ไนอาลาโธเทป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไนอาลาโธเทป

ไนอาลาโธเทป (Nyarlathotep) หรือไนอาลัทโฮเทป หรือเนียลาโธเทป เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า เอาเตอร์ก็อด ในงานประพันธ์ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ ไนอาลาโธเทปมีฉายาว่า ความวุ่นวายที่คืบคลาน (Crawling Chaos) ปรากฏตัวในเรื่องสั้นชื่อ ไนอาลาโธเทป (พ.ศ. 2463) และนับเป็นเทพที่มีบทบาทมากที่สุดตัวหนึ่งในงานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์

ไนอาลาโธเทปมีร่างอวตารอยู่มากมายและมีรูปร่างที่แตกต่างกันนับไม่ถ้วน บางครั้งไนอาลาโธเทปจะปรากฏตัวบนโลกในร่างมนุษย์ ซึ่งมักเป็นชายร่างสูง มีนิสัยขี้เล่น และแต่งกายด้วยชุดสีดำล้วน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ประหลาดซึ่งมีรูปร่างน่าสะพรึงกลัว ในบทกวี Nyarlathotep และนิยาย เดอะดรีมเควสต์ออฟอันโนนคาดัธ (พ.ศ. 2469) ไนอาลาโธเทปปรากฏกายเป็นชายที่มีลักษณะคล้ายฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ ซึ่งมีเหล่าสาวกติดตามเป็นจำนวนมาก ในเรื่องสั้น The Dreams in the Witch House (พ.ศ. 2476) ไนอาลาโธเทปปรากฏตัวในร่างของ บุรุษดำ ซึ่งเป็นปิศาจผิวดำในลัทธิแม่มดของนิวอิงแลนด์ และใน The Haunter of the Dark (พ.ศ. 2476) อสุรกายซึ่งเป็นเงามืดที่มีหนวดระยาง ปีกค้างคาว และดวงตาที่ลุกเป็นไฟสามดวง (three-lobed burning eye) ซึ่งอยู่ในวิหารแห่งลัทธิสตารีวิสดอมก็เป็นหนึ่งในร่างอวตารของไนอาลาโธเทป นักประพันธ์ในกลุ่มตำนานคธูลูยังได้เขียนถึงร่างอวตารของไนอาลาโธเทปอีกมากมายในภายหลัง เช่น

  • พ.ศ. 2479 เทพผู้ไร้ใบหน้า (The Faceless God) ปรากฏตัวในเรื่อง The Faceless God ของโรเบิร์ต บลอค เป็นสฟิงซ์มีปีกและไม่มีหน้าในยุคอียิปต์โบราณ สามารถส่งผู้ที่บูชาย้อนไปในกาลเวลาได้
  • พ.ศ. 2487 ผู้โหยหอนในความมืด (Howler in the Dark) ปรากฏตัวในเรื่อง The Dweller in Darkness ของออกัสต์ เดอเลธ เป็นอสุรกายยักษ์ซึ่งมีหนวดระยางขนาดใหญ่แทนหัว มีฉายาว่า เทพลิ้นโลหิต (God of the Bloody Tongue)
  • พ.ศ. 2507 ลรอกก์ (L'rog'g) ปรากฏตัวในเรื่อง The Insects from Shaggai ของแรมซีย์ แคมเบลล์ เป็นร่างที่มนุษย์ต่างดาวรูปร่างเหมือนกล่องเหล็กที่มีขาจำนวนมากบนดาวยูเรนัสบูชา มีลักษณะเป็นค้างคาวสองหัวที่มีดวงตาที่ส่องประกายเหมือนดวงดาวและเคลื่อนไหวไปมาบนใบหน้าทั้งสอง หัวแต่ละหัวยังมีปากจำนวนมาก
  • พ.ศ. 2523 ความสยองที่ล่องลอย[1] (The Floating Horror) ปรากฏตัวในเรื่อง The Star Pools ของอัลเบิร์ต เอ. แอททานาซิโอ เป็นแมงกะพรุนสีฟ้าหนวดแดงขนาดใหญ่ซึ่งปรากฏตัวในตำนานลัทธิวูดูในประเทศเฮติ
  • พ.ศ. 2524 เกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhu ของบริษัท Chaosium กล่าวถึงร่างอวตารอื่นๆของไนอาลาโธเทป คือ ลมดำ (Black Wind) ในประเทศเคนยา ซึ่งเป็นลมพายุที่มีพลังทำลายมหาศาล สตรีพอง (Bloated Woman) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งใช้พัดขนาดใหญ่สร้างภาพลวงตาปิดบังร่างจริงซึ่งเต็มไปด้วยปากและหนวดระยางมากมาย และ ราชินีอาภรณ์แดง (Queen in Red) ซึ่งเป็นสตรีสูงศักดิ์ผู้แต่งกายในชุดแดงอันหรูหรา มีเสน่ห์ และมีอำนาจควบคุมจิตใจผู้อื่น ทั้งยังสามารถกลายเป็นอสุรีผู้มีผมเป็นงู ปีกค้างคาว มือเป็นอุ้งเล็บที่ถือเคียวเปื้อนเลือดได้
  • พ.ศ. 2538 ติ๊กต๊อกแมน (Tick Tock Man) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น I Dream of Wires ของสก็อต เดวิด อนิโอโลวสกี ติ๊กต๊อกแมนจะใช้ความฝันดลใจให้มนุษย์สร้างเครื่องจักรให้เป็นร่างของติ๊กต๊อกแมน ซึ่งติ๊กต๊อกแมนสามารถเปลี่ยนสภาพเครื่องจักรที่เป็นร่างให้เป็นรูปแบบมนุษย์ได้

ไนอาลาโธเทปสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ และเป็นเหมือนสื่อกลางระหว่างเอาเตอร์ก็อดและเกรทโอลด์วันกับเหล่าสาวกซึ่งบูชาเทพเหล่านี้ ไนอาลาโธเทปยังมีหน้าที่คอยทำตามความประสงค์ของอซาธอท ไนอาลาโธเทปยังมีนิสัยชอบหลอกให้เหยื่อเสียสติยิ่งกว่าจะฆ่าให้ตาย[2] บางครั้งไนอาลาโธเทปจะทำลายผู้อื่นหรืออารยธรรมโดยการสอนเวทมนตร์หรือวิทยาการที่ทรงอำนาจให้ จากนั้นจึงเฝ้าดูผู้ที่ได้รับความรู้นั้นไปทำลายตัวเองอย่างช้าๆ นับเป็นเอาเตอร์ก็อดที่มีบุคลิกคล้ายมนุษย์มากที่สุด

ในเรื่องชุดความฝันของเลิฟคราฟท์ ไนอาลาโธเทปยังเป็นผู้คุ้มครองเหล่าเทพเกรทวัน ซึ่งเป็นเทพแห่งโลกที่อ่อนแอ ใน Dream Quest of Unknown Kadath ไนอาลาโธเทปอ้างว่าตนคือเจตจำนงแห่งเอาเตอร์ก็อด และแท้จริงแล้ว ไนอาลาโธเทปก็ทั้งดูแคลนและไม่พอใจเอาเตอร์ก็อดตนอื่นๆที่ไร้จิตใจ

ที่มาของไนอาลาโธเทป[แก้]

ในจดหมายที่เลิฟคราฟท์ส่งถึง ไรน์ฮาร์ด ไคลเนอร์ เลิฟคราฟท์ได้เล่าถึงฝันร้ายซึ่งเป็นที่มาของบทกวี ไนอาลาโธเทป โดยในฝันนั้น เลิฟคราฟท์ได้รับจดหมายจาก ซามูเอล เลิฟแมน ซึ่งมีเนื้อหาแนะนำให้เลิฟคราฟท์ไปหาไนอาลาโธเทปถ้าเขาไปที่โพรวิเดนซ์ โดยระบุว่าไนอาลาโธเทปนั้น "น่ากลัวกว่าทุกสิ่งที่คุณจะจินตนาการได้ แต่ก็น่าอัศจรรย์มาก" เลิฟคราฟท์ไม่เคยได้ยินชื่อไนอาลาโธเทปมาก่อน แต่ก็เข้าใจถึงชื่อนั้นดี

