ข้ามไปเนื้อหา

เอสเอส เกรตอีสเทิร์น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เอสเอสเกรตอีสเทิร์น)
เกรตอีสเทิร์นที่ฮาตส์คอนเทนต์หลังวางสายเคเบิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเส้นแรก, กรกฎาคม ค.ศ. 1866
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่อเกรตอีสเทิร์น (Great Eastern)
ผู้ให้บริการอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชัน (1858-1864)
ท่าเรือจดทะเบียนลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร
Ordered1853
อู่เรือเจ. สกอตต์ รัสเซล มิลวอล ประเทศอังกฤษ
ปล่อยเรือ1 พฤษภาคม 1854
เดินเรือแรก31 มกราคม 1858
สร้างเสร็จสิงหาคม 1859
Maiden voyage30 สิงหาคม 1859
บริการ1859
หยุดให้บริการ1889
Stricken1889
ท่าจอดลิเวอร์พูช
ชื่อเล่น
  • เรือใหญ่,
  • เลวีอาธาน (ชื่อดั้งเดิม),
  • เกรตเบบ (ตามที่บรูเนลเรียกเธอ)
ความเป็นไปแยกชิ้นส่วนในปี 1889–90
หมายเหตุชนหินโสโครกในวันที่ 27 สิงหาคม ไม่มีเรือลำใดที่ใหญ่กว่าในทุกด้านกระทั่งปี 1901 โดยอาร์เอ็มเอส เคลติก
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือโดยสาร
ขนาด (ตัน): 18,915 ตันกรอส, 13,344 ตันเนต[1]
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 32,160 ตัน
ความยาว: 692 ฟุต (211 เมตร)
ความกว้าง: 82 ฟุต (25 เมตร)
ดาดฟ้า: 4
ระบบขับเคลื่อน: เครื่องจักรไอน้ำสี่เครื่องสำหรับล้อพายและเครื่องยนต์เพิ่มเติมอีกหนึ่งเครื่องสำหรับใบจักร กำลังรวมทั้งหมด 8,000 แรงม้า (6,000 กิโลวัตต์) หม้อไอน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า[2]
ความเร็ว: 14 นอต (26 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 16 ไมล์ต่อชั่วโมง)[3]
จำนวนเรือและอากาศยาน: 18 ลำ; หลังปี 1860 20 ลำ
ความจุ: ผู้โดยสาร 4,000 คน
อัตราเต็มที่: 418

เอสเอส เกรตอีสเทิร์น (อังกฤษ: SS Great Eastern) เป็นเรือจักรไอน้ำเหล็กที่ออกแบบโดยอิซัมบาร์ด คิงดอม บรูเนล และสร้างโดยบริษัทจอห์น สกอตต์ รัสเซล ที่โรงงานเหล็กมิลวอลริมแม่น้ำเทมส์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขับเคลื่อนด้วยทั้งล้อข้างและใบจักรแบบเกลียว เป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาในขณะเปิดตัวใน ค.ศ. 1858 และมีความสามารถการบรรทุกผู้โดยสาร 4,000 คนจากอังกฤษไปออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง ความยาวของเธอที่ 692 ฟุต (211 เมตร) ถูกทำลายสถิติใน ค.ศ. 1899 โดยอาร์เอ็มเอส โอเชียนิกที่มีความยาว 705 ฟุต (215 เมตร) ขนาด 17,274 ตัน ระวางบรรทุกรวมของเธอที่ 18,915 ตันถูกทำลายสถิติใน ค.ศ. 1901 โดยอาร์เอ็มเอส เคลติกที่มีความยาว 701 ฟุต (214 เมตร) ขนาด 20,904 ตัน และความจุผู้โดยสาร 4,000 คนของเธอถูกทำลายสถิติใน ค.ศ. 1913 โดยเอ็สเอ็ส อิมเพอราทอร์ที่บรรทุกผู้โดยสารได้ 4,234 คน ปล่องไฟห้าต้นของเธอ (ภายหลังลดเหลือสี่ต้น) เป็นสิ่งแปลกตาในสมัยนั้น เธอยังมีชุดล้อพายขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่

บรูเนลเรียกเธอด้วยความรักว่า "เกรตเบบ" (Great Babe) เขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1859 ไม่นานหลังการเดินทางครั้งแรกของเธอ ซึ่งเธอได้รับความเสียหายจากการระเบิด[4] หลังการซ่อมแซม เธอถูกใช้งานเป็นเวลาหลายปีตามวัตถุประสงค์เดิมในฐานะเรือโดยสารระหว่างบริเตนและอเมริกาเหนือ การเดินทางของเธอส่วนใหญ่ไม่ทำกำไรเนื่องจากต้นทุนเริ่มต้นและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูง ภายในไม่กี่ปี เธอก็ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์เพื่อวางสายเคเบิลใต้น้ำ โดยได้วางสายโทรเลขข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่ใช้งานได้ถาวรเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1866[5] เธอใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในฐานะหอแสดงดนตรีลอยน้ำและป้ายโฆษณา (สำหรับห้างสรรพสินค้าลูอิส) ในลิเวอร์พูล และถูกแยกชิ้นส่วนที่เมอร์ซีย์ไซด์ใน ค.ศ. 1889

ประวัติศาสตร์

[แก้]

แนวคิด

[แก้]
ภาพถ่ายอันโด่งดังของรอเบิร์ต ฮาวเลตต์ที่ถ่ายบรูเนลขณะยืนอยู่หน้าโซ่ปล่อยเรือ

หลังความสำเร็จในการบุกเบิกการเดินทางด้วยเรือจักนไอน้ำไปยังอเมริกาเหนือด้วยเกรตเวสเทิร์น และเกรตบริเตน บรูเนลก็หันมาให้ความสนใจกับเรือที่สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นถึงออสเตรเลีย ด้วยความจุถ่านหินที่วางแผนไว้ถึง 15,000 ตัน เกรตอีสเทิร์นถูกจินตนาการให้สามารถแล่นไปได้ครึ่งรอบโลกโดยไม่ต้องเติมถ่านหิน และยังสามารถบรรทุกสินค้าและผู้โดยสารได้มากมายจนหนังสือพิมพ์พากันบรรยายว่าเป็น "เมืองลอยน้ำ" และ "วังแก้วแห่งท้องทะเล"[6][7] บรูเนลมองว่าเรือจะสามารถผูกขาดการค้ากับเอเชียและออสเตรเลียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเดินทางระหว่างอังกฤษกับตริกุณามฬยะหรือออสเตรเลียอย่างสม่ำเสมอ[7]

