน Louise Fawcett (บ.ก.). International Relations of the Middle East. Oxford: The University Press. pp. 263–274. ISBN 0-19-926963-7.
  17. Iraq. GlobalSecurity.org.
  18. State of Kuwait. Atlapedia.com. Retrieved on 2011-06-12.