ไนอาลาโธเทปเป็นนักแสดงหรือผู้บรรยายต่อหน้าสาธาณะชน และเร่งเร้าให้เกิดความกลัวและข้อถกเถียงต่อการแสดงของเขา การแสดงนี้มีสองช่วง ช่วงแรกเป็นภาพยนตร์อันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งอาจเป็นคำทำนายก็ได้ ตามด้วยการทดลองพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และไฟฟ้า เมื่อผมได้รับจดหมายฉบับนี้ ผมก็คล้ายจะจำได้ว่าไนอาลาโธเทปมาอยู่ที่โพรวิเดนซ์แล้ว คลับคล้ายคลับคลาว่ามีคนกระซิบให้ฟังถึงความน่ากลัวของเขาและเตือนให้ผมอยู่ห่างเขาไว้ แต่จดหมายของเลิฟแมนทำให้ผมตัดสินใจได้...เมื่อผมออกจากบ้านก็เห็นฝูงชนเบียดเสียดกันในยามราตรี กระซิบกันอย่างหวาดกลัวและถูกพาไปยังทางเดียวกัน ผมไปรวมกับพวกนั้น หวาดกลัว แต่ก็อยากพบและอยากได้ฟังเสียงของไนอาลาโธเทป ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้แปลกประหลาด และ ไม่อาจอธิบายได้[3]

วิลล์ เมอเรย์ตั้งข้อสังเกตว่า ไนอาลาโธเทปในความฝันของเลิฟคราฟท์นี้น่าจะมีที่มาจากการทดลองต่อสาธารณชนของนิโคลา เทสลา[4] และโรเบิร์ต เอ็ม. ไพรซ์ได้เสนอว่าชื่อของไนอาลาโธเทปนั้นอาจจะมาจากตัวละครของลอร์ดดุนซานีซึ่งเป็นนักประพันธ์ที่เลิฟคราฟท์ชื่นชอบ คือ อัลฮิเรธ โฮเทป นักทำนายปลอมในเรื่อง The Gods of Pegana และ ไมนาธิเทป เทพผู้พิโรธในเรื่อง The Sorrow of Search[5]

The Nyarlathotep Cycle[แก้]

ในปี พ.ศ. 2539 บริษัท Chaosium ได้จัดพิมพ์ The Nyarlathotep Cycle ซึ่งรวมบทประพันธ์ซึ่งเกี่ยวข้องหรือได้รับแรงบันดาลใจจากไนอาลาโธเทป The Nyarlathotep Cycle ได้รับการเรียบเรียงโดยโรเบิร์ต เอ็ม ไพรซ์ ผู้ศึกษางานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์ หนังสือเล่มนี้ได้รวมบทนำของไพรซ์ซึ่งอธิบายที่มาและพัฒนาการของไนอาลาโธเทป

ภายในเล่มประกอบด้วย:

  • "Alhireth-Hotep the Prophet" โดย Lord Dunsany
  • "The Sorrow of Search" โดย Lord Dunsany
  • "Nyarlathotep" โดย H. P. Lovecraft
  • "The Second Coming" (บทกวี) โดย William Butler Yeats
  • "Silence Falls on Mecca’s Walls" (บทกวี) โดย Robert E. Howard
  • "Nyarlathotep" (บทกวี) โดย H. P. Lovecraft
  • "The Dreams in the Witch House" โดย H. P. Lovecraft
  • "The Haunter of the Dark" โดย H. P. Lovecraft
  • "The Dweller in Darkness" โดย August Derleth
  • "The Titan in the Crypt" โดย J. G. Warner
  • "Fane of the Black Pharaoh" โดย Robert Bloch
  • "Curse of the Black Pharaoh" โดย Lin Carter
  • "The Curse of Nephren-Ka" โดย John Cockroft
  • "The Temple of Nephren-Ka" โดย Philip J. Rahman & Glenn A. Rahman
  • "The Papyrus of Nephren-Ka" โดย Robert C. Culp
  • "The Snout in the Alcove" โดย Gary Myers
  • "The Contemplative Sphinx" (บทกวี) โดย Richard Tierney
  • "Ech-Pi-El’s Ægypt" (บทกวี) โดย Ann K. Schwader