วันที่ 25 มีนาคม 1852 บรูเนลวาดภาพร่างของเรือจักรไอน้ำลงในสมุดบันทึกประจำวันของเขาและเขียนไว้ข้างใต้ว่า: " 600 ฟุต x 65 ฟุต x 30 ฟุต" (180 เมตร x 20 เมตร x 9.1 เมตร) ขนาดเหล่านี้มีปริมาตรใหญ่กว่าเรือลำใด ๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำถึงหกเท่า เรือขนาดใหญ่เช่นนี้จะได้รับประโยชน์จากความประหยัดจากขนาดและจะทั้งรวดเร็วและประหยัด โดยใช้ลูกเรือน้อยกว่าเรือขนาดเล็กที่มีระวางขับน้ำเทียบเท่ากัน บรูเนลตระหนักว่าเรือจำเป็นต้องมีระบบขับเคลื่อนมากกว่าหนึ่งระบบ เนื่องจากใบจักรเกลียวคู่ยังคงอยู่ในขั้นทดลองอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจใช้การผสมผสานระหว่างใบจักรเกลียวเดี่ยวและล้อพาย (paddle wheels) โดยมีใบเรือเป็นพลังงานเสริม แม้บรูเนลจะเป็นผู้บุกเบิกการใช้ใบจักรเกลียวขนาดใหญ่กับเกรตบริเตน แต่เขาไม่เชื่อว่าจะสามารถสร้างใบจักรและเพลาเดี่ยว (หรือแม้แต่เพลาล้อพาย) ที่สามารถส่งกำลังที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนเรือยักษ์ของเขาให้ได้ความเร็วตามที่ต้องการ[8]

บรูเนลแสดงแนวคิดของเขาแก่จอห์น สกอตต์ รัสเซล นาวาสถาปนิกและผู้สร้างเรือที่มีประสบการณ์ซึ่งเขาเคยพบครั้งแรกในงานนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ สกอตต์ รัสเซลตรวจสอบแผนของบรูเนลและทำการคำนวณความเป็นไปได้ของเรือด้วยตนเอง เขาคำนวณว่าเรือจะมีระวางขับน้ำ 20,000 ตันและจะต้องใช้กำลัง 8,500 แรงม้า (6,300 กิโลวัตต์) เพื่อให้ได้ความเร็ว 14 นอต (26 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 16 ไมล์ต่อชั่วโมง) แต่เขาก็เชื่อว่าเป็นไปได้ ตามคำแนะนำของสกอตต์ รัสเซล ทั้งสองนำแผนการออกแบบใหม่นี้ไปเสนอต่อผู้อำนวยการของบริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชัน บริษัทเจมส์ วัตต์จะออกแบบใบจักรเกลียว ศาสตราจารย์เพียซซี สมิทจะออกแบบอุปกรณ์ไจโรสโคป และรัสเซลจะสร้างตัวเรือและล้อพาย[7]

1854–1859: การสร้างสู่การเปิดตัว

[แก้]

การสร้าง

[แก้]
ผังส่วนของเกรตอีสเทิร์น
การก่อสร้างเกรตอีสเทิร์น, 18 สิงหาคม 1855

บรูเนลร่วมเป็นหุ้นส่วนกับสกอตต์ รัสเซลเพื่อสร้างเกรตอีสเทิร์น โดยที่บรูเนลไม่รู้ว่ารัสเซลกำลังประสบปัญหาการเงิน ทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกันในรายละเอียดหลายอย่าง นี่เป็นโครงการยิ่งใหญ่สุดท้ายของบรูเนล เขาเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหลังถูกถ่ายภาพบนดาดฟ้าเรือ และเสียชีวิตในอีกสิบวันต่อมา เพียงสี่วันหลังการทดลองเดินเรือครั้งแรกของเกรตอีสเทิร์น บรูเนลกล่าวถึงเรือว่า "ผมไม่เคยทุ่มเทให้กับสิ่งใดมากเท่านี้มาก่อน และไม่เคยทุ่มเทเวลา ความคิด และแรงงานให้กับสิ่งใดมากขนาดนี้เลย ชื่อเสียงของผมแขวนอยู่บนความสำเร็จของมัน"

เกรตอีสเทิร์นสร้างโดยบริษัทสกอตต์ รัสเซลแห่งมิลวอล มิดเดิลเซกซ์ ประเทศอังกฤษ วางกระดูกงูในวันที่ 1 พฤษภาคม 1854 เรือมีความยาว 211 เมตร (692 ฟุต 3 นิ้ว) กว้าง 25 เมตร (82 ฟุต 0 นิ้ว) กินน้ำลึก 6.1 เมตร (20 ฟุต 0 นิ้ว) เมื่อไม่มีภาระและ 9.1 เมตร (29 ฟุต 10 นิ้ว) เมื่อบรรทุกเต็มที่ และมีระวางขับน้ำ 32,000 ตันเมื่อบรรทุกเต็มที่ เมื่อเทียบกับเอสเอส เปอร์เซีย ซึ่งเปิดตัวในปี 1856 มีความยาว 119 เมตร (45 ฟุต 11 นิ้ว) และกว้าง 14 เมตร (45 ฟุต 11 นิ้ว) ในตอนแรกเรือมีชื่อว่าเลวีอาธาน แต่ค่าใช้จ่ายในการสร้างและการปล่อยเรือที่สูงมากทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชันล้มละลาย เรือจึงจอดทิ้งไว้ยังสร้างไม่เสร็จเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนจะถูกขายให้กับบริษัทเกรตอีสเทิร์นชิปและเปลี่ยนชื่อเป็นเกรตอีสเทิร์นในที่สุด

