โยชิกาซุ ฮิงาชิตานิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โยชิกาซุ ฮิงาชิตานิ
東谷 義和
สมาชิกราชมนตรีสภา
ดำรงตำแหน่ง
26 กรกฎาคม 2565 – 14 มีนาคม 2566
เขตเลือกตั้งสัดส่วน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด6 ตุลาคม พ.ศ. 2514 (52 ปี)
อิตามิ, ประเทศญี่ปุ่น
พรรคการเมืองพรรคปกป้องประชาชนจากเอ็นเอชเค
ศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมปลายอิตามิ-นิชิ
อาชีพ

โยชิกาซุ ฮิงาชิตานิ (ญี่ปุ่น: 東谷 義和โรมาจิHigashitani Yoshikazu; เกิด 6 ตุลาคม 2514) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ กาชิ (อังกฤษ: GaaSyy; ญี่ปุ่น: ガーシーโรมาจิGāshī) เป็นอดีตนักการเมืองญี่ปุ่น อดีตยูทูบเบอร์ และอดีตนักธุรกิจ[1] ซึ่งเคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในราชมนตรีสภาแห่งประเทศญี่ปุ่นในปี 2565 ในฐานะสมาชิกพรรคปกป้องประชาชนจากเอ็นเอชเค[1][2][3] โยชิกาซุถูกขับให้พ้นจากสมาชิกแห่งราชมนตรีสภาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 เนื่องจากไม่เข้าประชุมสภา และในวันถัดมากรมตำรวจนครบาลโตเกียวได้ออกหมายจับข้อหาหมิ่นประมาทผู้มีชื่อเสียงในวิดีโอยูทูบที่โยชิกาซุทำขึ้น

อาชีพการงาน[แก้]

กาชิมีชื่อเสียงในปี 2565 หลังจากเริ่มทำช่องยูทูบที่พูดถึงเรื่องอื้อฉาวที่อาจมีขึ้นในวงการอุตสาหกรรมบันเทิง ช่องของกาชิมีผู้บอกรับสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคนก่อนต้องปิดตัวลงในเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน ความสำเร็จของกาชิทำให้ทากาชิ ทาจิบานะ หัวหน้าพรรคปกป้องประชาชนจากเอ็นเอชเคซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการปฏิรูปสื่อสาธารณะของญี่ปุ่นเชิญชวนให้กาชิลงสมัครชิงตำแหน่งในราชมนตรีสภาประจำปี 2565 กาชิยังระบุต่อไปว่าจะปฏิบัติงานจากนอกประเทศ และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่า 287,000 คะแนน[4]

ณ เดือนกรกฎาคม 2565 กาชิอาศัยอยู่ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[5] ในเดือนสิงหาคม 2565 กาชิไม่เข้าร่วมประชุมสภาในวันแรกที่กาชิจะต้องเข้าร่วมประชุมโดยอ้างว่ากลัวการจับกุมหากไปปรากฎตัวในญี่ปุ่น เนื่องจากตนถูกกล่าวหาว่ากระทำการฉ้อฉลและหมิ่นประมาทผู้มีชื่อเสียง[6][7] กาชิยังไม่เข้าประชุมสภาแห่งราชมนตรีครั้งอื่น ๆ อีกเลย แต่ยังคงออกความเห็นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่อไป[8]

ในเดือนมกราคม 2566 สถานที่ตั้งที่เกี่ยวข้องกับกาชิและบริษัทจัดการรายได้โฆษณาของกาชิถูกตำรวจเข้าตรวจค้นเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาการหมิ่นประมาทและคุกคามผู้มีชื่อเสียง และการขัดขวางการดำเนินกิจการ กรมตำรวจนครบาลโตเกียวยังขอให้กาชิเดินทางเข้ามาให้ปากคำด้วยตนเองด้วย[9]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราชมนตรีสภาเรียกให้กาชิเดินทางมาที่กรุงโตเกียวและขอโทษด้วยตนเองจากการที่กาชิไม่เข้าประชุมสภาในระหว่างที่สภาเปิดประชุม ซึ่งถือเป็นมาตรการทางวินัยลำดับรองสุดท้ายก่อนขับพ้นจากสมาชิกสภา กาชิเดิมให้คำมั่นว่าจะเดินทางไป แต่ปฏิเสธที่จะเดินทางไปเนื่องจากกลัวการถูกดำเนินคดี แม้ว่าสมาชิกสภาในญี่ปุ่นจะมีเอกสิทธิ์คุ้มกันทางกฎหมายที่ไม่ถูกดำเนินคดีก็ตาม การกลับคำเช่นนี้ทำให้ทาจิบานะซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคต้องลาออกและให้อายากะ โอตสึซึ่งเป็นนักแสดงขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน[8] กาชิยังเผยแพร่วิดีโอที่ระบุว่าตนจะเดินทางไปที่กาซีอันเท็พ ประเทศตุรกีเพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและประเทศซีเรีย พ.ศ. 2566[10][11]