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ในวิดีโอเกมชุดเมกามิเทนเซย์ ไนอาลาโธเทปเป็นหนึ่งในปิศาจที่ปรากฏตัวในเกมหลายๆภาค ซึ่งในภาค เพอร์โซนา 2 ไนอาลาโธเทปปรากฏตัวเป็นตัวร้ายซึ่งมีบทบาทสำคัญและศัตรูตัวสุดท้าย ซึ่งในเรื่องนั้นไนอาลาโธเทปเป็นตัวแทนจิตใต้สำนึกร่วม (collective unconscious) ด้านทำลายล้างของมนุษยชาติ ตรงข้ามกับฟิเลมอนซึ่งเป็นจิตใต้สำนึกร่วมด้านสร้างสรรค์ตามทฤษฏีของคาร์ล จุงก์ ในภาค Innocent Sin นั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ยังปรากฏตัวเป็นร่างอวตารของไนอาลาโธเทปอีกด้วย

ในวิดีโอเกมและอนิเมะ เดมอนเบน เทพอสูรคำราม (Demonbane) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานประพันธ์ชุดตำนานคธูลู ไนอาลาโธเทปมีบทบาทเป็นตัวร้ายสำคัญของเรื่อง โดยนอกจากร่างจริงซึ่งเป็นเงามืดขนาดใหญ่ที่มีตาลุกเป็นไฟสามดวงและเต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บกับสายระยางแล้ว ไนอาลาโธเทปยังปรากฏตัวเป็น ไนอา เจ้าของร้านขายหนังสือซึ่งเต็มไปด้วยตำราลึกลับ ไนอาร์ลา หญิงรับใช้ของ ออกัสตา เดอเลธ บาทหลวง ไน หัวหน้าลัทธิสตารีวิสดอม และคล็อกเวิร์กแฟนธอม ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เดอุสมาคินา รวมถึงบุรุษดำนิรนามจากอียิปต์และหนูพูดได้สีดำ

ในไลท์โนเวล ไฮโยเระ! เนียร์โกะซัง (這いよれ! ニャル子さん) ซึ่งเป็นเรื่องล้อเลียนแนวตลก เนียร์โกะ ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องนั้นเป็นเด็กสาวผู้ร่าเริงจากเผ่าไนอาลาโธเทป ตามเนื้อเรื่องนั้นพี่ชายของเธอเป็นผู้เล่าเรื่องของมนุษย์ต่างดาวต่างๆให้เลิฟคราฟท์ฟัง ซึ่งเลิฟคราฟท์ได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจของเรื่องต่างๆ

อ้างอิง[แก้]

  • "Nyarlathotep". {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessmonthday= ถูกละเว้น (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  • Scott David Aniolowski (2006). Malleus Monstrorum: Creatures, Gods & Forbidden Knowledge. Hayward, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-179-4. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  • Harms, Daniel. "Nyarlathotep" in The Encyclopedia Cthulhiana (2nd ed.), pp. 218-222. Oakland, CA: Chaosium, 1998. ISBN 1-56882-119-0.
  1. Harms, The Encyclopedia Cthulhiana, "The Floating Horror", pp. 222. This name was created by Harms.
  2. Harms, "Nyarlathotep", The Encyclopedia Cthulhiana, pp. 218-9.
  3. H. P. Lovecraft, letter to Reinhardt Kleiner, December 21, 1921; cited in Lin Carter, Lovecraft: A Look Behind the Cthulhu Mythos, pp. 18-19.
  4. Will Murray, "Behind the Mask of Nyarlathotep", Lovecraft Studies No. 25 (Fall 1991); cited in Robert M. Price, The Nyarlathotep Cycle, p. 9.
  5. Price, p. vii, 1-5.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]