ตัวเรือทำจากเหล็กทั้งหมด เป็นแบบตัวเรือสองชั้นหนา 19 มิลลิเมตร (0.75 นิ้ว) ทำจากเหล็กดัดเป็นแผ่นขนาด 0.86 เมตร (2 ฟุต 10 นิ้ว) มีซี่โครงทุก 1.8 เมตร (5 ฟุต 11 นิ้ว) แผ่นเหล็กประมาณ 30,000 แผ่นของเธอแต่ละแผ่นมีน้ำหนัก 340 กิโลกรัม (1/3 ลองตัน) และถูกตัดตามแบบไม้ที่ทำขึ้นเฉพาะแต่ละแผ่นก่อนจะนำไปม้วนให้ได้ความโค้งตามที่ต้องการ[7] ภายในตัวเรือถูกแบ่งด้วยผนังกั้นตามยาวสองอันยาว 107 เมตร (351 ฟุต 1 นิ้ว) สูง 18 เมตร (59 ฟุต 1 นิ้ว) และมีผนังกั้นตามขวางเพิ่มเติมแบ่งเรือออกเป็นสิบเก้าห้อง เกรตอีสเทิร์นเป็นเรือลำแรกที่ใช้ตัวเรือสองชั้น คุณสมบัติที่จะไม่เห็นในเรือลำอื่นอีก 100 ปี แต่ในภายหลังจะกลายเป็นข้อบังคับเพื่อความปลอดภัย เพื่อเพิ่มความจุเชื้อเพลิงสูงสุด ถ่านหินที่เก็บไว้ถูกวางไว้รอบและเหนือหม้อไอน้ำทั้ง 10 ลูก ซึ่งให้ไอน้ำที่ 172 กิโลปาสกาล (25 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว)[9][7] เธอมีการขับเคลื่อนด้วยใบเรือ ล้อพายและใบจักรเกลียว ล้อพายมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร (55 ฟุต 9 นิ้ว) และใบจักรเกลียวแบบสี่พวงมีขนาดกว้าง 7.3 เมตร (23 ฟุต 11 นิ้ว) พลังงานมาจากเครื่องจักรไอน้ำสี่เครื่องสำหรับล้อพายและเครื่องยนต์เพิ่มเติมสำหรับใบจักร กระบอกสูบสำหรับเครื่องยนต์ล้อพายมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.87 เมตร (74 นิ้ว) และช่วงชัก 4.3 เมตร (14 ฟุต) กระบอกสูบทั้งสี่สำหรับเครื่องยนต์ใบจักรเกลียวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.13 เมตร (84 นิ้ว) และช่วงชัก 1.21 เมตร (4.0 ฟุต)[10]

กำลังรวมโดยประมาณอยู่ที่ 6,000 กิโลวัตต์ (8,000 แรงม้า) เธอมีเสากระโดงเรือหกต้น (ว่ากันว่าตั้งชื่อตามวันในสัปดาห์ – วันจันทร์คือเสาหน้าสุด และวันเสาร์คือเสาท้ายสุด) ให้พื้นที่สำหรับสแปงเกอร์ 1,686 ตารางเมตร (18,150 ตารางฟุต) (ใบเรือแบบกัฟฟ์ 7 ใบ และใบเรือสี่เหลี่ยมสูงสุด 9 ใบ (ปกติ 4 ใบ)) ผูกติดคล้ายเรือสกูเนอร์ใบเรือบนโดยมีใบกัฟฟ์หลัก (ใบเรือหน้า-ท้าย) บนเสาแต่ละต้นมี "ใบจิ๊บ" หนึ่งใบที่เสาหน้าสุด และใบเรือสี่เหลี่ยมสามใบที่เสาหมายเลข 2 และ 3 (วันอังคารและพุธ) ช่วงหนึ่งเสาหมายเลข 4 ก็ติดใบเรือยาวสามหลาด้วยเช่นกัน ในช่วงปีต่อ ๆ มา ใบเรือบางส่วนถูกถอดออก ตามแหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่าเธอสามารถบรรทุกใบเรือได้ 5,435 ตารางเมตร (58,500 ตารางฟุต)[ใคร?] การตั้งใบเรือกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถใช้งานได้พร้อมกันกับล้อพายและใบจักรเกลียวเมื่อใช้ไอน้ำ เพราะไอเสียร้อนจากปล่องไฟห้า (ภายหลังเหลือสี่) ต้นจะทำให้ใบเรือติดไฟ ความเร็วสูงสุดของเธอคือ 13 นอต (24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 15 ไมล์ต่อชั่วโมง) เธอประสบอุบัติเหตุหลายครั้งระหว่างการก่อสร้าง โดยมีคนงานเสียชีวิต 6 คน[11]

เปิดตัว

[แก้]
ภาพตัดของเกรตอีสเทิร์นพร้อมแคร่บนลาดปล่อย

เกรตอีสเทิร์นมีกำหนดการปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 3 พฤศจิกายน 1857 ขนาดที่ใหญ่โตมหาศาลของเรือก่อให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งที่สำคัญ ตามแหล่งข้อมูลหนึ่ง ระบุว่าน้ำหนักเรือ 19,000 ตัน (12,000 ตันที่เป็นน้ำหนักเฉื่อยระหว่างการปล่อยเรือ) ทำให้เรือเป็นวัตถุที่หนักที่สุดชิ้นเดียวที่มนุษย์เคยเคลื่อนย้ายมา[12] วันที่ 3 พฤศจิกายน ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อชมการปล่อยเรือ โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมด้วย อาทิ กงต์เดอปารีส, ดยุกแห่งอามาล และทูตสยามประจำอังกฤษ[12] อย่างไรก็ตาม การปล่อยเรือล้มเหลว และเรือติดอยู่บนรางปล่อย นอกจากนี้ ชายสองคนเสียชีวิตและอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ทำให้บางคนประกาศว่าเกรตอีสเทิร์นเป็นเรือที่โชคร้าย บรูเนลจึงกำหนดการปล่อยเรือใหม่เป็นเดือนมกราคม 1858 โดยหวังจะใช้กระแสน้ำในการพยายามปล่อยเรือครั้งต่อไป[12]

เกรตอีสเทิร์นสองเดือนก่อนปล่องลงน้ำ, พฤศจิกายน 1857

ในการเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยเรือครั้งที่สอง ทั้งบรูเนลและผู้สนับสนุนเกรตอีสเทิร์นรวบรวมโซ่ แม่แรง เครื่องอัดไฮดรอลิก และเครื่องกว้านจำนวนมากเพื่อช่วยในการปล่อยเรือ บางส่วนได้มาจากวิศวกรผู้เห็นอกเห็นใจ บางส่วนมาจากการตอบแทนบุญคุณ และอีกจำนวนมากได้มาด้วยเงินจำนวนที่เพิ่มขึ้น การให้เช่าอุปกรณ์สำหรับการปล่อยเรือนั้นสร้างรายได้มหาศาล จนกระทั่งวิศวกร ริชาร์ด แทงยี สามารถก่อตั้งบริษัทวิศวกรรมของตนเอง (Tangye & Co) ได้ในปีถัดมา โดยกล่าวว่า "เราปล่อยเกรตอีสเทิร์น และเธอก็ได้ปล่อยเรา"[12] คำแนะนำที่ส่งถึงบรูเนลเกี่ยวกับวิธีการปล่อยเรือมาจากหลายแหล่ง รวมถึงกัปตันเรือจักรไอน้ำในเกรตเลกส์และแฟนคนหนึ่งที่เขียนคำอธิบายลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีการตั้งรูปปั้นอนุสาวรีย์นักขี่ม้าสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์กได้สำเร็จ[12] ลมแรงทำให้ไม่สามารถปล่อยเรือได้ในวันที่ 30 มกราคม แต่ในเช้าวันรุ่งขึ้นความพยายามครั้งใหม่ก็ประสบความสำเร็จในการปล่อยเรือได้ในเวลาประมาณ 10:00 น.[12]

