แม่พระพิลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แม่พระพิลก หรือ พระเทวี เป็นพระนามที่กล่าวถึงพระชายาพระองค์หนึ่งที่ไม่ปรากฏพระนามในพญาสามฝั่งแกน[1] และพระมหาเทวีในพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ถือเป็นมหาเทวีที่มีบทบาทสูงยิ่งในราชสำนัก ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเมืองลำปาง-เขลางค์จนมีอำนาจมากพอที่ยึดอำนาจจากพระราชสวามี และเกื้อหนุนพระราชโอรสในการปกครองอาณาจักรล้านนาร่วมกันตลอดพระชนม์ชีพ

พระราชประวัติ[แก้]

พระองค์มีพระนามว่ากระไรไม่ปรากฏ มีการกล่าวถึงในจารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตาเรียกว่า “แม่พระพิลก”[2][3] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ว่าชื่อดังกล่าวมีความหมายว่าพระราชชนนีมหาเทวีในพระเจ้าติโลกราช[4] ส่วนชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า “พระเทวี”[5] พระองค์เป็นน้องสาวของหมื่นโลกนครเจ้าเมืองลำปาง (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นหมื่นโลกสามล้านในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช)[6] พระองค์มีความสัมพันธ์บางประการกับเมืองแพร่[7][8] อาจมีความสัมพันธ์เครือญาติกับเมืองสุโขทัยด้วย ดังปรากฏการทำบุญสร้างพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตาร่วมกับพระราชชนนีของพระมหาธรรมราชาพระองค์หนึ่งของสุโขทัย[9][10] เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมีว่าพระองค์มีความสัมพันธ์ฉันญาติกับพระบรมครูติโลกดิลกติรัตนศิลคันธวันวาสีว่าอาจเป็นพระชนกของแม่พระพิลก ซึ่งสอดคล้องกับพระนามของพระเจ้าติโลกราช พระราชโอรสตามทำเนียมการนำชื่อบรรพบุรุษมาตั้งชื่อหลาน[11] ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ว่าแม่พระพิลกเป็นพี่น้องหรือเครือญาติกับนางษาขาพระราชชนนีในพระมหาธรรมราชาที่ 4[12]

หลังการอภิเษกสมรสกับพญาสามฝั่งแกน ประสูติกาลพระราชโอรสคือพระเจ้าติโลกราชพระราชโอรสลำดับหกซึ่งอยู่ห่างไกลต่อการสืบราชสมบัติ แต่จากการสนับสนุนของกลุ่มเจ้านายลำปาง-เขลางค์ ญาติวงศ์ฝ่ายพระราชชนนี จึงทำให้พระเจ้าติโลกราชยึดราชสมบัติจากพระราชชนกและครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 1985[4][8][13] ซึ่งพระมหาเทวีมีบทบาททางการเมืองสูงมาก เพราะพระเจ้าติโลกราชยังครองราชย์ปกครองบ้านเมืองอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของพระมหาเทวี[14] ปรากฏการกล่าวถึงทั้งสองพระองค์คู่กันว่า มหาราชเจ้าทั้งสองพระองค์ หรือ พระเป็นเจ้าแม่ลูก มาตลอด[10] และยังปรากฏใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าพระมหาเทวีสำเร็จราชการปกครองอาณาจักรเพียงลำพังพระองค์ ความว่า[5]

“เมื่อปีนั้นเป็นปีเถาะอยู่ พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิราชาธิราช ทรงปรารถนาจะเป็นทายาทแห่งพระศาสนาเพื่อสนองคุณพระบรมชนกชนนี จึงมอบราชสมบัติให้แก่พระเทวี ผู้เป็นพระราชมารดาของพระองค์ แล้วทรงผนวช”

นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราชให้ยกทัพไปตีนครรัฐแพร่ ในเวลาเดียวกันพระเจ้าติโลกราชเองจะยกทัพไปตีนครรัฐน่าน ดังปรากฏใน พื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการยกทัพไปครั้งนั้น หาได้รบกันจริงจัง หากแต่เป็นการเจรจากับท้าวแม่นคุณ เจ้าเมืองแพร่ ว่าให้ออกมาถวายบังคม หลังจากที่ท้าวแม่นคุณออกมาถวายบังคมแล้ว พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวแม่นคุณครองเมืองแพร่ต่อไปก่อนยกทัพกลับ[15] ถือเป็นชัยชนะที่รวดเร็วและง่ายดายยิ่ง[8] หลังจากนั้นเป็นต้นมานครรัฐแพร่จึงถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 1987[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (27 กรกฎาคม 2555). "ใครคือ “มหาเทวีแม่ลูกสอง” ผู้มิใช่ “มหาเทวีสองแม่ลูก”". มติชนสุดสัปดาห์. 32:1667, หน้า 76
  2. "จารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย ‎(จารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2547, หน้า 250
  4. 4.0 4.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 48
  5. 5.0 5.1 พระรัตนปัญญา (เขียน) แสง มนวิทูร (แปล). ชินกาลมาลีปกรณ์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์แก่นายกี นิมมานเหมินท์ เนื่องในวันเปิดตึกคนไข้พิเศษ “นิมมานเหมินท์-ชุติมา”. กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์, 2510, หน้า 125
  6. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 94
  7. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 93
  8. 8.0 8.1 8.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 215
  9. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 96, 103
  10. 10.0 10.1 "เมืองเชียงใหม่". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  11. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 107-111
  12. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 219
  13. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 97
  14. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, หน้า 105
  15. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543, หน้า 84-85
  16. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552, หน้า 103, 189