ข้ามไปเนื้อหา

ระกำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Salacca wallichiana)
ระกำ
ผลระกำ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Arecales
วงศ์: Arecaceae
สกุล: Salacca
สปีชีส์: S.  wallichiana
ชื่อทวินาม
Salacca wallichiana

ระกำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Salacca wallichiana) เป็นพืชวงศ์ปาล์ม ซึ่งมีต้นหรือเหง้าเตี้ย ยอดแตกเป็นกอ ใบมีลักษณะยาวเป็นทาง ยาวประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีหนามแหลมยาวประมาณ 1 นิ้ว ออกผลเป็นทะลาย ทะลายหนึ่งมีตั้งแต่ 2-5 กระปุก เปลือกผลมีหนามแข็งเล็ก ๆ อุ้มไปทางท้ายผล ผลหนึ่ง ๆ มี 2-3 กลีบ เป็นส่วนมากเมื่อดิบมีรสฝาดและเปรี้ยว เมื่อสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้ออ่อน บาง กลิ่นหอม ฉ่ำน้ำ ลักษณะใกล้เคียงกับสละ แต่ผลป้อมกว่า เมล็ดใหญ่กว่า สีจางกว่า เนื้อจะออกสีอมส้มมากกว่า[1]

ระกำเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เจริญเติบโตและให้ผลผลิต ได้ทั่วไปในที่ดอนและชุ่มชื้น ระกำเป็นพืชที่ชอบร่มเงาปกคลุม ดังนั้นชาวสวนจึงนิยม ปลูกพืชขนาดใหญ่อื่น ๆ ให้ร่มเงาแก่ระกำ ระกำจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ระกำเป็นพืชขึ้นทั่วไป ในพื้นที่ป่าของจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง ต่อมาได้มีการนำระกำมาปลูกในสวน และปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ดีขึ้น โดยเฉพาะ จังหวัดตราด เกษตรกรนิยมปลูกระกำกันมาก จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า คือ "ระกำหวานเมืองตราด" ซึ่งจะมีการจัดงานเทศกาลระกำหวานเป็นประจำทุกปี[ต้องการอ้างอิง]

การใช้ประโยชน์

[แก้]

ระกำรับประทานเป็นผลไม้สด และนำมาปรุงรสเปรี้ยวในอาหาร เช่น น้ำพริก ต้มยำ ต้มส้ม ข้าวยำ และอาหารหวาน เช่น น้ำระกำ ระกำลอยแก้ว ไม้ของต้นระกำเมื่อลิดเอาหนามออกใช้กั้นทำเป็นฝาบ้าน ปอกเปลือกไม้ระกำออก เนื้อของไม้ระกำ ใช้ทำจุกขวดน้ำได้ ผิวระกำนำมาสกัดน้ำมันระกำได้

ความสำคัญทางเศรษฐกิจ

[แก้]

ระกำเป็นพืชที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรค่อนข้างสูง ราคาของระกำต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ของระกำ ระกำที่มีรสหวานหอม มีเนื้อมาก ราคาจะเหลือกิโลกรัมละ 30-50 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตในแต่ละปีด้วย จึงนับได้ว่า ระกำเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดตราด

อ้างอิง

[แก้]
  • นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ระกำ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 187 - 189
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. สละ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 235 - 237