แมลงทับ
แมลงทับ | |
---|---|
แมลงทับกลมขาเขียว (Sternocera aequisignata) เป็นชนิดที่พบได้ในภาคกลางของไทย | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ชั้น: | Insecta |
อันดับ: | Coleoptera |
อันดับย่อย: | Polyphaga |
อันดับฐาน: | Elateriformia |
วงศ์ใหญ่: | Buprestoidea |
วงศ์: | Buprestidae Leach, 1815 |
วงศ์ย่อย | |
แมลงทับ เป็นแมลงในอันดับแมลงปีกแข็ง (Coleoptera) โดยจัดอยู่ในวงศ์ Buprestidae
แมลงทับมีรูปร่างโดยรวม คือ มีลำตัวยาวโค้งนูน ส่วนที่เป็นปีกแข็งมีความแข็งมาก หัวมีขนาดเล็กซ่อนอยู่ใต้อกปล้องแรกซึ่งโค้งมนเรียวไปทางหัวเชื่อมกับอกปล้องกลางซึ่งกว้างกว่าส่วนอื่น ๆ ท้องมนเรียวไปทางปลายหาง ปีกแข็งหุ้มส่วนท้องจนหมด[1] มีหนวดที่เป็นแบบใบไม้ มีลักษณะเด่น คือ มีสีสันที่สวยงามมาก หลายชนิด หลายสกุลมีสีเงางามแวววาวราวกับอัญมณี หลายชนิดเป็นสีที่หลากหลาย ทั้ง น้ำเงิน, แดง, ดำ และเหลือง จึงทำให้แมลงทับถูกมนุษย์จับนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ มานานแล้วในหลายชนชาติ
แมลงทับพบในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ปัจจุบันพบแล้วกว่า 15,000 ชนิด ใน 450 สกุล และที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นซากดึกดำบรรพ์กว่า 100 ชนิด บางชนิดมีความยาวถึง 77 มิลลิเมตร[2]
แมลงทับเมื่อขยายพันธุ์ จะเจาะเข้าไปวางไข่ในต้นไม้หรือวางไข่ไว้ในดินใกล้รากของไม้ที่ตัวหนอนจะกินเป็นอาหาร จึงนับเป็นแมลงศัตรูพืชอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งแมลงทับใช้เวลาในการเป็นไข่-ตัวหนอน-ดักแด้ราว 1 ปี เหมือนเช่นแมงคีมหรือด้วงกว่าง อันเป็นแมลงปีกแข็งแต่ต่างวงศ์กัน
แมลงทับนับเป็นแมลงปีกแข็งที่บินได้เร็วและสูงมาก และเมื่อถูกรบกวนจะมีพฤติกรรมแกล้งตาย โดยจะอยู่เฉย ๆ หรือหล่นจากต้นไม้ที่เกาะอยู่เพื่อลวงศัตรูให้เข้าใจผิดว่าตายแล้ว
สำหรับแมลงทับชนิดที่พบในประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ แมลงทับกลมขาเขียว (Sternocera aequisignata) พบมากในภาคกลาง และแมลงทับกลมขาแดง (S . ruficornis) พบมากในภาคอีสาน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้กินใบอ่อนของมะขามเทศเป็นอาหาร และมีสีเขียวเหลือบทองเป็นมันแวววาวทั้งคู่ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีความพยายามของทางการที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์ของแมลงทับมิให้สูญพันธุ์ และมีการนำเอาปีกแมลงทับทั้ง 2 ชนิดนี้ทำเป็นงานหัตถกรรมชนิดต่าง ๆ ในโครงการพระราชดำริ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ความหมายของ ทับ ๓. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2011.
- ↑ "The first fossil buprestids from the Middle Jurassic Jiulongshan Formation of China (Coleoptera: Buprestidae)". Zootaxa. 2745: 53–62. 2011. (ในภาษาอังกฤษ).
- ↑ เรื่องที่ ๖ การตลาดและการส่งออกศิลปหัตถกรรม / การตั้งโรงฝึกศิลปาชีพในส่วนกลาง. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. Vol. 21. มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bellamy, C.L. & Nelson, G.H. (19 มิถุนายน 2002): Buprestidae. ใน: Arnett, Ross H. Jr. & Thomas, Michael C.: American Beetles (Volume II). CRC Press. ISBN 978-0849-30954-0.
- Akiyama, K. & S. Ohmomo. 2000. The Buprestid Beetles of the World. Iconographic Series of Insects 4. ISBN 4-943955-04-5. 341 หน้า. ภาพสีประกอบ 120 ภาพ.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Buprestidae
- ภาพ ที่ Flickr
- Jewel Beetle ภาพถ่ายรายละเอียดสูงที่ Western Australian Museum