ข้ามไปเนื้อหา

กงซีแยร์เฌอรี

พิกัด: 48°51′22″N 2°20′44″E / 48.856103°N 2.345667°E / 48.856103; 2.345667
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กงซีแยร์เฌอรี
Conciergerie
Le Palais Justice de Paris
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวังและศาลยุติธรรม
สถาปัตยกรรมยุคกลาง
เมืองปารีส
ประเทศฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศส
พิกัด48°51′23″N 2°20′44″E / 48.85639°N 2.34556°E / 48.85639; 2.34556
เริ่มสร้างศตวรรษที่ 13
เว็บไซต์
Official website
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

กงซีแยร์เฌอรี (ฝรั่งเศส: Conciergerie) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ปาแลเดอลาซีเต (ฝรั่งเศส: Palais de la Cité) เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนทิศตะวันตกของเกาะเมือง หรือเกาะอีลเดอลาซีเต (Île de Cité) โดยตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส กงซีแยร์เฌอรีได้ถูกใช้เป็นพระราชวังหลวงของกษัตริย์ฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 13 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ตัวพระราชวังได้ถูกใช้เป็นเรือนจำเพื่อคุมขังนักโทษ เพื่อรอการประหารโดยกีโยติน ในปัจจุบันตัวอาคารเป็นพื้นที่หนึ่งของศาลฎีกา

ประวัติ

[แก้]

บริเวณที่ตั้งของอีลเดอลาซีเต เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังของกษัตริย์ในราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง ซึ่งใช้เป็นที่พำนักในสมัยช่วงศตวรรษที่ 10 ถึง ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ได้ทำการต่อเติมแซ็งต์-ชาแปล (Sainte-Chapelle) ซึ่งสร้างในรูปแบบที่วิจิตรที่สุดในสมัยนั้น เพื่อใช้เป็นหอสวดมนต์หลวง และยังเป็นที่บรรจุมงกุฎหนามของพระเยซู ที่นำกลับมาจากสงครามครูเสด และต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ได้ทำการขยายขอบกำแพงพระราชวังริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งท้องพระโรงกลาง (La Grande Salle) ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และห้องด้านล่างท้องพระโรง "La Salle des Gens d'Armes" ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันมีความยาว 64 เมตร กว้าง 27.50 เมตร และสูง 8.50 เมตร ใช้เป็นที่จัดงานพระราชทานเลี้ยง การประชุมสภาขุนนาง ห้องตัดสินคดีความ และรับประทานอาหารสำหรับขุนนางกว่า 2,000 คน พร้อมทั้งเตาผิงขนาดใหญ่ 4 เตา และส่องสว่างโดยหน้าต่างมากมาย ซึ่งปัจจุบันหน้าต่างได้ถูกปิดไว้ และยังมีห้องมุขที่ต่อกับท้องพระโรงกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ทางสถาปัตยกรรมยุคกลางในสมัยนั้น

ต่อมาในรัชสมัยราชวงศ์วาลัวตอนต้นช่วงศตวรรษที่ 14 ยังคงมีการปรับปรุงตัวพระราชวังอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศสได้มีพระประสงค์ให้สร้างพระราชวังใหม่ข้ามฝั่งแม่น้ำไป ซึ่งต่อมาคือพระราชวังลูฟวร์ อย่างไรก็ตามตัวพระราชวังเดิมยังคงใช้เป็นที่ประชุมราชการ และประชุมสภา ในคราวที่พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในพระราชวัง จะมีการแต่งตั้งผู้ดูแลพระราชวังแทนพระองค์ (Concierge) ซึ่งจัดเป็นตำแหน่งที่สูงในสมัยนั้น โดยจัดว่าเป็นเสมือนต้นห้องของพระองค์ ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นที่มาของชื่อ กงซีแยร์เฌอรี ในปัจจุบัน