คณะกรรมาธิการวินัยแห่งราชมนตรีสภาได้มีมติออกเสียงขับกาชิพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม และราชมนตรีสภาได้ดำเนินการดังกล่าวในวันถัดมา คะแนนเสียงการขับพ้นจากสมาชิกสภามีมติ 235-1 ให้พ้นจากสภา โดยมีซาโตชิ ฮามาดะ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่วมพรรคการเมืองเดียวกับกาชิออกเสียงคัดค้านเท่านั้น การขับพ้นจากสมาชิกสภานี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี และเป็นครั้งแรกสุดที่มีการขับพ้นสมาชิกเนื่องจากไม่ประชุมสภา[11] หลังจากการออกเสียงขับพ้นจากสมาชิก อายากะ โอตสึซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแสดงความไม่พึงพอใจโดยระบุว่ากาชิได้ระบุในการหาเสียงอย่างเปิดเผยว่าจะปฏิบัติหน้าที่จากต่างประเทศ ดังนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมต้องยอมรับได้จากการที่กาชิจะเลือกปฏิบัติหน้าที่นอกสถานที่[11]

การขับพ้นจากราชมนตรีสภาทำให้กาชิไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันจากการดำเนินคดีที่สมาชิกสภาพึงมีในระหว่างที่เปิดสมัยประชุมสภาอยู่[4][12] ในวันที่ 16 มีนาคม 2566 กรมตำรวจนครบาลโตเกียวได้ยื่นขอหมายจับกาชิในข้อหาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทที่ปรากฎในวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงบรรณาธิการของกาชิด้วย และยังขอให้กระทรวงการต่างประเทศเรียกให้กาชิส่งคืนหนังสือเดินทางด้วย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "【比例】NHK党「ガーシー」東谷義和氏が当選確実 ユーチューブ生配信「あざーす。いえーい」 - 社会 : 日刊スポーツ". 日刊スポーツ. July 11, 2022. สืบค้นเมื่อ July 11, 2022.
  2. "NHK党のガーシー氏、比例で当選 参議院選挙". 日本経済新聞. July 11, 2022. สืบค้นเมื่อ July 11, 2022.
  3. "ガーシーこと東谷義和氏が当選確実 47の暴露話が解禁へ【参院選】 | 東スポのニュースに関するニュースを掲載". 東スポ. July 11, 2022. สืบค้นเมื่อ July 11, 2022.
  4. 4.0 4.1 4.2 Takahara, Kanako (March 16, 2023). "Police seek arrest warrant for expelled lawmaker GaaSyy". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ March 16, 2023.
  5. "NHK党のガーシー氏が当選確実". 産経ニュース. July 11, 2022. สืบค้นเมื่อ July 11, 2022.
  6. "Diet rejects request by NHK Party lawmaker to remain abroad". The Asahi Shimbun. August 3, 2022. สืบค้นเมื่อ March 15, 2023.
  7. Khalil, Shaimaa (March 14, 2023). "GaaSyy: Japan YouTuber MP expelled for never going to work". BBC. สืบค้นเมื่อ March 15, 2023.
  8. 8.0 8.1 May, Tiffany; Ueno, Hisako (March 15, 2023). "How to Get Kicked Out of Parliament: Livestream Instead of Legislating". The New York Times. สืบค้นเมื่อ March 16, 2023.
  9. "Tokyo police search locations linked to YouTuber lawmaker GaaSyy". The Japan Times. Jiji Press, Kyodo News. January 13, 2023. สืบค้นเมื่อ March 16, 2023.
  10. Khalil, Shaimaa (March 15, 2023). "GaaSyy: Japan YouTuber MP expelled for never going to work". BBC News. สืบค้นเมื่อ March 15, 2023.
  11. 11.0 11.1 11.2 Yamamoto, Arata; Gupta, Kamakshi (March 15, 2023). "Japanese YouTuber loses seat in Parliament after not showing up to work". NBC News. สืบค้นเมื่อ March 16, 2023.
  12. Ninivaggi, Gabriele; Takahara, Kanako (March 14, 2023). "Upper House committee votes to expel GaaSyy from Japan's parliament". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ March 16, 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]