ใบแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ใบแดง ใช้แสดงการลงโทษในการแข่งขันกีฬา

ใบแดง เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการลงโทษผู้เล่นในกีฬาหลายประเภท โดยโทษของผู้เล่นขึ้นอยู่กับกติกาของกีฬาชนิดนั้น ๆ บางกีฬาใช้ใบเหลือง แสดงถึงโทษที่เบากว่า ในขณะที่มีกีฬาบางชนิดใช้ใบดำ หรือ ใบเขียว ด้วย

ประวัติใบแดง[แก้]

ใบแดง ในวงการฟุตบอลเกิดขึ้นครั้งแรกมาจากผู้ตัดสินฟุตบอลคนหนึ่งชื่อ เคน แอสตัน ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัญญาณไฟจราจร 3 สี คือ สีแดง (หยุด), สีเหลือง (เตรียมพร้อม), สีเขียว (ไปได้) จึงนำมาใช้ครั้งแรกในฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพ แต่ทว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวยังมิได้ถูกบรรจุไว้ในกฎกติกาสากลของการแข่งขันฟุตบอลจวบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 จึงเริ่มมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ[1]

ใบแดง - ใบเหลืองในกีฬาฟุตบอล[แก้]

เกณฑ์การแจกใบเหลือง - ใบแดง ใบแดงในกีฬาฟุตบอลนั้น จะแสดงโดยผู้ตัดสินต่อผู้เล่น ไม่ว่าจะอยู่ในสนามหรือผู้เล่นสำรองก็ดี, (หรือแม้กระทั่งผู้จัดการทีม) ที่ทำผิดกฎ กติกาการแข่งขัน โดยใบแดงเป็นสัญลักษณ์ของการไล่ออกจากสนาม ใบแดงนั้นมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่ใหญ่นัก (ประมาณว่าสามารถใส่ในกระเป๋าเสื้อได้) ใบแดงจะเป็นกระดาษที่มีสีแดงทั้ง 2 ด้านตามชื่อ เช่นเดียวกับใบเหลืองที่เป็นกระดาษสีเหลืองทั้งสองด้าน

วิธีแจกใบแดงของกรรมการคือ ในระหว่างการแข่งขัน ถ้ามีการฟาวล์เกิดขึ้น กรรมการจะเป่านกหวีดโดยหยุดเกมชั่วคราว ถ้ากรรมการเห็นว่าการฟาวล์นั้นเป็นการทำผิดกติกาอย่างจงใจหรือทำฟาวล์อย่างรุนแรง กรรมการจะเรียกนักเตะคนนั้นมาหาตน จากนั้นกรรมการจะชูใบแดงขึ้น ถือว่าผู้เล่นนั้นได้รับใบแดงแล้ว และจะต้องไล่ออกจากสนามแข่งขัน ซึ่ง การได้รับใบแดงนั้น ส่วนมากจะเกิดจากการกระทำผิดรุนแรง เช่น ทำร้ายผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามโดยเจตนา, พยายามเข้าสไลด์หรือสกัดบอลแล้วไม่ถูกลูกบอลแต่ถูกผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามแทน และการสกัดนั้นอาจส่งผลทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บอย่างรุนแรง (โดยส่วนมากจะเป็นการสกัดบอลโดยการสไลด์เข้าทางด้านหลังของคู่แข่ง), แต่ถ้าการฟาล์วไม่รุนแรงมากนักกรรมการจะแจกใบเหลืองเป็นการตักเตือน ถ้าผู้เล่นคนเดิมได้ใบเหลือง 2 ครั้งก็ต้องถูกไล่ออกจากสนาม (2 ใบเหลืองมีค่าเท่ากับ 1 ใบแดง)

แต่อย่างไรก็ดี มีผู้เล่นบางส่วนที่ได้รับใบแดงโดยที่ไม่ได้กระทำผิดก็มี เช่น ได้รับใบแดงอันเนื่องจากแสดงความดีใจหลังจากที่ยิงประตูได้ด้วยการถอดเสื้อ ทั้งนี้มีทีมาจาก การที่เคยมีนักเตะยิงประตูได้แล้วแสดงความดีใจด้วยการถอดเสื้อ แต่หลังจากที่กรรมการเป่านกหวีดเล่นเกมต่อแล้วนักเตะคนนั้นยังใส่เสื้อไม่เรียบร้อยแล้ววิ่งไล่บอลในสภาพที่มือกำลังถือเสื้ออยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการถอดเสื้อแสดงความดีใจก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการว่าจะแจกเพียงใบเหลืองหรือไม่แจกใบใด ๆ เลยก็ได้

ผลกระทบจากใบเหลือง - ใบแดง[แก้]

ถ้าผู้เล่นได้รับใบแดงก่อนการเริ่มเล่น สามารถส่งผู้เล่นสำรองทดแทนได้ แต่หากผู้เล่นถูกไล่ออกหลังจากเกมเริ่มแล้ว จะต้องออกจากสนาม และฝ่ายของผู้เล่นที่ถูกใบแดงจะมีผู้เล่นลดลง 1 คน (คือไม่สามารถส่งผู้เล่นลงแทนผู้เล่นที่ถูกใบแดงได้) หากในทีม ๆ หนึ่งมีผู้เล่นได้รับใบแดงเกิน 4 คนจะถูกปรับแพ้ (กติกาของฟุตบอลบัญญัติไว้ว่าในทีม ๆ หนึ่งต้องส่งผู้เล่นลงสนามไม่เกิน 11 คน แต่ไม่ต่ำกว่า 7 คน)

