ข้ามไปเนื้อหา

แซ็งฟอนีฟ็องตัสติก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเขียนแฮร์เรียต สมิทสัน ขณะรับบทเป็น โอฟีเลีย

แซ็งฟอนีฟ็องตัสติก: เอปิซอดเดอลาวีดูว์นาร์ติสต์...อ็องแซ็งก์ปาร์ตี (ฝรั่งเศส: Symphonie Fantastique: Épisode de la vie d'un Artiste...en cinq parties) หรือมักเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า แซ็งฟอนีฟ็องตัสติก (Symphonie fantastique) เป็นโปรแกรมซิมโฟนีที่แต่งโดยแอ็กตอร์ แบร์ลีโยซ คีตกวีคนสำคัญของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1830 ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญในช่วงต้นของยุคโรแมนติก ซิมโฟนีชุดนี้จัดแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Conservatoire de Paris กรุงปารีส เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1830 แบร์ลีโยซได้ปรับปรุงผลงานชิ้นนี้เรื่อยมา ตั้งแต่ปี 1831 ถึง 1845

แซ็งฟอนีฟ็องตัสติกเล่าเรื่องราวของศิลปินคนหนึ่งที่มากด้วยพรสวรรค์และจินตนาการ แต่ไม่สมหวังเรื่องความรัก จึงเกิดอาการหดหู่และหันไปสูบฝิ่น จนเกิดอาการประสาทหลอน จินตนาการไปว่าเขาบันดาลโทสะสังหารเธอ ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ และในงานศพของตัวเอง ได้มีการเต้นรำอย่างบ้าคลั่งโดยเหล่าวิญญาณที่ขึ้นมาจากนรก ณ ที่นั้นเขาได้พบกับหญิงผู้เป็นที่รักอีกครั้งหนึ่ง

แบร์ลีโยซแต่งซิมโฟนีชุดนี้เพื่อบรรยายความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อแฮร์เรียต สมิทสัน [1] นักแสดงหญิงชาวไอริชที่เขาตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ ขณะนั้นเธอรับบทเป็นโอฟีเลียในเรื่องแฮมเลต จากผลงานของเชกสเปียร์ซึ่งแบร์ลีโยซได้ชมการแสดงเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1827 เขาส่งจดหมายรักถึงเธอเป็นจำนวนมาก แต่เธอไม่เคยตอบกลับ เนื่องจากคิดว่าเป็นเพียงการเกี้ยวพาราสี [2] ครั้งหนึ่งเขาตัดสินใจไปรอพบเธอหลังเวทีแสดงเพื่อสารภาพรักด้วยตัวเอง กลับไปพบแฮร์เรียตกำลังซ้อมบทรักกับนักแสดงอื่นอยู่ ด้วยความเข้าใจผิด แบร์ลีโยซจึงจากไปด้วยความผิดหวัง และระบายอารมณ์สะเทือนใจด้วยการแต่งซิมโฟนีบทนี้ขึ้นมา[3]

แฮร์เรียตไม่ได้ชมแซ็งฟอนีฟ็องตีสติกตั้งแต่รอบแรก เนื่องจากต้องย้ายไปแสดงที่อื่น เธอได้ชมการแสดงที่แบร์ลีโยซร่วมบรรเลงในสองปีต่อมา และรับรู้ถึงสารแบร์ลีโยซตั้งใจส่งให้ หลังการแสดงแบร์ลีโยซได้พบกับแฮร์เรียตและขอแต่งงานกับเธอ ทั้งคู่แต่งงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1833 ก่อนจะแยกทางกันหลังจากแต่งงานได้ 9 ปี

ซิมโฟนีชุดนี้แบ่งออกเป็น 5 ท่อน ซึ่งแตกต่างจากแบบแผนของซิมโฟนีอื่น ๆ ที่นิยมแบ่งเป็น 4 ท่อน ได้แก่

  • I. "Rêveries - Passions" (Daydreams - Passions)
  • II. "Un bal"(A Dance)
  • III. "Scène aux champs"(Scene in the Fields)
  • IV. "Marche au supplice"(March to the Scaffold)
  • V. "Songe d'une nuit de sabbat"(Dreams of a Witches' Sabbath)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Think Quest". Library.thinkquest.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-06. สืบค้นเมื่อ 2010-03-13.
  2. "Naxos Records". Naxos.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-13. สืบค้นเมื่อ 2010-03-13.
  3. สุรพงษ์ บุนนาคดนตรีแห่งชีวิต. กรุงเทพ : สารคดี, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2549. 655 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-484-175-3

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]