ภาพพิมพ์หินสีของเกรตอีสเทิร์นตามที่ศิลปินจินตนาการไว้ขณะที่เรือปล่อยลงน้ำในปี 1858

หลังจากเกรตอีสเทิร์นปล่อยลงน้ำ เธอใช้เวลาอีก 8 เดือนในการติดตั้งอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง (600,000 ดอลลาร์) ทำให้บรรดานักลงทุนจำนวนมากกังวล เนื่องจากพวกเขาใช้เงินไปแล้วเกือบ 6,000,000 ดอลลาร์ในการก่อสร้างเรือ[13] ด้วยความที่บริษัทผู้สร้างเรือเป็นหนี้อยู่แล้ว จึงมีการใช้มาตรการลดต้นทุน มีการนำเรือออกจากอู่ต่อเรือของรัสเซล และนักลงทุนจำนวนมากขอให้ขายเรือออกไป ตามที่ ไทมส์ รายงาน นักลงทุนคนหนึ่งเสนออย่างเปิดเผยให้ขายเรือลำนี้ให้กับราชนาวี โดยกล่าวว่าหากกองทัพเรือใช้เกรตอีสเทิร์นเป็นเรือชน เธอจะสามารถผ่าเรือรบใด ๆ ที่ลอยอยู่ได้อย่างง่ายดาย[13] ความพยายามเหล่านี้ประสบความสำเร็จปานกลาง โดยในที่สุดเรือก็ถูกขายให้กับบริษัทใหม่ในราคา 800,000 ปอนด์ เท่ากับขาดทุน 3,000,000 ดอลลาร์สำหรับนักลงทุนในบริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชัน[4] บริษัทใหม่ปรับเปลี่ยนบางส่วนของการออกแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความจุถ่านหินของเรือเนื่องจากตั้งใจจะใช้เรือสำหรับตลาดอเมริกา การติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 1859 และมีการจัดงานเลี้ยงอย่างหรูหราสำหรับแขกผู้มาเยือน (ซึ่งรวมถึงวิศวกร ผู้ถือหุ้น สมาชิกรัฐสภา เอิร์ล 5 คน และบุคคลสำคัญอื่น ๆ)[4] ในต้นเดือนกันยายน 1859 เรือแล่นออกจากท่าเรือมุ่งหน้าสู่ช่องแคบ โดยมีผู้ชมจำนวนมากมาเฝ้าดู อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงนอกชายฝั่งเฮสติงส์ เธอประสบเหตุไอน้ำระเบิดครั้งใหญ่ (เกิดจากวาล์วถูกปิดโดยบังเอิญหลังการทดสอบแรงดันของระบบ) ที่ทำให้ลูกเรือเสียชีวิตห้าคนและทำลายปล่องไฟส่วนหน้า[4] เธอเดินทางต่อไปยังพอร์ตแลนด์บิลและจากนั้นไปยังโฮลีเฮด แม้นักลงทุนบางรายอ้างว่าน่าจะทำเงินได้มากกว่านี้หากเรือยังคงเป็น "เรือจัดแสดง" สำหรับนักท่องเที่ยวในแม่น้ำเทมส์[4] เกรตอีสเทิร์นสามารถฝ่าพายุรอยัลชาร์เตอร์อันเลื่องชื่อไปได้ หลังจากนั้นเธอก็ถูกย้ายไปยังเซาแทมป์ตันเพื่อใช้เวลาในช่วงฤดูหนาว[4] การเริ่มต้นปี 1860 นำไปสู่การเปลี่ยนเจ้าของอีกครั้งเมื่อพบว่าบริษัทเจ้าของเป็นหนี้อย่างหนักและมูลค่าของเรือลดลงครึ่งหนึ่ง การเปิดเผยครั้งนี้บีบให้คณะกรรมการบริหารต้องลาออก ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นควบคุมกลุ่มที่สาม[4]

ด้วยคณะกรรมการชุดใหม่ที่เข้ามาดูแลกิจการ เรือได้รับการปรับโครงสร้างเงินทุนเพื่อระดมเงินเพิ่มเติมอีก 50,000 ดอลลาร์ คณะกรรมการชุดใหม่มุ่งมั่นจะสร้างเรือให้แล้วเสร็จ แต่ก็คาดหวังผลกำไรมหาศาลจากการนำเรือไปจัดแสดงในเมืองท่าต่าง ๆ ของอเมริกาเหนือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ บริษัทใช้กลยุทธ์การแข่งขันระหว่างเมืองใหญ่ของอเมริกาและแคนาดา โดยกระตุ้นให้เมืองเหล่านั้นแข่งขันกันว่าเมืองใดจะได้ต้อนรับดกรตอีสเทิร์น ถึงขั้นที่พอร์ตแลนด์ รัฐเมน (ซึ่งได้รับการลงทุนเพิ่มเติมจากทางรถไฟแกรนด์ทรังก์) ลงทุนสร้างท่าเรือมูลค่า 125,000 ดอลลาร์เพื่อรองรับเรือ[14] ในที่สุด นครนิวยอร์ก ซึ่งได้ทำการขุดลอกร่องน้ำอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างที่จอดเรือกับเขื่อนเทียบเรือไม้ ก็ถูกกำหนดให้เป็นจุดหมายปลายทางแรกของเรือ[14]

