วงศ์ปลาเสือพ่นน้ำ
วงศ์ปลาเสือพ่นน้ำ | |
---|---|
ชนิด T. chatareus | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
อันดับย่อย: | Percoidei |
วงศ์ใหญ่: | Percoidea |
วงศ์: | Toxotidae Bleeker, 1859 |
สกุล: | Toxotes Cuvier, 1816[1] |
ชนิดต้นแบบ | |
Labrus jaculator (= Sciaena jaculator Pallas, 1767) Shaw, 1803 [2] | |
ชนิด | |
|
วงศ์ปลาเสือพ่นน้ำ (อังกฤษ: Archerfish, Spinner fish) เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งกลุ่มปลาที่มีก้านครีบ ในอันดับ Perciformes ใช้ชื่อวงศ์ว่า Toxotidae (/ท็อก-ออท-อิ-ดี้/; มาจากคำว่า "Toxots" เป็นภาษากรีกหมายถึง "นักยิงธนู")
ลักษณะ
[แก้]ปลาในวงศ์นี้มีขนาดตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ถึง 40 เซนติเมตร ปากยาว จะงอยปากยืดได้ มีลำตัวป้อม แบนข้าง ตากลมโตเป็นพิเศษ ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งเป็นเงี่ยง 4–5 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน ส่วนที่เป็นก้านครีบแขนงของครีบหลังสั้นกว่าส่วนที่เป็นก้านครีบแขนงของครีบก้นมาก เกล็ดเป็นแบบสาก ส่วนบนหัวและแก้มมีเกล็ด ครีบหางตัดตรงหรือเว้าเล็กน้อย
ปลาขนาดเล็กมีจุดสะท้อนแสงที่ลักษณะพิเศษประจำฝูง จุดเหล่านี้มีสีเหลืองเป็นประกายแทรกอยู่ระหว่างแถบสีดำบริเวณซีกบนของลำตัว นักมีนวิทยาสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับใช้รวมฝูงหรือติดต่อระหว่างกันในฝูง เนื่องจากในระยะเป็นลูกปลามักจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งที่มีน้ำขุ่นและอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ โดยปลาที่โตเต็มวัยที่อาศัยตามลำพังตามแนวปะการังไม่มีจุดดังกล่าว[3]
พฤติกรรม
[แก้]อาศัยเป็นฝูง หากินบริเวณผิวน้ำ เป็นปลากินเนื้อ อาหารได้แก่ แมลง ลูกปลา ลูกกุ้งขนาดเล็ก มีความสามารถพิเศษคือ พ่นน้ำได้ไกลถึง 1–2 เมตร เพื่อยิงแมลงให้ตกลงน้ำเป็นอาหาร ถ้าแมลงยังไม่ตก จะยิงซ้ำสำเร็จ สามารถเปลี่ยนพิกัดมุมยิงได้อีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะปลาในวงศ์นี้มีลิ้นที่ยาว และมีร่องลึกที่ลิ้น ประกอบกับจะงอยปากที่กว้างพอดี เมื่อหุบเหงือกลงจะพ่นน้ำออกมาได้ในลักษณะเดียวกับปืนฉีดน้ำ[3]
นอกจากนี้ยังสามารถกระโดดขึ้นงับเหยื่อเหนือน้ำได้สูงถึง 1 ฟุต วางไข่ในฤดูฝนแถบชายฝั่งทะเลหรือปากแม่น้ำ โดยมีจำนวนตั้งแต่ 20,000–150,000 ฟอง ไข่มีขนาด 0.4 มิลลิเมตร โดยวางไข่แบบปล่อยลอยไปตามกระแสน้ำ พ่อแม่ปลาไม่ดูแลไข่ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าสามารถล่าเหยื่อที่ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้นน้ำได้ด้วย ด้วยวิธีการพ่นน้ำเหมือนกับที่พ่นเหนือผิวน้ำ[4]
ในวัฒนธรรมไทย
[แก้]ปลาเสือพ่นน้ำ เป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ ซ้ำยังมีอุปนิสัยไม่เกรงกลัวมนุษย์ จึงถูกอ้างอิงถึงในวรรณกรรมและวรรณคดีไทยหลายเรื่องนับแต่อดีต เช่น เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ของ ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่กล่าวถึง เมื่อเวลาจะรับประทานอาหารมื้อเย็นที่เรือนแพริมน้ำ เมื่อมีการตีฆ้องเป็นสัญญาณ ปลาเสือพ่นน้ำจะว่ายมาออกันที่ท่าน้ำ เพื่อรออาหารซึ่งก็คือ ข้าวสุกที่โปรยลงไป [5]
