ข้ามไปเนื้อหา

แอ็นสท์ อับเบอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอ็นสท์ คาร์ล อับเบอ
Ernst Karl Abbe
เกิด23 มกราคม ค.ศ. 1840(1840-01-23)
ซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค ไอเซอนัค
เสียชีวิต14 มกราคม ค.ศ. 1905(1905-01-14) (64 ปี)
เยนา
สัญชาติธงของประเทศเยอรมนี เยอรมนี
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน
มหาวิทยาลัยเยนา
มีชื่อเสียงจากเลขอับเบอ
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยเยนา
คาร์ลไซส์ อาเก
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกวิลเฮ็ล์ม เอดูอาร์ท เวเบอร์
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกไฮน์ริช ฟรีดริช เวเบอร์
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆก็อทโลพ เฟรเกอ

แอ็นสท์ คาร์ล อับเบอ (เยอรมัน: Ernst Karl Abbe; 23 มกราคม 1840 – 14 มกราคม 1905) เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ทั้งยังเป็นผู้ประกอบการและนักปฏิรูปสังคมด้วย

เขาได้ร่วมกับอ็อทโท ช็อท และคาร์ล ไซส์ พัฒนาอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์จำนวนมาก เขายังเป็นหุ้นส่วนในบริษัทคาร์ลไซส์ อาเก ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบทางแสงขั้นสูงของเยอรมนี เช่น กล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทรรศน์ ท้องฟ้าจำลอง

ชีวประวัติ

[แก้]

อับเบอเกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 1840 ในเมืองไอเซอนัค ในรัฐซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค[1] พ่อของเขาชื่อ เกออร์ค อาดัม อับเบอ (Georg Adam Abbe) เป็นหัวหน้าคนงานในโรงงานปั่นด้าย และแม่ของเขาชื่อ เอลีซาเบ็ท คริสทีนา บาร์ชเฟ็ลท์ (Elisabeth Christina Barchfeldt) ไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวย[2] เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมโดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทของพ่อ และจบการศึกษาในปี 1857 ด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยมจากโรงเรียนในไอเซอนัค[3]

พ่อของอับเบอตัดสินใจให้เขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแม้ว่าจะประสบปัญหาทางการเงินก็ตาม[1] อับเบอได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยนาตั้งแต่ปี 1857 ถึง 1859 และมหาวิทยาลัยเกิททิงเงินตั้งแต่ปี 1859 ถึง 1861 ในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัย เขาทำงานเป็นครูสอนพิเศษเพื่อหาเงิน นอกจากนี้บริษัทของพ่อเขายังคงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนของเขา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1861 เขาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน[3] ในระหว่างการศึกษาของเขา เขาได้รับอิทธิพลจากแบร์นฮาร์ท รีมัน และวิลเฮ็ล์ม เอดูอาร์ท เวเบอร์ แต่เวเบอร์ตกงานเนื่องจากเหตุการณ์ศาสตราจารย์เกิททิงเงิน[4]

หลังจากนั้นอับเบอจึงได้มาทำงานที่หอดูดาวเกิททิงเงินและในฟรังค์ฟวร์ทอัมไมน์เป็นเวลาสั้น[4] เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1863 เขามีคุณสมบัติเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยเยนา และในปี 1870 ได้เป็นรองศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทดลอง กลศาสตร์ และคณิตศาสตร์[1][5] ในปี 1879 เขาได้เป็นศาสตราจารย์เต็มตัว[2] ในปี 1878 เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยหอดูดาวเยนา[5] ในปี 1889 เขาได้เป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไบเอิร์น และเขายังเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์ซัคเซิน

ในปี 1891 เขาเกษียณจากการสอนที่มหาวิทยาลัยเยนา และเสียชีวิตในเยนาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 1905[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Blasius 1953
  2. 2.0 2.1 Debus et al. 1968
  3. 3.0 3.1 Günther 1970
  4. 4.0 4.1 Günther 1970
  5. 5.0 5.1 Hoiberg 2010