1860–1862: อาชีพช่วงต้น

[แก้]
Great Eastern in Southampton, June 1860

หลังความล่าช้าอยู่บ้าง เกรตอีสเทิร์นก็เริ่มต้นการเดินทางครั้งแรกที่กินเวลาสิบเอ็ดวันในวันที่ 17 มิถุนายน 1860 จากลิเวอร์พูลโดยมีผู้โดยสารที่จ่ายเงิน 35 คน, "เดดเฮด" (ผู้ที่ไม่ได้จ่ายเงิน) ของบริษัท 8 คน และลูกเรือ 418 คน ในบรรดาผู้โดยสารมีนักข่าวสองคนคือ ซีราห์ คอลเบิร์นและอเล็กซานเดอร์ ไลแมน ฮอลลีย์ การข้ามมหาสมุทรครั้งแรกของเธอผ่านไปได้ด้วยดี และสภาพพร้อมออกทะเลก็ได้รับการพิสูจน์อีกครั้งเมื่อเธอรอดพ้นจากพายุขนาดเล็กมาได้อย่างง่ายดาย เกรตอีสเทิร์นเดินทางมาถึงนิวยอร์กในวันที่ 28 มิถุนายนและสามารถเทียบท่าได้สำเร็จ แม้เธอจะสร้างความเสียหายให้กับเขื่อนเมียบเรือบางส่วนก็ตาม เรือได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีเรือจำนวนมากและผู้คนหลายหมื่นคนแห่กันมาชม ในการเตรียมพร้อมสำหรับฝูงชน ลูกเรือจัดตั้งบาร์บนดาดฟ้า โรยทรายเพื่อซับน้ำหมาก และเตรียมพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนหลายพันคน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างลูกเรือกับชาวนิวยอร์กเริ่มแย่ลง ประชาชนไม่พอใจกับค่าธรรมเนียมแรกเข้า 1 ดอลลาร์ (การเดินทางท่องเที่ยวลักษณะเดียวกันในนิวยอร์กคิดค่าบริการ 25 เซนต์) และผู้ที่ตั้งใจมาเยี่ยมชมจำนวนมากตัดสินใจไม่ไปเยี่ยมชมเรือ[14] เกรตอีสเทิร์นออกจากนิวยอร์กในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยพาผู้โดยสารหลายร้อยคนไปทริปเที่ยวชมที่เคปเมย์จากนั้นก็ไปยังโอลด์พอยต์ รัฐเวอร์จิเนีย[15] อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาเช่นกันเนื่องจากเรือมีเสบียงไม่เพียงพอ (ท่อแตกในห้องเก็บของทำให้อาหารส่วนใหญ่ของเรือเสียหาย) ทำให้การเดินทางสั้น ๆ ไม่สะดวกสบาย ขณะที่ห้องน้ำที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ก่อให้เกิดปัญหาสุขอนามัย[16] มีการขายตั๋วซ้ำสำหรับบางที่นอน ครอบครัวถูกแยกและจัดใหม่อย่างไม่ถูกต้องในห้องโดยสารที่จัดสรรผิด และเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 5 นาย (ที่กรมตำรวจนิวยอร์กส่งมาเพื่อยับยั้งการล้วงกระเป๋า) ถูกค้นพบและถูกไล่เข้าไปในคอกปศุสัตว์บนดาดฟ้า[ทำไม?][16] หลังเดินทางถึงเวอร์จิเนีย เรือก็แล่นกลับไปนิวยอร์ก และจากที่นั่นก็แล่นลงใต้ไปอีกครั้งเพื่อล่องเรือสำราญใน อ่าวเชซาพีก เรือเดินทางไปยังแอนนาโพลิส ที่ซึ่งได้รับถ่านหิน 5,000 ตันจากการรถไฟบอลทิมอร์และโอไฮโอ[17] เกรตอีสเทิร์นยังคงอยู่ในแอนนาโพลิสเป็นเวลาหลายวัน โดยมีผู้มาเยี่ยมชมหลายพันคนและ ประธานาธิบดีเจมส์ บิวแคนัน ในระหว่างการเยี่ยมชมของประธานาธิบดี สมาชิกคนหนึ่งของกรรมการบริษัทได้หารือเกี่ยวกับการส่งเรือไปยังซาวันนาห์เพื่อขนส่งฝ้ายทางใต้ไปยังโรงงานในอังกฤษ แต่แนวคิดนี้ไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติจริง[17]

เมื่อเรือกลับมายังนิวยอร์กเป็นครั้งที่สอง บริษัทตัดสินใจเดินเรือออกจากสหรัฐ ในมุมมองการเงิน การผจญภัยในอเมริกาถือเป็นหายนะ เรือทำรายได้เพียง 120,000 ดอลลาร์ เทียบกับค่าใช้จ่ายสูงกว่า 72,000 ดอลลาร์ ขณะที่บริษัทคาดว่าจะทำรายได้ 700,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับการจ่ายดอกเบี้ยวันละ 5,000 ดอลลาร์ ซึ่งกัดกินผลกำไรใด ๆ ที่เรือทำได้[17] เพื่อหวังทำกำไรให้มากขึ้นก่อนกลับอังกฤษ เรือออกจากนิวยอร์กในช่วงกลางเดือนสิงหาคม มุ่งหน้าไปยังแฮลิแฟกซ์พร้อมผู้โดยสาร 100 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือ เรือถูกเรียกโดยหน่วยบริการประภาคารท้องถิ่น ซึ่งได้รับอำนาจตามกฎหมายในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามน้ำหนักเรือ ด้วยขนาดของเรือ ประภาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1,750 ดอลลาร์จากเกรตอีสเทิร์น ด้วยความโกรธเคืองจากขนาดของค่าธรรมเนียม คณะผู้แทนได้ขึ้นฝั่งเพื่อขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่ผู้ว่าการแฮลิแฟกซ์ปฏิเสธคำขอนี้ ด้วยความโกรธจากการปฏิเสธ กัปตันและผู้นำบริษัทจึงสั่งให้เรือกลับอังกฤษทันที ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผู้โดยสารหรือผู้มาเยือนขึ้นเรือในแฮลิแฟกซ์[18]

แม้จะประสบความสำเร็จด้านวิศวกรรมแต่ล้มเหลวทางการเงินจากการเดินทางในปี 1860 บริษัทเจ้าของเรือก็พยายามอีกครั้งที่จะทำให้เกรตอีสเทิร์นทำกำไรได้ ในช่วงฤดูหนาว 1860 สกอตต์ รัสเซล (ซึ่งเพิ่งชนะคดีเรียกร้องค่าเสียหาย 120,000 ดอลลาร์จากบริษัทเรือ) ปรับปรุงเรือและซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานในปีแรก ระหว่างการปรับปรุงนั้น เธอเคยหลุดจากการเทียบท่าและชนตัดเสาชี้ของเรือหลวงเบลนไฮม์[19] เธอออกเดินทางไปยังนิวยอร์กในเดือนพฤษภาคม 1861 (ท่าเรือบอลทิมอร์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอื่นที่เป็นไปได้ ถูกพิจารณาว่าเสี่ยงเกินไปเนื่องจากการปะทุของสงครามกลางเมืองอเมริกา) มาถึงท่าเรือโดยไม่มีพิธีรีตองมากนัก เธอรับสินค้าเป็นข้าวสาลีบรรจุถัง 5,000 ตันและผู้โดยสาร 194 คน เธอออกเดินทางไปยังลิเวอร์พูลในวันที่ 25 พฤษภาคม โดยเป็นการเดินทางที่ราบรื่น[20] เมื่อเธอกลับมาถึงอังกฤษ มีการประกาศว่าบริษัทเรือได้รับสัญญาจากกระทรวงการสงครามของอังกฤษให้ขนส่งทหาร 2,000 นายไปยังแคนาดา ส่วนหนึ่งของการแสดงแสนยานุภาพเพื่อข่มขู่สหรัฐที่กำลังติดอาวุธอย่างรวดเร็ว หลังการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อขนส่งทหาร เกรตอีสเทิร์นออกเดินทางจากอังกฤษไปยังนครเกแบ็กพร้อมทหาร 2,144 นาย ผู้โดยสาร 473 คน และม้า 122 ตัว ตามแหล่งข่าวหนึ่งระบุว่าจำนวนผู้โดยสารนี้ เมื่อรวมกับลูกเรือของเกรตอีสเทิร์น 400 คน ถือเป็นจำนวนคนที่อยู่บนเรือลำเดียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในเวลานั้น[20] การเดินทางประสบความสำเร็จและเรือก็ไปถึงเกแบ็ก ซึ่งใช้เวลาสองวันสำหรับเรือจักรไอน้ำของเมืองในการขนส่งผู้โดยสารออกจากเรือ การข้ามมหาสมุทรทำลายสถิติ ใช้เวลา 8 วัน 6 ชั่วโมง การออกแบบที่ทนทานของเกรตอีสเทิร์นได้รับยกย่องจากเจ้าหน้าที่ทหารบนเรือ แต่ไม่นานหลังเธอกลับมาถึงอังกฤษ กระทรวงการสงครามก็ยกเลิกสัญญา และเรือก็กลับไปให้บริการผู้โดยสารตามปกติ[20]

