ข้ามไปเนื้อหา

การขัดกันแห่งผลประโยชน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า ผลประโยชน์ขัดกัน หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน (อังกฤษ: conflict of interest) คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เป็นต้น ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งทำให้ตัดสินใจยากในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติได้ การขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ส่งผลทางจริยธรรมหรือความไม่เหมาะสมต่าง ๆ และสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก

การขัดกันแห่งผลประโยชน์มิได้ปรากฏแต่ในทางวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บุคคลมีบทบาทหลากหลายและบทบาทเหล่านั้นก็เกิดขัดกันเอง เช่น ผู้จัดการฝ่ายขายอาจมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และก็อาจมีหน้าที่ในทางกตัญญูกตเวทีต่อญาติพี่น้องที่มาเสนอขายสินค้าใด ๆ เป็นต้น

ประเภท

[แก้]

ต่อไปนี้เป็นรูปแบบการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ปรากฏมากที่สุด

  • การขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัว เป็นกรณีที่ผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตัวเกิดอยู่กันคนละฟาก อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ในธุรกิจที่เป็นเจ้าของเป็นการส่วนตัว
  • การขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภายนอก เป็นกรณีที่บุคคลมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจการงานหลายอย่างโดยมีธุรกิจการงานหลัก ๆ ของตนเองอยู่แล้ว และผลประโยชน์ในการงานหลักเกิดอยู่คนละฟากกับผลประโยชน์ในการงานรอง
  • การขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเครือญาติ เป็นกรณีที่เครือญาติจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจการงานของตน หรือกรณีที่ธุรกิจการงานของตนจะต้องใช้บริการใด ๆ จากธุรกิจการงานของญาติ อาจทำให้ตนเกิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนครอบครัวหรือเครือญาติ และกระทำการทุจริตต่อธุรกิจการงานของตนได้ ในหลาย ๆ หน่วยงานจึงมีการกำหนดมิให้เจ้าหน้าที่ของตนประกอบธุรกิจกับเครือญาติของตัวเอง
  • การขัดกันของผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับมิตรสหาย เป็นกรณีที่บุคคลจะเข้าทำธุรกิจการงานกับมิตรสหายของตน คล้าย ๆ กับกรณีของเครือญาติดังกล่าว

พฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างอื่นบางทีก็จัดเข้าพวกเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาทิ การรับสินบนซึ่งอาจจัดเข้าเป็นการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่อีกประเภทหนึ่งด้วยก็ได้ ตลอดจนการใช้อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน ทรัพยากร หรือบุคลากรของหน่วยงานของตนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวซึ่งก็อาจจัดเข้าเป็นการฉ้อโกงได้อีกประเภทหนึ่ง เป็นต้น

ดูเพิ่ม

[แก้]