ข้ามไปเนื้อหา

หมึกสายเล็ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Octopus aegina)
หมึกสายเล็ก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
อันดับ: Octopoda
วงศ์: Octopodidae
สกุล: Amphioctopus
สปีชีส์: A.  aegina
ชื่อทวินาม
Amphioctopus aegina
(Gray, 1849)
ชื่อพ้อง[1]
  • Octopus aegina Gray, 1849 (ชื่อดั้งเดิม)
  • Octopus dollfusi Robson, 1928
  • Octopus hardwickei' Gray, 1849
  • Octopus smedleyi Robson, 1932

หมึกสายเล็ก, หมึกยักษ์เล็ก, หมึกสายขาว[2] (อังกฤษ: Dollfus' octopus; ชื่อวิทยาศาสตร์: Amphioctopus aegina) เป็นมอลลัสก์ประเภทหมึกสายชนิดหนึ่ง

จัดเป็นหมึกสายขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 6–12 เซนติเมตร มีหนวด 8 เส้น แต่ละเส้นมีความยาวใกล้เคียงกันโคนหนวดแต่ละเส้นมีแผ่นหนังเชื่อมติดกัน ด้านในของหนวดทุกเส้นมีปุ่มดูดเรียงกันเป็นสองแถวสำหรับจับสัตว์กินเป็นอาหาร ลำตัวสีเทาอมดำหรือสีน้ำตาลอ่อน ด้านท้องสีขาว

ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่เป็นโคลนหรือโคลนปนทราย พบตามชายฝั่งทะเลทั่วไป กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ เช่น กุ้ง ปู หรือหอย เป็นอาหาร เป็นหนึ่งในชนิดของหมึกสายที่พบได้ในเขตน่านน้ำไทย[3]

ในเขตจังหวัดระยอง มีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า "หมึกกระเป๋า" เนื่องจากชาวประมงจะจับโดยการใช้เปลือกหอยโนรีผูกเชือกหย่อนลงไปในทะเล รอให้หมึกเข้ามาซ่อนตัวในเปลือกหอย แล้วจึงสาวเชือกขึ้นมาหลังจากผ่านไป 2 วัน หากเป็นเรือประมงขนาดใหญ่จะวางเปลือกหอยด้วยวิธีการนี้เป็นหมื่นชิ้น แฤดูกาลที่หมึกสายเล็กจะมีมากที่สุด คือ ช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม อาจจับได้ปริมาณมากครั้งละ 20 กิโลกรัม[4] ในขณะที่ภาษาใต้เรียกว่า "วุยวาย" หรือ "โวยวาย" หรือ "วาย" และมีวิธีการจับที่คล้ายกันที่จังหวัดเพชรบุรีและตราด[5] แต่ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จะใช้วิธีการจับด้วยการใช้เหล็กแหลมแทงตามชายหาดเมื่อน้ำลด โดยล่อให้หมึกสายเล็กใช้หนวดจับเหยื่อซึ่งเป็นเนื้อปูจำพวกปูเปี้ยวหรือปูลมที่บริเวณปากรู จากนั้นจึงใช้เหล็กแหลมแทงเข้าที่บริเวณใต้ตา จึงจะได้ทั้งตัว ซึ่งวิธีการนี้ต้องใช้ความชำนาญ[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Amphioctopus aegina (Gray, 1849)". WoRMS. สืบค้นเมื่อ June 30, 2016.
  2. "หมึกสายเล็ก , หมึกยักษ์เล็ก , หมึกสายขาว". ปลาสด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-23. สืบค้นเมื่อ June 30, 2016.
  3. "Octopus : หมึกยักษ์/หมึกสาย". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ June 30, 2016.[ลิงก์เสีย]
  4. "สารคดีเกษตร : "หมึกสาย" หรือ "หมึกกุ๊งกิ๊ง"". ช่อง 7. June 30, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-01. สืบค้นเมื่อ June 30, 2016.
  5. "การดักหมึกสายด้วยเปลือกหอย". ไทยพีบีเอส. May 26, 2016. สืบค้นเมื่อ July 17, 2016.
  6. "'แทงโวยวาย' อาชีพแปลกที่หาดูยาก สร้างรายได้ให้ชาวมอแกน !!". โมโน 29. January 21, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-07. สืบค้นเมื่อ July 17, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Amphioctopus aegina ที่วิกิสปีชีส์