ปลากระสูบขีด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hampala macrolepidota)
ปลากระสูบขีด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Hampala
สปีชีส์: H.  macrolepidota
ชื่อทวินาม
Hampala macrolepidota
Kuhl & Van Hasselt, 1823
ชื่อพ้อง
  • Barbus hampal Günther, 1868
  • Heteroleuciscus jullieni Sauvage, 1874
  • Barbus hampal var. bifasciata Popta, 1905

ปลากระสูบขีด หรือ ปลากระสูบขาว[1] (อังกฤษ: Hampala barb, Tranverse-bar barb; ชื่อวิทยาศาสตร์: Hampala macrolepidota) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

มีรูปร่างคล้ายปลากระสูบจุด (H. dispar) แต่ด้านข้างลำตัวมีแถบขวางบริเวณใต้ครีบหลังลงมาถึงท้อง ในปลาขนาดเล็กมีแถบ 2 แถบที่กลางลำตัวและโคนหาง และมีแถบใต้ตาด้วย ครีบมีสีคล้ำแดงเรื่อ ขอบบนและขอบล่างของครีบหางมีแถบสีคล้ำ มีขนาดใหญ่กว่าปลากระสูบจุดซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน คือ สามารถยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร หรือ 70 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่เต็มที่

โดยชื่อวิทยาศาสตร์ macrolepidota มีความหมายว่า "เกล็ดใหญ่" โดยมาจากภาษากรีกโบราณคำว่า μακρός (makrós) หมายถึง "ยาว" หรือ "ใหญ่" และ λεπτδωτος (lepdotos) หมายถึง "เกล็ด" โดยสถานที่ค้นพบครั้งแรกคือ เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย[2]

พบมากในแม่น้ำโขง และพบบ้างในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะพบได้มากกว่าปลากระสูบจุด[3]

เป็นปลากินเนื้อ จัดเป็นปลานักล่าชนิดหนึ่ง มักไล่จับปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาซิว, ปลาวัยอ่อน รวมถึงแมลงน้ำต่าง ๆ ในแม่น้ำและหนองบึงต่าง ๆ เป็นที่นิยมของนักตกปลาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นโดยใช้เหยื่อปลอม บริโภคด้วยการปรุงสด หรือทำปลาร้า, ปลาส้ม,ลาบปลากระสูบ เป็นต้น และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย

ปลากระสูบขีดมีชื่อเรียกทางภาษาอีสานว่า "ปลาสูบ", "ปลาสูด", "ปลาสิก" หรือ "ปลาขม" เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระัน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 85. ISBN 974-00-8701-9
  2. van Hasselt, J. C., 1823 - Algemeene Konst- en Letter-bode II Deel (no. 35): 130-133 Uittreksel uit een' brief van Dr. J. C. van Hasselt, aan den Heer C. J. Temminck.
  3. ปลากระสูบขีด

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hampala macrolepidota ที่วิกิสปีชีส์