ในการแข่งขันฟุตบอลลีกทั่ว ๆ ไป ผู้เล่นที่ได้รับใบแดงในการแข่งขันนัดหนึ่ง จะไม่สามารถลงสนามได้ในอีก 3 นัดถัดไปด้วย (เรียกว่า โทษแบน) ผู้ที่ได้รับใบแดงจะถูกแบน 3 นัด, ผู้ที่ได้รับใบเหลืองจากเกมนัดต่าง ๆ รวมกันครบ 5 ใบหรือโดนใบเหลือง 2 ใบในเกมเดียวจะถูกแบน 1 นัด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับใบแดง - ใบเหลืองในกีฬาฟุตบอล[แก้]

  • ใบแดงโดยปกติจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่ในปี ค.ศ. 2001 ลุค แชทวิค ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้รับใบแดงที่มีลักษณะเป็นวงกลม
  • ในการแข่งขันฟุตบอลโลก มีผู้เล่นคนหนึ่งที่ได้รับใบเหลือง 3 ใบ: ฟุตบอลโลก 2006 การแข่งขันระหว่างโครเอชีย - ออสเตรเลีย ผู้เล่นของโครเอเชีย โจซิพ ซิมูนิค ได้รับใบเหลืองจาก เกรแฮม โพล จนถึงใบที่ 2 เกรแฮมโพลล์ก็ไม่ได้แจกใบแดงให้แก่ซิมูนิคแต่อย่างใด (การที่จะไล่ผู้เล่นออกหลังจากที่ได้รับใบเหลืองใบที่ 2 ผู้ตัดสินต้องชูใบแดงตามด้วย) จนในที่สุดซิมูนิคก็ถูกไล่ออกหลังจากที่ได้รับใบเหลืองใบที่สาม เกมจบลงด้วยการเสมอ 2-2 โดยหลังจากนัดนั้น เกรแฮมโพลล์ได้ออกมายอมรับความผิดพลาดและประกาศไม่ขอตัดสินเกมระดับชาติอีก [2]
  • ใบเขียว นอกจากใบแดงหรือใบเหลืองแล้ว ยังมีใบเขียวด้วย โดยปรากฏครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ในการแข่งขันระหว่างวีร์ตุสเอนเตลลา กับ วิเชนซา ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับกัลโชเซเรียบีของอิตาลี โดยผู้ตัดสินให้ใบเขียวแก่ คริสเตียน กาลาโน ผู้เล่นของวิเชนซา ในฐานะผู้เล่นที่มีพฤติกรรมดีเด่นในสนาม ในนาทีที่ 53 โดยเป็นผู้บอกกับผู้ตัดสินว่า ลูกบอลได้ออกหลังประตูไปโดยที่ไม่โดนตัวใครเลย ทำให้ผู้ตัดสินเปลี่ยนคำตัดสินจากให้วิเชนซ่าได้ลูกเตะมุมเป็นผู้รักษาประตูของวีร์ตุสเอนเตลลาเตะเปิดลูกออกมา ถึงแม้ว่าวิเชนซาจะแพ้ไป 4-1 ก็ตาม โดยสมาคมฟุตบอลอิตาลีได้ทำการอนุมัติให้ใช้ใบเขียวเป็นครั้งแรกในปีนี้ [3] แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไร้สาระ ควรจะยกเลิกโดยเร็วที่สุด[4]

ใบแดง - ใบเหลือง ที่ไม่ใช่ในวงการกีฬา[แก้]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งราชอาณาจักรไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทำผิดกฎกติกา เช่น มีการซื้อเสียง จะได้รับใบแดง - ใบเหลือง จาก กกต.

ผู้สมัครที่รับใบแดง จะได้รับเนื่องจากกระทำผิดกติกาการเลือกตั้ง "ที่มีหลักฐานชัดเจน" จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้น ๆ ได้ หากได้รับเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งในเขตที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งจะเป็นอันโมฆะ และมีการเลือกตั้งใหม่โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งคนที่ถูกใบแดงดังกล่าวจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองแล้วถูกใบแดง อาจส่งผลถึงการตัดสินยุบพรรคด้วย ซึ่งการยุบพรรคคือ พรรคการเมืองดังกล่าวต้องยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด และกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดจะต้องถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง คือ ไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งใด ๆ ได้ เป็นเวลา 5 ปี

ส่วนใบเหลืองนั้น ผู้สมัครจะได้รับเนื่องจาก "มีการกระทำที่น่าสงสัย หรือเชื่อได้ว่ากระทำผิดกติกาการเลือกตั้ง" กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งในเขตนั้น ๆ ใหม่อีกครั้ง โดยที่ผู้สมัครที่ได้รับใบเหลืองยังมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งได้

อ้างอิง[แก้]

  1. "ทำไมต้องแจกใบแดง-ใบเหลือง". สนุกดอตคอม. 26 November 2013. สืบค้นเมื่อ 22 May 2014.
  2. http://www.worldcupfails.com/2010/05/josip-simunics-three-yellow-cards.html เก็บถาวร 2012-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Josip Simunic's three yellow cards
  3. kubo22 (2016-10-10). "ประวัติศาสตร์!แข้งเซเรียบีประเดิมโดนใบเขียวคนแรกในโลก". football-crazy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-13. สืบค้นเมื่อ 2016-10-11.
  4. "สื่อนอกชี้ "ใบเขียว" สุดไร้สาระ ควรยกเลิกให้ไว". สยามสปอร์ต. 2016-10-10. สืบค้นเมื่อ 2016-10-11.