ในปีค.ศ. 1391 พื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารได้ถูกปรับให้เป็นเรือนจำ เพื่อคุมขังนักโทษอาญา และนักโทษการเมือง ซึ่งในสมัยนั้นสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นขึ้นอยู่สถานะทางสังคม และความร่ำรวยของตระกูล โดยนักโทษชั้นสูงที่มีเส้นสาย หรือร่ำรวย จะถูกขังอยู่ในห้องส่วนตัวที่มีเตียงนอน โต๊ะทำงาน และที่อ่านหนังสือ ซึ่งตรงกันข้ามกับนักโทษทั่วไปจะถูกคุมขังอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น ต้องนอนบนกองฟาง ในห้องขังที่มืด เปียกแฉะและอับแสง ซึ่งห้องประเภทนี้มักจะเรียกกันว่า อูบลีแย็ต (Oubliettes) แปลว่า ผู้ที่ถูกลืม ซึ่งในที่สุดมักจะจบชีวิตด้วยโรคระบาดจากสภาพความเป็นอยู่ดังกล่าว

ตัวอาคารประกอบไปด้วยหอคอยที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคกลางจำนวน 3 หลัง ได้แก่ หอคอยซีซาร์ ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่จักพรรดิโรมัน หอคอยเงิน ตั้งชื่อตามสมบัติของราชวงศ์ที่เก็บภายในหอคอยนี้ และหอคอย บงเบ็ก ที่ภายในมีห้องทรมานอยู่ โดยตั้งชื่อตามเสียงร้อยโหยหวนของนักโทษ ตัวอาคารที่เหลือ รวมถึงหอนาฬิกาแห่งแรกในฝรั่งเศส ที่ถูกติดตั้งในปีค.ศ.1370 นาฬิกาที่ตั้งอยู่ ณ ปัจจุบันติดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1535

"La Salle des Gens d'Armes" เป็นอีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างยุคกลางที่ยังคงอยู่ ณ ปัจจุบัน
หอคอยคู่ ถ่ายเมื่อปีค.ศ.2010

ในช่วงสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (the Reign of Terror) ถึงแม้จะกินเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 10 เดือน ในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ.1793 - กรกฎาคม ค.ศ.1794 มีเหยื่อจากการประหารชีวิตและถูกคุมขังกว่า 40,000 คน กงซีแยร์เฌอรีได้ถูกใช้งานเป็นเรือนจำเพื่อรอการประหาร

นักโทษทั้งหมด จะถูกพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถคาดเดาผลได้ นักโทษบางคนถูกพิจารณาคดี และพิพากษาประหารชีวิตในเช้าวันถัดไป โดยนักโทษจะต้องเดินผ่านห้อง Salle de la Toilette และจะถูกริบสมบัติส่วนตัวทั้งหมด และมีรถม้ามารับไปส่งที่บริเวณลานประหารชีวิตด้วยกีโยติน ที่ตั้งอยู่รอบกรุงปารีส โดยที่ทราบกันดีคือ จัตุรัส เดอ ลา กงกอร์ดPlace de la Concorde

นักโทษที่สำคัญได้แก่ พระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต กงแต็ส ดูว์ บารี เจ้าหญิงเอลีซาแบ็ต (พระขนิษฐภคินีในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส) อ็องเดร เชนีเย (นักประพันธ์) ชาร์ล็อต กอร์แด (นักต่อต้านการปฏิวัติ)

ยุคหลังการปฏิวัติ ถึงปัจจุบัน

[แก้]

ภายหลังการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงในช่วงศตวรรษที่ 19 กงซีแยร์เฌอรียังคงใช้เป็นที่คุมขังนักโทษสำคัญ รวมถึง หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต ว่าที่ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ห้องที่เคยใช้คุมขังพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นห้องสวดมนต์เพื่อระลึกถึงพระนาง และต่อมาตัวอาคารได้ผ่านการปรับปรุงอย่างมากมายในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เพื่อเปลี่ยนรูปโฉมด้านนอกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรูปร่างภายนอกที่เห็นกัน ณ ปัจจุบันนั้น ถึงแม้จะดูเก่าแก่แบบยุคกลาง แต่ความจริงได้ถูกเปลี่ยนโฉมใหญ่เมื่อราวปีค.ศ.1858

กงซีแยร์เฌอรี ถูกยกเลิกจากการเป็นเรือนจำคุมขังในปีค.ศ.1914 ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ในปีเดียวกัน และได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียงบางส่วน เนื่องจากตัวอาคารส่วนใหญ่ยังใช้เป็นสถานที่ราชการของศาลฎีกาฝรั่งเศส

ดูเพิ่ม

[แก้]


48°51′22″N 2°20′44″E / 48.856103°N 2.345667°E / 48.856103; 2.345667