ในเดือนกันยายน 1861 เกรตอีสเทิร์นประสบกับเฮอร์ริเคนครั้งใหญ่หลังออกจากลิเวอร์พูลมาได้สองวัน เรือต้องติดอยู่ในพายุเป็นเวลาสามวันและได้รับความเสียหายอย่างหนักต่อระบบขับเคลื่อน ทั้งล้อพายสองข้างถูกฉีกออก ใบเรือก็ถูกลมพัดกระจุย และหางเสือก็งอไป 200 องศาก่อนจะถูกใบจักรเดี่ยวของเรือฉีกขาดออกไป แฮมิลตัน โทล วิศวกรชาวอเมริกันที่เดินทางกลับจากออสเตรีย ได้ติดตั้งหางเสือชั่วคราว ทำให้เรือสามารถบังคับทิศทางไปยังไอร์แลนด์ได้ด้วยใบจักรเกลียวเพียงอย่างเดียว เมื่อมาถึงควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือโคฟ) เรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่าเนื่องจากกลัวว่าลมแรงจะทำให้เรือพุ่งชนจุดทอดสมอ สามวันต่อมา เรือได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่าและถูกลากเข้ามาโดยเรือหลวงแอดไวซ์ ระหว่างทางไปที่ทอดสมอก็ฉีกสมอเรือพาณิชย์สัญชาติอเมริกันออกไป อุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในการเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นในท่าเรือเมื่อชายคนหนึ่งถูกฆ่าตายจากแรงสะท้อนกลับของหางเสือ ความเสียหายที่เกิดจากพายุและรายได้ที่สูญเสียไปจากการเดินทางครั้งนี้รวมเป็นเงิน 300,000 ดอลลาร์[21]

เรือยังคงดำเนินต่อไปในการเดินทางที่ปราศจากเหตุการณ์ การบรรทุกสินค้า และการจัดแสดงสั้น ๆ ตั้งแต่ปลายปี 1861 ถึงกลางปี 1862 ภายในเดือนกรกฎาคม 1862 เรือเริ่มทำกำไรที่น่าสังเกตเป็นครั้งแรก โดยบรรทุกผู้โดยสาร 500 คนและอาหาร 8,000 ตันจากนิวยอร์กไปยังลิเวอร์พูล ทำรายได้รวม 225,000 ดอลลาร์ และใช้เวลาในการขนส่งเพียง 11 วัน อย่างไรก็ตาม เจ้าของเรือประสบปัญหาในการรักษากำไรนี้ไว้ได้เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญอย่างมากกับการบริการผู้โดยสารชนชั้นสูงและกลาง ด้วยเหตุนี้ เรือจึงไม่ได้ถูกใช้ในการขนส่งกลุ่มผู้อพยพจำนวนมากที่เดินทางไปยังสหรัฐ และการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลดลงอย่างมากของอุตสาหกรรมเรือคลิปเปอร์ของอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา[22]

1862–1884: อาชีพช่วงหลัง

[แก้]

ชนหินโสโครก

[แก้]
เทียบท่าที่นิวยอร์ก, 1860

วันที่ 17 สิงหาคม 1862 เกรตอีสเทิร์นออกจากลิเวอร์พูลมุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก โดยบรรทุกผู้โดยสาร 820 คนและสินค้าหลายพันตัน ด้วยน้ำหนักบรรทุกจำนวนมาก ทำให้เรือกินน้ำลึกถึง 9 เมตร (30 ฟุต)[23] หลังแล่นฝ่าพายุเล็ก ๆ ได้ เรือก็เข้าใกล้ชายฝั่งนิวยอร์กในคืนวันที่ 27 สิงหาคม ด้วยความกังวลว่าเกรตอีสเทิร์นจะกินน้ำลึกเกินไปกว่าผ่านแซนดีฮุก กัปตันเรือจึงเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยกว่าเล็กน้อยผ่านลองไอแลนด์ซาวด์ ขณะแล่นผ่านมอนทอกพอยต์ประมาณ 02:00 น. เรือชนกับหินโสโครกรูปเข็มที่ไม่ปรากฏในแผนที่ (ภายหลังได้ชื่อว่าหินเกรตอีสเทิร์น) ซึ่งอยู่ใต้น้ำประมาณ 8 เมตร (26 ฟุต) หินนี้เจาะตัวเรือด้านนอก ทำให้เกิดรอยฉีกขาดกว้าง 2.7 เมตร (9 ฟุต) ยาว 25 เมตร (83 ฟุต) ภายหลังคำนวณได้ว่าหินโสโครกมีขนาดใหญ่พอจะชนถึงตัวเรือด้านในได้ แต่ตัวเรือด้านนอกและโครงสร้างค้ำยันตามขวางที่แข็งแรงได้ช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเรือด้านในได้รับความเสียหาย ลูกเรือสังเกตเห็นการชน ซึ่งพวกเขาเดาว่าเรือชนกับสันดอนทรายที่เคลื่อนตัว และหลังตรวจสอบท้องเรือแล้ว เกรตอีสเทิร์นก็เดินทางต่อไปยังนิวยอร์กโดยไม่มีอุบัติการณ์ใด ๆ[24] อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ในท่าเรือ สังเกตเห็นว่าเรือเอียงไปทางกราบขวานิดหน่อย จึงมีการส่งนักประดาน้ำลงไปตรวจสอบตัวเรือ หลังการตรวจสอบหลายวัน นักประดาน้ำรายงานพบรูขนาดใหญ่ที่ตัวเรือด้านนอก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากไม่มีอู่แห้งใดในโลกที่สามารถรองรับเรือได้[23] ตัวเรือได้รับการซ่อมแซมโดยช่างโลหะในคอฟเฟอร์ดาม แต่ทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่าย 350,000 ดอลลาร์และทำให้การเดินทางกลับอังกฤษของเรือล่าช้าไปหลายเดือน[23] เธอจะเดินทางไปนิวยอร์กและกลับอีกครั้งในปี 1863 ก่อนจะถูกพักจนถึงปี 1864 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน[25]

