ปลาโรนิน
ปลาโรนิน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับ: | Rajiformes |
วงศ์: | Rhinidae Müller & Henle, 1841 |
สกุล: | Rhina Bloch & Schneider, 1801 |
สปีชีส์: | R. ancylostoma |
ชื่อทวินาม | |
Rhina ancylostoma (Bloch & Schneider, 1801) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาโรนิน (อังกฤษ: Bowmouth guitarfish, Mud skate, Shark ray) ปลากระดูกอ่อนชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhina ancylostoma อยู่ในวงศ์ Rhinidae จัดเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์นี้ และสกุล Rhina [2]
มีรูปร่างคล้ายกับปลาโรนัน (Rhinobatidae) แต่มีลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือมีสันหนามเหนือหัวและหลัง สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อป้องกันตัว โดยมีส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูง เป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนาม ตรงกลางหลังด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน พื้นผิวลำตัวด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจาง ๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ด้านท้องมีสีขาว ยิ่งโดยเฉพาะปลาวัยอ่อนจะมีลวดลายที่มากกว่าปลาตัวโต
ขนาดโตเต็มที่มีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 135 กิโลกรัม พบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน จัดเป็นปลาที่พบเห็นได้ยากมากในปัจจุบัน พบได้ในทะเลแดง, แอฟริกาตะวันออก, ญี่ปุ่นตอนใต้, ปาปัวนิวกินี, ในน่านน้ำไทยพบที่ฝั่งอันดามัน โดยมีชื่อที่ชาวประมงเรียกว่า "ปลากระเบนพื้นน้ำ" และมีความเชื่อว่าหนามบนหลังนั้นใช้เป็นเครื่องรางของขลังในทางไสยศาสตร์ได้ โดยนิยมนำมาทำเป็นหัวแหวน หรือนำมาห้อยคอ ซ้ำยังมีราคาซื้อขายที่ไม่แพง[3]
เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ที่อันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี และ SEA LIFE Bangkok Ocean World ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยมีราคาซื้อขายที่แพงมากนับล้านบาท ซึ่งปลาในที่เลี้ยงมีพฤติกรรมที่เชื่องต่อผู้เลี้ยงและกินเก่งมาก
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558 มีการพบปลาโรนินตัวหนึ่งเป็นเพศเมีย ที่บริเวณปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง น้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม ความยาวตลอดตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 2 เมตร อายุประมาณ 10 ปี โดยปลามีบาดแผลถลอกตลอดทั้งตัว เนื่องจากติดอวนประมง ทางศูนย์ประมงศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกได้นำมาพักฟื้น โดยปลายังมีสุขภาพแข็งแรง การพบปลาโรนินในครั้งนี้นับว่าเป็นที่ฮือฮา เนื่องจากในทะเลด้านอ่าวไทยแถบจังหวัดระยอง ไม่ได้พบปลาโรนินเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว[4]
กรมประมงชี้แจงเรื่องเครื่องประดับแหวนปลาโรนิน (หัวกระเบนท้องน้ำ) ที่ทำมาจากหนามบนหัวปลา โดยระบุว่าผู้ครอบครองต้องแจ้งการมีไว้ตามกฎหมายภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เนื่องจากปลาโรนินเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงห้ามมีไว้ซึ่งซากหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ McAuley, R. and L.J.V. Compagno (2003). Rhina ancylostoma. In: IUCN 2003. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 21 มกราคม 2010.
- ↑ "Rhinidae Müller and Henle, 1841". Integrated Taxonomic Information System - Report.
- ↑ นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ (ตุลาคม 2011). กระเบนท้องน้ำ "ของขลัง ที่ยังว่ายน้ำได้". นิตยสาร Aquarium Biz. ฉบับที่ 16 ปีที่ 2 หน้า 126–130. ISSN 1906-9243.
- ↑ "ฮือฮา! พบ "ปลาโรนิน" ปลาหายากที่ทะเลระยอง". กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 9 สิงหาคม 2015.
- ↑ "ปลาโรนิน คืออะไร ทำไมครอบครองแหวนถูกปรับ4หมื่น". Bright Today. ไบรท์ ทีวี. 20 กันยายน 2018.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Rhina ancylostoma Bloch & Schneider, 1801, Das IFM-GEOMAR Helmholtz-Zentrum für Ozeanforschung, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2013
- "ปลาโรนิน", TalayThai.com, 26 มกราคม 2002, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มีนาคม 2008, สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2008
{{citation}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - "Rhina ancylostoma (ปลาโรนิน, กระเบนท้องน้ำ)", ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย, สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013