นอกจากนี้แล้ว ด้วยความสามารถพิเศษเหล่านี้ บางร้านอาหารริมน้ำจะมีการแขวนอาหารไว้เหนือน้ำ เพื่อให้ปลาเสือพ่นน้ำ พ่นน้ำใส่อาหารตกลงมากิน สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ลูกค้า [6]
การกระจายพันธุ์
[แก้]มีทั้งหมด 1 สกุล คือ Toxotes (/ท็อก-ออ-เทส/) ใน 10 ชนิด (เป็นชนิดที่จำแนกใหม่ 3 ชนิด) พบกระจายทั่วไปในเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงรัฐควีนส์แลนด์และนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีในออสเตรเลีย อาศัยทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย พบมากบริเวณปากแม่น้ำหรือแถบชายฝั่ง[3]
การจำแนก
[แก้]- Toxotes blythii Boulenger, 1892
- Toxotes chatareus (Hamilton, 1822)
- Toxotes jaculatrix (Pallas, 1767)
- Toxotes kimberleyensis Allen, 2004
- Toxotes lorentzi Weber, 1910
- Toxoter mekongensis Kottelat & Tan, 2018
- Toxotes microlepis Günther, 1860
- Toxotes oligolepis Bleeker, 1876
- Toxoter siamensis Kottelat & Tan, 2018
- Toxoter sundaicus Kottelat & Tan, 2018
การเพาะขยายพันธุ์
[แก้]ปลาเสือพ่นน้ำ สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว คือ ชนิด Toxotes chatareus ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปและหลากหลายที่สุด โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร ในสังกัดกรมประมง นับเป็นแห่งแรกของไทยและของโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 แต่ในช่วงแรกลูกปลาที่ได้มีอัตราการรอดตายน้อย เนื่องจากลูกปลาแรกเกิดมีปากขนาดเล็กมาก จึงไม่สามารถหาอาหารให้กินได้ ต่อมา ทางสถานีได้ให้โรติเฟอร์ขณะลูกปลามีอายุได้ 2 วัน เมื่อลูกปลาโตขึ้นก็ให้โรติเฟอร์กับไรแดงตามลำดับ และเมื่อลูกปลามีอายุได้ 3 เดือน ก็สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันทางสถานีกำลังเผยแพร่ความรู้นี้สู่เกษตรกรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพต่อไป[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Toxotidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ Cuvier, G. 1816: Le Règne Animal distribué d'après son organisation pour servir de base à l'histoire naturelle des animaux et d'introduction à l'anatomie comparée. Les reptiles, les poissons, les mollusques et les annélides. Edition 1. 2: i-xviii + 1-532, [Pls. 9-10, in v. 4].
- ↑ 3.0 3.1 3.2 หน้า 149-150, สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ (พ.ศ. 2547) ISBN 974-00-8738-8
- ↑ "New Scientist: Spitting archerfish shoot at prey above and beneath the water".
- ↑ ไทยยืนวงศ์, พิชิต. "เสือพ่นน้ำ". มติชนกรุ๊ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-29.
- ↑ ""อร่อยสบายอารมณ์ ก๋วยเตี๋ยวเรือลุงอู๊ด" ก๋วยเตี๋ยวห้อยขาริมเจ้าพระยา". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-16. สืบค้นเมื่อ 2012-07-18.
- ↑ เพื่อนเกษตร, เช้า-ข่าว 7 สี ทางช่อง 7: พฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555