ในเดือนมกราคม 1864 มีการประกาศว่าเรือจะถูกนำออกประมูล ระหว่างการประมูล กรรมการบริษัทสี่คนร่วมกันเสนอราคา 125,000 ดอลลาร์สำหรับเรือและชนะการประมูลไป ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมเรือได้เป็นการส่วนตัว จากนั้นกลุ่มคนดังกล่าวก็ปล่อยให้บริษัทเดินเรือล้มละลาย ทำให้เรือถูกแยกออกจากบริษัทเดินเรือที่เลิกกิจการ และทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากต้องเสียผลประโยชน์ไป หลังจากนั้น เรือก็ถูกทำสัญญาเช่าเหมาลำให้กับไซรัส เวสต์ ฟีลด์ นักการเงินชาวอเมริกัน ผู้ตั้งใจจะใช้มันในการวางสายเคเบิลใต้ทะเล[25] เจ้าของเรือพัฒนาตัวแบบธุรกิจโดยพวกเขาจะให้เช่าเกรตอีสเทิร์นเพื่อใช้เป็นเรือวางสายเคเบิลแลกกับหุ้นในบริษัทเคเบิลต่าง ๆ ซึ่งรับประกันว่าหากเกรตอีสเทิร์นประสบความสำเร็จในการวางสายเคเบิล เรือที่เคยขาดทุนลำนี้ก็สามารถทำกำไรให้กับเจ้าของได้เป็นการส่วนตัว[25]

วางสายเคเบิล

[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม 1865 เกรตอีสเทิร์นล่องไปยังเชียร์เนสเพื่อบรรทุกสายเคเบิลสำหรับการวางสายโทรเลขข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อแลกกับการใช้เรือ เจ้าของเรือต้องการหุ้นบริษัทโทรเลขมูลค่า 250,000 ดอลลาร์ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องวางสายเคเบิลสำเร็จเท่านั้น[26] เพื่อรองรับสายเคเบิลความยาว 22,450 กิโลเมตร (13,950 ไมล์) ที่บรรทุกมา เกรตอีสเทิร์นได้เปลี่ยนโถงและห้องพักบางส่วนให้เป็นถังขนาดใหญ่เพื่อเก็บสายเคเบิล ในเดือนกรกฎาคม เรือเริ่มวางสายเคเบิลใต้ทะเลใกล้เกาะวาเลนเทีย ค่อย ๆ เดินทางไปทางตะวันตกด้วยความเร็ว 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (6 นอต) การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นนานหลายสัปดาห์ แต่ปลายสายเคเบิลได้ขาดหายไปกลางมหาสมุทรแอตแลนติกจากอุบัติเหตุ ทำให้เรือต้องเดินทางกลับมาในปี 1866 พร้อมกับสายเคเบิลชุดใหม่ รอเบิร์ต ฮาลพิน ต้นหนที่หนึ่งของเรือ สามารถค้นหาปลายสายเคเบิลที่ขาดหายไปจนพบ และสายเคเบิลที่ยังไม่ขาดก็ถูกวางไปถึงชายฝั่งที่ฮาตส์คอนเทนต์ รัฐนิวฟันด์แลนด์ ได้สำเร็จในวันที่ 27 กรกฎาคม 1866[26]

ฮาลพินกลายเป็นกัปตันของเกรตอีสเทิร์น โดยที่เรือได้วางสายเคเบิลเพิ่มเติม[27] ในช่วงต้นปี 1869 เธอวางชุดสายเคเบิลใต้ทะเลใกล้แบรสต์[28] ต่อมาในปีเดียวกันนั้น เธอได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อวางสายเคเบิลใต้ทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของการดำเนินการนี้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษและธนาคารในอินเดีย ซึ่งหวังที่จะเลี่ยงสายเคเบิลภาคพื้นดินที่เชื่อมต่ออังกฤษกับอินเดียซึ่งไม่น่าเชื่อถือ[15] ในการเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในสภาพอากาศร้อน เรือถูกทาสีขาวเพื่อสะท้อนความร้อนออกจากถังเก็บสายเคเบิลของเรือ เกรตอีสเทิร์นออกเดินทางจากอังกฤษในเดือนธันวาคม 1869 และมาถึงบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) 83 วันต่อมาเพื่อวางสมอสายเคเบิลเส้นแรก เมื่อมาถึงท่าเรือ ขนาดของเกรตอีสเทิร์นได้สร้างความสนใจอย่างมากต่อสาธารณชน โดยกัปตันเสนอขายตั๋วเข้าชมเรือในราคาใบละ 2 รูปี และแจกจ่ายรายได้ให้กับลูกเรือ[15] เธอออกเดินทางจากบอมเบย์ก่อนฤดูมรสุมจะเริ่มต้นขึ้น และแล่นไปทางเหนือเพื่อวางสายเคเบิลระหว่างบอมเบย์กับเอเดน จากเอเดน เธอได้วางสายเคเบิลอีกเส้นไปยังเกาะจาบัล อัล-ไทร์ ที่ซึ่งมีเรือลำที่สองนัดพบกับเธอเพื่อรับสายเคเบิลต่อไปยังคลองสุเอซและจากนั้นก็ไปยังอเล็กซานเดรีย[15]

คลองสุเอซ

[แก้]

คลองสุเอซ ซึ่งเปิดใช้งานในปี 1869 เป็นอุปสรรคสำหรับเรือ เนื่องจากในเวลานั้นคลองยังตื้นเกินไปสำหรับเกรตอีสเทิร์นที่จะเดินเรือผ่านไปได้ การเดินทางอ้อมแอฟริกาทำให้เรือไม่สามารถแข่งขันกับเรือลำอื่น ๆ ที่สามารถใช้คลองได้ อาลี ริชดี นักเดินเรือชาวอาหรับผู้มีชื่อเสียง เสนอแนวคิดในการนำเรือผ่านคลอง แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยถูกดำเนินการจริง[15]

1885–1890: ปลดระวาง

[แก้]
เกรตอีสเทิร์นเป็นป้ายโฆษณาลอยน้ำของห้างสรรพสินค้าลูอิสในลิเวอร์พูล, ทศวรรษ 1880
เกรทอีสเทิร์นถูกเกยตื้นเพื่อรอการทำลาย

