การประชุมเลือกสันตะปาปา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
นครรัฐวาติกัน |
---|
การประชุมเลือกสันตะปาปา[1] (อังกฤษ: Papal conclave) คือการประชุมโดยคณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) เพื่อเลือกตั้งมุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม (Bishop of the Church of Rome) ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่หลังจากที่ตำแหน่งว่างลง พระสันตะปาปาถือกันว่าเป็นผู้สืบตำแหน่งมาจากนักบุญเปโตร ซึ่งชาวคาทอลิกเชื่อว่าเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก และเป็นตำแหน่งที่ถือกันว่าเป็นประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกบนโลกมนุษย์[2] การเลือกตั้งนี้ถือว่าเก่าแก่ที่สุดที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาในการเลือกตั้งประมุขของคริสตจักร[3]
การเลือกตั้งหลายครั้งในอดีตมักมีการเมืองเข้ามาแซกแทรงจนทำให้บางครั้งตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลงเป็นระยะเวลาครั้งละนาน ๆ โดยเฉพาะในช่วงว่างระหว่างสมณสมัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1268 - 1271 ที่มีผลทำให้มีต้องมีการเรียกประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่2ในปี ค.ศ. 1274 ที่ผลของการประชุมออกมาว่าพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งพระสันตะปาปาต้องถูกกักตัว “ขังกุญแจ” ไว้ตามลำพัง “cum clave” (ภาษาละติน แปลว่า “ด้วยกุญแจ”) และจะไม่ได้รับการปล่อยให้ออกมาจนกว่าจะได้พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ในปัจจุบันการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปากระทำกันในโบสถ์น้อยซิสทีนภายในพระราชวังพระสันตะปาปามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1492[4]
ในระยะสองสามร้อยปีแรกของคริสต์ศาสนามุขนายกแห่งโรมก็เช่นเดียวกับมุขนายกประจำมุขมณฑลอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกโดยเอกฉันท์โดยนักบวชและประชาชนของมุขมณฑล ในกรณีนี้ก็คือกรุงโรม[5] ในปี ค.ศ. 1059 จึงได้มีการระบุคุณสมบัติของคณะพระคาร์ดินัลให้เป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่เพียงกลุ่มเดียว[6] ตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎการเลือกตั้งกันเรื่อยมา ในปี ค.ศ. 1970 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ก็ทรงจำกัดอายุคาร์ดินัลว่าต้องเป็นผู้มีอายุน้อยกว่า 80 ปีจึงมีสิทธิเข้าร่วมการเลือกตั้งได้
พระสันตะปาปาทรงมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและกฎต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้ที่จะมาเป็นพระสันตะปาปาสืบต่อจากพระองค์ได้โดยการออกสมณธรรมนูญ (apostolic constitution); กฎการเลือกตั้งปัจจุบันวางรากฐานไว้โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในสมณธรรมนูญชื่อ “Universi Dominici Gregis” (“the Lord's whole flock” หรือ “ธรรมนูญผู้นำกลุ่มสาวก”)[7] และต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงออกบทแก้ไข “Umotu proprio” (“on his own impulse” หรือ “ธรรมนูญแรงดลใจ”) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 2007.[8][9] ให้พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามจากคณะคาร์ดินัลจึงจะได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาได้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552
- ↑ Dowling, A. (1913). สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company. . ใน Herbermann, Charles (บ.ก.).
- ↑ Baumgartner, Frederick J. 2006 November 1. "Creating the Rules of the Modern Papal Election." Election Law Journal. 3: 57-73.
- ↑ Goyau, Georges (1913). สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company. . ใน Herbermann, Charles (บ.ก.).
- ↑ Baumgartner, Frederic J. (2003) Behind Locked Doors: A History of the Papal Elections, p.4; New York: Palgrave MacMillan
- ↑ At the Lateran Synod of 13 April 1059 Nicholas II decreed (In nomine Domini) that the pope is to be elected by the six cardinal bishops. quoting in footnote 30 Hans Kühner, Das Imperium der Päpste (Frankfurt am Main: Fischer Taschenbuch Verlag, 1980) 128: Eine Synode im Lateran brachte ein Papstwahldekret heraus, nach welchem Klerus und Volk der Kardinäle nur noch zustimmen konnten. College of Cardinals เก็บถาวร 2009-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Aquinas Publishing Ltd
- ↑ Universi Dominici Gregis on the vacancy of the apostolic see and the election of the roman pontiff
- ↑ Motu Proprio De aliquibus mutationibus in normis de electione Romani Pontificis.
- ↑ BBC News "Pope alters voting for successor."
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- การเลือกตั้งพระสันตะปาปาลำดับตามคริสต์ศตวรรษ เก็บถาวร 2017-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (รายละเอียดของการเลือกตั้งแต่ละครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1061 ถึงปี ค.ศ. 2005)