อะกูป์ฟอร์เดอะริช
อะกูป์ฟอร์เดอะริช (อังกฤษ: A Coup for the Rich; รัฐประหารเพื่อคนรวย) เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การเมืองช่วง พ.ศ. 2548-2549 และการรัฐประหาร ที่เขียนโดย รศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ใจ ผู้เขียน ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความผิดฐาน "ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" โดยใจได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทราบว่ามาจากกรณีการเขียนหนังสือเล่มนี้[1]
เนื้อหา
[แก้]หนังสือนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของชนชั้นนำในสังคมที่สนับสนุนรัฐประหาร ที่เห็นว่า คนจนมีประชาธิปไตยมากเกินไป และโดยเขาเหล่านั้นแบ่งประเทศไทยว่ามีสองชนชั้นใหญ่ ๆ คือ "ชนชั้นกลางที่กระจ่างแจ้งและเข้าใจประชาธิปไตย" กับ "ชาวชนบทและชาวเมืองที่ยากจนอันแสนจะโง่เขลา" และหนังสือได้วิพากษ์นักวิชาการที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ธีรยุทธ บุญมี และอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุนว่าปัจจุบันได้หันมาส่งเสริมแนวความคิดคุณค่าของเอเชีย เพื่ออธิบายเหตุผลของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ โดยนักวิชาการเหล่านี้มองว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ นั้น ควรจะเป็นระบบผสมโดยการแบ่งปันอำนาจระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับสถาบันกษัตริย์[2]
การเผยแพร่ในประเทศไทย
[แก้]ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สั่งระงับการขายหนังสือเล่มนี้ โดยรองผู้จัดการของศูนย์หนังสือฯ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะหนังสือดังกล่าวมีการอ้างอิงงานเขียนของ พอล แฮนด์ลีย์ ผู้เขียน The King Never Smiles[3] ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย
ต่อมา หลังจากนั้นอีกเกือบหนึ่งปี กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกหนังสือที่ ตช.0016.146/289 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 เรื่อง "ขอความร่วมมือให้งดจำหน่าย หนังสือ A Coup for the Rich" ส่งมายังอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหยุดจำหน่ายหนังสือดังกล่าว โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างว่า “เนื้อหาในหนังสือมีข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ... อาจทำให้ปวงชนชาวไทยเข้าใจพระมหากษัตริย์ผิด” เอกสารลงนามโดย พล.ต.ต.จุตติ ธรรมมโนวานิช รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนหนังสือเล่มนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง โดย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารและให้ความเห็นว่า “ให้ศูนย์หนังสือดำเนินการตามที่ตำรวจสันติบาลได้แจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร” ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ‘ใจ อึ๊งภากรณ์’ ได้รับหมายเรียก ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ล่าสุด), ประชาไท, 12 มกราคม พ.ศ. 2552, เรียกดูเมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2552
- ↑ มองมุมใหม่:A Coup for the Rich เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ชำนาญ จันทร์เรือง, กรุงเทพธุรกิจ, 11 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ไม่ยอมขายหนังสืออ.ใจ เพราะอ้างอิงผู้เขียน TKNS., ประชาไท, 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2550
- ↑ ตำรวจนครบาลสั่งห้ามขายหนังสือ A Coup for the Rich, ประชาไท, 29 มกราคม พ.ศ. 2551, เรียกดูเมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2552