ไฮบุตสึคิชากุ
ไฮบุตสึคิชากุ (ญี่ปุ่น: 廃仏毀釈; โรมาจิ: Haibutsu kishaku; "ล้มเลิกพุทธศาสน์ พิฆาตศากยมุนี") เป็นคำที่ใช้เรียกการกำจัดศาสนาพุทธที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น[1] โดยเฉพาะในยุคฟื้นฟูเมจิ ที่มีการกดขี่ศาสนาพุทธที่ชัดเจนที่สุด คือมีการทำลายวัดพุทธ พระพุทธรูป เผาภาพแขวน และพระสูตร รวมทั้งการสึกพระภิกษุไปเป็นฆราวาส[1]
ไฮบุตสึคิชากุ ในประวัติศาสตร์
[แก้]หลังศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคโคฟุง ตระกูลโมโนโนเบะกระทำการต่อต้านศาสนาพุทธ เหตุผลไม่ใช่เพราะคำสอนทางศาสนา หากแต่เป็นการหวาดกลัวคนต่างด้าวและคลั่งชาติ[1] ในเวลาต่อมาตระกูลนากาโตมิ (บรรพชนของตระกูลฟูจิวาระ) ได้ร่วมมือกับตระกูลโมโนโนเบะในการต่อต้านศาสนาพุทธ
ต่อมาในยุคต้นสมัยใหม่ แคว้นโอกายามะ แคว้นไอซุ และแคว้นมิโตะ มีการปิดวัดพุทธ และขับไล่พระภิกษุ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง หาใช่เหตุผลด้านศาสนาอีกเช่นกัน[1] ซึ่งนโยบายต่อต้านศาสนาพุทธของแคว้นเหล่านี้เป็นแนวคิดของกลุ่มลัทธิขงจื๊อ[1] ครั้นเมื่อถึงในยุคฟื้นฟูเมจิ มีการศึกษาเกี่ยวกับชาติญี่ปุ่น และมีการขับเน้นให้ลัทธิชินโตเป็นศูนย์กลางความเชื่อของชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมี ไฮบุตสึคิชากุ จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีเป้าประสงค์ที่จะแยกลัทธิชินโตของชาวญี่ปุ่นออกจากศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาของคนต่างด้าว[1]
ไฮบุตสึคิชากุ ในยุคฟื้นฟูเมจิ
[แก้]ในยุคฟื้นฟูเมจิ ถือเป็น ไฮบุตสึคิชากุ ที่ชัดเจนที่สุด เพราะมีการออกนโยบาย ชินบุตสึบุนริ (神仏分離) เพื่อแยกลัทธิชินโตออกจากศาสนาพุทธ[1] หลัง พ.ศ. 2411 ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง มีการทำลายทรัพย์สินทางศาสนาอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่วัดโคฟูกุในนาระถูกทำลายหนัก เขตธรณีสงฆ์ถูกริบ พระภิกษุถูกบังคับให้เข้ารีตเป็นนักบวชชินโต มีการรื้อทำลายกำแพงวัด แล้วปลูกต้นไม้แทน เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะประจำเมือง[2] การจลาจลต่อต้านศาสนาพุทธที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายแก่วัดพุทธใหญ่ ๆ หลายแห่งตามหัวเมือง[3] การต่อต้านศาสนาพุทธกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคในญี่ปุ่นระหว่าง พ.ศ. 2415 ถึง พ.ศ. 2417 (บางแห่งว่าเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2411) วัดพุทธราว 18,000 แห่ง ถูกทำลายจนสิ้นซาก[4] มาร์ติน คอลคัตต์ (Martin Collcutt) นักญี่ปุ่นศึกษา เชื่อว่า ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นถูกทำลายจวนจะสูญไปแล้ว[4]
การกระทำดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นแก่พุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก เพราะพวกเขาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลโทกูงาวะด้วยระบบดันกะ (檀家制度) มายาวนานหลายศตวรรษ[5] ทำให้ศาสนาพุทธได้รับผลประโยชน์อย่างสูงมาตลอด แม้ว่าปรัชญาการปกครองของโชกุน ซึ่งเป็นผู้ปกครองจะยึดตามลัทธิขงจื๊อก็ตาม[6] ศาสนาพุทธถูกนำมาใช้ในนโยบายต่อต้านศาสนาคริสต์ของรัฐบาลโทกูงาวะ โดยประกาศใช้ระบบดันกะซึ่งจะผูกพันสมาชิกของครอบครัวให้ขึ้นสังกัดวัดในศาสนาพุทธ เพื่อรับรองว่าพวกเขาไม่ใช่คริสตังลับ[7] และหากไม่มีชื่อขึ้นกับวัดพุทธก็ไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในญี่ปุ่นแน่[7] ด้วยเหตุนี้ วัดสามารถกรรโชกทรัพย์ผู้คนที่ขึ้นกับวัดได้[8] ในระบบดันกะ หลายครอบครัวจะต้องบริจาคทรัพย์แก่วัดที่ตนสังกัด[7] เมื่อมีวัด 100,000 แห่ง กับประชากร 30 ล้านคน เฉลี่ยแล้ววัดแห่งหนึ่งจะมีสมาชิกเป็นข้าวัดในสังกัดถึง 300 คน[8] ด้วยเหตุนี้ศาสนาพุทธจึงมีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐบาลโทกูงาวะอย่างไม่ต้องสงสัย และศาสนาพุทธจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของทุกฝ่ายที่จะบ่อนทำลายระบอบโชกุนโทกูงาวะ นอกจากนี้แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจและการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะรัฐบาลต้องการใช้เพิ่มเงิน จึงนำเงินที่ได้จากทรัพย์สินในศาสนาพุทธที่มีอยู่มั่งคั่ง รวมทั้งการยึดเขตธรณีสงฆ์ไปเป็นของรัฐ[1]
ประมาณการว่า มีวัดพุทธ 40,000 แห่งถูกทำลายลง และบางท้องที่วัดถูกทำลายมากถึงร้อยละ 80[9] เป็นการยากที่จะทราบถึงจำนวนวัดพุทธที่ถูกปิดลงจากเหตุวุ่นวายดังกล่าว เพราะวัดบางแห่งถูกปิดลงเพราะเสียประโยชน์จากการล่มสลายของรัฐบาลโทกูงาวะ[10] อย่างไรก็ตามวัดพุทธที่หายไปจากแคว้นซัตสึมะอย่างสิ้นซากนั้น ล้วนเกิดขึ้นจาก ไฮบุตสึคิชากุ[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "Haibutsu Kishaku". Encyclopedia of Shinto. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2008.
- ↑ "Kofukuji, Dream of a Temple". www.japannavigator.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2009.
- ↑ "History of Nara". Nara City Home Page. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2008.
- ↑ 4.0 4.1 John Breen (กรกฎาคม 2000). Mark Teeuwen (บ.ก.). Shinto in History: Ways of the Kami. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 230. ISBN 978-0-8248-2363-4. OCLC 43487317.
- ↑ Bernhard Scheid. "Inquisition unter buddhistischen Vorzeichen". Religion-in-Japan>Geschichte>Terauke (ภาษาเยอรมัน). Universität Wien. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กรกฎาคม 2015.
- ↑ Ronald Loftus. "Neoconfucianism". Willamette University. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2008.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Paul B. Watt. "Review of Nam-Lin Hur, Death and Social Order in Tokugawa Japan: Buddhism, Anti-Christianity, and the Danka System". Universiteit Leiden. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012.
- ↑ 8.0 8.1 Nam-Lin Hur (2007). "Death and social order in Tokugawa Japan: Buddhism, anti-Christianity, and the danka system" (PDF). The Rise of Funerary Buddhism in Tokugawa Japan. Harvard University Asia Center. pp. 1–30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 31 มีนาคม 2012.
- ↑ Jørn Borup (25 กุมภาพันธ์ 2008). Japanese Rinzai Zen Buddhism: Myōshinji, a living religion. Brill. p. 21. ISBN 978-90-47-43309-5.
- ↑ 10.0 10.1 Jason Ānanda Josephson (2006). "When Buddhism Became a "Religion"". Japanese Journal of Religious Studies. 33 (1): 143–168. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 ธันวาคม 2013.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ไฮบุตสึคิชากุ
- 美濃苗木藩における廃仏毀釈 [Abolition of Buddhism in the Mino Naegi domain] (ในภาษาญี่ปุ่น)