งูหลามบอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Python regius)

งูหลามบอล
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix II (CITES)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน
อันดับ: กิ้งก่าและงู
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: วงศ์งูเหลือม
สกุล: Python
(Shaw, 1802)
สปีชีส์: Python regius
ชื่อทวินาม
Python regius
(Shaw, 1802)
แผนที่การกระจายพันธุ์ของงูหลามบอล
ชื่อพ้อง
  • Boa regia Shaw, 1802
  • Cenchris regia Gray, 1831
  • Python bellii Gray, 1842
  • Hortulia regia Gray, 1849[2]

งูหลามบอล หรือที่นิยมเรียกว่า บอลไพธอน (อังกฤษ: ball python; ชื่อวิทยาศาสตร์: Python regius) เป็นงูเหลือมชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า ไม้พุ่ม และป่าเปิดที่แอฟริกาตะวันตกถึงแอฟริกากลาง ถือเป็นงูเหลือมแอฟริกันไม่มีพิษที่มีขนาดเล็กที่สุด โดยมีความยาวสูงสุดที่ 182 ซm (5.97 ft)[2] ส่วนชื่อ "บอลไพธอน" สื่อถึงแนวโน้มที่งูหลามจะขดตัวเป็นลูกบอลเมื่อเกิดความเครียดหรือทำให้ตกใจ[3]

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา โดยพบตั้งแต่แอฟริกากลางไปจนถึงแอฟริกาตะวันตก โดยปกติแล้วงูหลามบอลมักจะใช้ชีวิตอยู่บนพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่ก็พบบ่อยครั้งที่พบงูหลามบอลอยู่บนต้นไม้ได้เช่นกัน ลักษณะทั่วไป งูหลามบอลจัดเป็นงูขนาดกลาง มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน ป้อม สั้น ขนาดโดยทั่วไปแล้วมักจะไม่เกิน 1.2 เมตร ลำตัวอาจมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีเหลืองสด ตัดกับลวดลายสีดำทั่วทั้งตัว โดยงูแต่ละตัวจะมีลวดลายไม่ซ้ำกัน

อุปนิสัย งูหลามบอลเป็นงูที่มีนิสัยไม่ดุร้ายก้าวร้าว เมื่อพบกับศัตรูจะขดตัวกลมคล้ายลูกบอล จึงเป็นที่มาของชื่อ และอาหารจะกินแต่เฉพาะหนูและสัตว์ฟันแทะเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากงูหลาม งูเหลือม ชนิดอื่น ๆ การแพร่พันธุ์ จะกระทำในฤดูใบไม้ผลิ หรือหลังจากฤดูหนาว โดยมักเป็นช่วงปลายปี โดยตัวผู้จะเลื้อยคลอเคลียกับตัวเมียไปทางด้านข้าง ใช้หางเขี่ยคลอเคลียไปบนหลังตัวเมีย มีการใช้เทคนิค นวดตัวเมียโดยใช้สเปอร์และปลายหาง เมื่อเป็นที่ถูกใจตัวเมียจะม้วนหางขึ้นเพื่อให้ตัวผู้ได้ผสมพันธุ์ จากนั้น 1-4 เดือนต่อมา ตัวเมียจะออกไข่ ประมาณ 5-8 ฟอง ในการกกไข่ ตัวเมียทำหน้าที่เพียงป้องกันไข่ ไม่ได้ใช้การสั่นของกล้ามเนื้อเพื่อกระตุ้นไข่หรือให้ความอบอุ่น ในขณะที่เป็นลูกงูนั้น การลอกคราบจะถี่มากช่วงปีแรกเฉลี่ยเดือนละครั้ง

จากอุปนิสัยที่ไม่ดุร้ายและสีสันลวดลายที่สวยงาม ทำให้งูหลามบอลเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ชนิดหนึ่งของผู้ที่ชื่นชอบสัตว์เลื้อยคลาน โดยสามารถเลี้ยงได้ในตู้กระจกหรือกล่องพลาสติก อีกทั้งสามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้เพื่อให้ได้ลวดลายสีสันที่แตกต่างแปลกออกไปด้วยหลักของสัณฐานวิทยา ซึ่งงูตัวที่มีสีสันหรือลวดลายสวยงามแตกต่างไปจากตัวอื่นทั่วไป จะมีสนราคาแพงกว่าปกติมาก

เทพปกรณัมกรีก[แก้]

งูหลามบอลได้ถูกกล่าวถึงในเทพปกรณัมกรีกไว้ว่า เมื่อ มหาเทพซูสได้มีจิตปฏิพัทธ์ต่อ นางเลโต ทำให้ เทพีฮีรา มเหสีเอกเกิดความหึงหวงจึงกลั่นแกล้งด้วยการส่ง งูหลามบอลที่เลี้ยงไว้ไปตามรังควาน นางจึงต้องอุ้มครรภ์หนีซอกซอนไปจนถึง เกาะดีลอส (Delos) โปเซดอน มีความสงสารบันดาลให้เกาะผุดขึ้นในทะเล เพื่อให้นางได้ประสูติ เทพอพอลโล กับ เทพีอาร์เตมิส บนเกาะนั้น ทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา เทพอพอลโล ก็จับงูหลามบอลฆ่าทิ้งเสีย จึงได้รับการขนานนามว่า ไพธูส (Pytheus) ซึ่งแปลว่า “ผู้สังหารงูหลาม”

ระเบียงภาพ[แก้]


อ้างอิง[แก้]

  1. D'Cruze, N.; Wilms, T.; Penner, J.; Luiselli, L.; Jallow, M.; Segniagbeto, G.; Niagate, B. & Schmitz, A. (2021). "Python regius". IUCN Red List of Threatened Species. 2021: e.T177562A15340592. สืบค้นเมื่อ 7 October 2021.
  2. 2.0 2.1 McDiarmid, R. W.; Campbell, J. A.; Touré, T. (1999). Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference. Vol. 1. Washington, DC: Herpetologists' League. ISBN 1-893777-00-6.
  3. Mehrtens, J. M. (1987). "Ball Python, Royal Python (Python regius)". Living Snakes of the World in Color. New York: Sterling Publishers. p. 62. ISBN 080696460X.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]