เอ็กซ์ (สุนัขตำรวจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุนัขตำรวจตรี
เอ็กซ์
สปีชีส์สุนัข
สายพันธุ์เยอรมันเชเพิร์ด[1]
เพศเพศผู้
เกิดไม่ทราบ
ตาย19 ตุลาคม พ.ศ. 2517
จังหวัดยะลา ประเทศไทย
บทบาทที่โดดเด่นสุนัขตำรวจในภารกิจความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2513–2517
เป็นที่รู้จักสำหรับวีรบุรุษสุนัขตำรวจ
ผู้ฝึกสอนสิบตำรวจโท ศักดา มาลา (ผู้ควบคุม)
ยศสุนัขตำรวจตรี (ได้รับภายหลัง)
ช่วงปฏิบัติงานพ.ศ. 2513–2517
เจ้าของกองกำกับการสุนัขตำรวจ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
น้ำหนัก33 กิโลกรัม (73 ปอนด์) (ช่วงเข้าประจำการ)
สัณฐานสีดำเหลือง

สุนัขตำรวจตรี เอ็กซ์ (ไม่ทราบวันเกิด – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2517) เป็นสุนัขตำรวจที่ตายจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อครั้งที่มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเอ็กซ์ได้รับการขนานนามในฐานะ "วีรบุรุษสุนัขตำรวจ"[2]

เรื่องราวของเอ็กซ์ เคยได้รับการถ่ายทอดผ่านรายการ นาทีฉุกเฉิน ทางช่อง 5

ประวัติ[แก้]

เอ็กซ์เป็นสุนัขสายพันธุ์เยอรมันเชเพิร์ดสีดำเหลืองเพศผู้ ซึ่งเข้าประจำการในปี พ.ศ. 2513 เมื่ออายุประมาณ 6 ปี โดยมีน้ำหนักในขณะนั้นที่ 33 กิโลกรัม และมีผู้ควบคุมชื่อสิบตำรวจโท ศักดา มาลา ผู้บังคับการหมู่งานสายตรวจ[2][3][4]

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2517 ศักดา มาลา และเอ็กซ์ ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 4 จังหวัดภาคใต้ โดยในวันที่ 19 ตุลาคม ทั้งสองได้ออกลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกำกับการ ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา[2][3][4]

พวกเขาได้พบกับที่พักแรมของคนร้ายที่เพิ่งรื้อถอน จึงได้มีการให้เอ็กซ์ดมกลิ่นเสื้อผ้าที่คนร้ายได้ทิ้งไว้ แล้วเดินเข้าป่าสวนยางเชิงเขาลึกประมาณ 1 กิโลเมตร เมื่อเอ็กซ์หยุดเดินแล้วเงยหน้า หู–หางตั้ง และปากหุบ ทำให้ศักดารู้แล้วว่ามีคนร้ายอยู่ในบริเวณนี้ เขาจึงแสดงสัญญาณให้เจ้าหน้าที่หลบเข้าที่กำบัง[2][3][4]

ในที่สุด ก็ได้มีเสียงปืนดังขึ้น และเกิดการยิงปะทะกันประมาณ 5 นาที เอ็กซ์ถูกยิงจนสิ้นใจ โดยที่ศักดากลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เนื่องด้วยสูญเสียสุนัขตัวนี้ไปตลอดกาล[2][3][4]

อนุสรณ์[แก้]

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ตำรวจทุกนายที่ปฎิบัติภารกิจครั้งนั้นตระหนักดีว่า หากไม่มีเอ็กซ์คอยตรวจสอบความปลอดภัย เจ้าหน้าที่อาจหาที่หลบกำบังไม่ทันและถูกยิงเสียชีวิตทั้งหมดก็เป็นได้[2][3][4]

ด้วยเหตุนี้ ทางกองกำกับการสุนัขตำรวจ (ปัจจุบันคือกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ) จึงได้สร้างรูปปั้นไว้ ณ หน้าตึกบัญชาการ เพื่อยกย่องในวีรกรรมของเอ็กซ์[2][3][4]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

เนื่องด้วยในสมัยนั้น ยังไม่มีการแต่งตั้งชั้นยศแก่สุนัขตำรวจ เอ็กซ์จึงได้รับการขนานนามให้เป็น "วีรบุรุษสุนัขตำรวจ" กระทั่งในปี พ.ศ. 2546 จึงได้มีการแต่งตั้งชั้นยศแก่สุนัขตำรวจ ได้แก่ สุนัขตำรวจตรี, สุนัขตำรวจโท และสุนัขตำรวจเอก[2]

อ้างอิง[แก้]