ที่ช่วงท้ายของอาชีพการวางสายเคเบิลของเธอ ซึ่งถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากการเปิดตัวซีเอส ฟาราเดย์ เรือที่สร้างขึ้นเพื่อการวางสายเคเบิลโดยเฉพาะ[15] เธอได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นเรือเดินสมุทร แต่ความพยายามที่จะทำให้เธอประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ก็ล้มเหลวอีกครั้ง เธอทอดสมออยู่ที่ท่าเรือมิลฟอร์ดอยู่ระยะหนึ่ง สร้างความรำคาญให้กับคณะกรรมการท่าเรือมิลฟอร์ดที่ต้องการสร้างอู่เรือในพื้นที่ มีข้อเสนอมากมายสำหรับเรือ ตามแหล่งข่าวหนึ่ง ผับเต็มไปด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับการบรรจุดินปืนเข้าไปในเรือแล้วระเบิดมันทิ้ง[29] อย่างไรก็ตาม เรือก็รอดมาได้ในที่สุด เนื่องจากวิศวกรท่าเรือ (เฟรเดริก แอปเปิลบี) สามารถสร้างอู่เรือล้อมรอบเธอได้ โดยใช้ซากเรือขนาดใหญ่ของเธอเป็นสถานีสำหรับตอกเสาเข็ม ในช่วง 11 ปีที่เธอทอดสมออยู่ในมิลฟอร์ด เธอมีสิ่งมีชีวิตทางทะเลเกาะที่ตัวเรือเป็นจำนวนมาก นักธรรมชาติวิทยาทางทะเลยุคแรก ๆ อย่างเฮนรี ลี (เป็นที่รู้จักดีในเวลานั้นจากการที่เขาไม่เชื่อเรื่องสัตว์ประหลาดในทะเล) ทำการศึกษาตัวเรือของเธออย่างละเอียด โดยคำนวณว่าเธอมีสิ่งมีชีวิตทางทะเลเกาะอยู่ประมาณ 300 ตัน[30] เธอถูกขายในการประมูลที่ลอยด์ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1885 ตามคำสั่งของศาลชานเซอรี การประมูลเริ่มต้นที่ 10,000 ปอนด์ เพิ่มขึ้นเป็น 26,200 ปอนด์ และขายให้กับคุณมัตโตส พ่อค้าในเมือง[31]

เธอยังถูกขายอีกครั้ง และถูกนำไปใช้เป็นเรือจัดแสดงโชว์ เป็นพระราชวัง/โถงคอนเสิร์ตลอยน้ำและโรงยิม ต่อมาเธอทำหน้าที่เป็นป้ายโฆษณา โดยแล่นขึ้นลงแม่น้ำเมอร์ซีย์ให้กับห้างสรรพสินค้าลูอิส ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าของ ก่อนจะถูกขายไปอีกครั้ง[32][33] แนวคิดนี้คือการดึงดูดผู้คนให้มาที่ห้างสรรพสินค้าโดยใช้เธอเป็นแหล่งท่องเที่ยวลอยน้ำ ในปี 1886 เธอถูกนำไปที่ลิเวอร์พูลเพื่องานนิทรรศการลิเวอร์พูล 1886 ระหว่างการเดินทาง เธอชนและสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเรือลากจูงลำหนึ่ง ซึ่งเป็นลำสุดท้ายในบรรดา 10 ลำที่เธอเคยสร้างความเสียหายหรือจมลง[34] วันที่ 10 พฤษภาคม 1887 เรือกลไฟจี. อี. วูด ชนกับเธอในแม่น้ำเมอร์ซีย์[35] หลังงานนิทรรศการ เธอถูกขายอีกครั้ง บริษัทแห่งหนึ่งพิจารณาใช้เธอเพื่อกู้เรืออับปางที่จมตื้น ขณะที่นักเขียนตลกคนหนึ่งแนะนำให้ใช้เกรตอีสเทิร์นช่วยขุดคลองปานามาโดยให้เธอชนกับคอคอด[36] เธอก็ถูกขายทอดตลาดอีกครั้งในปี 1888 ได้เงิน 16,000 ปอนด์จากมูลค่าของเศษเหล็ก[37][38] ชิ้นส่วนจำนวนมากของเรือถูกซื้อโดยนักสะสมส่วนตัว อดีตผู้โดยสาร และเพื่อนของลูกเรือ โดยมีอุปกรณ์ติดตั้ง โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ แผ่นไม้ และวัตถุโบราณอื่น ๆ เก็บรักษาไว้ ชิ้นส่วนของเกรตอีสเทิร์นถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น บริษัทเรือข้ามฟากแห่งหนึ่งนำแผ่นไม้ของเธอไปดัดแปลงเป็นบาร์ในผับ ขณะที่ครูใหญ่หญิงคนหนึ่งในโรงเรียนประจำที่แลงคาเชอร์ซื้อห้องโดยสารบนดาดฟ้าเรือไปใช้เป็นบ้านเด็กเล่น[15]

เธอเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของการรื้อโครงสร้างด้วยการใช้ลูกตุ้มเหล็กทุบทำลาย เธอถูกแยกชิ้นส่วนใกล้กับสลอยน์ ที่นิวเฟอร์รีริมแม่น้ำเมอร์ซีย์โดยบจก.เฮนรี บาท แอนด์ซันในปี 1889–1890 ซึ่งใช้เวลาถึง 18 เดือนในการแยกชิ้นส่วนของเธอ โดยเฉพาะตัวเรือสองชั้นของเธอนั้นยากเป็นพิเศษที่จะกู้คืน การรื้อเรือนี้ก่อให้เกิดข้อพิพาทด้านแรงงานเล็กน้อย เนื่องจากคนงานที่ได้รับค่าจ้างตามน้ำหนักของเรือที่ถูกแยกชิ้นส่วนเริ่มหงุดหงิดกับความคืบหน้าการรื้อที่ช้าและได้นัดหยุดงาน[39]

ตำนานคนงานที่ถูกขัง

[แก้]

หลังเรือเกรตอีสเทิร์นถูกแยกชิ้นส่วน มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าคนงานรื้อเรือพบซากโครงกระดูกของคนงานที่ถูกขังอยู่ภายในตัวเรือสองชั้น อาจได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของลูกเรือเกี่ยวกับผีช่างตอกหมุดที่ถูกผนึกอยู่ในตัวเรือ ตำนานนี้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางครั้งแรกโดยเจมส์ ดูแกนในปี 1952 ซึ่งเขาอ้างถึงจดหมายจากกัปตันเดวิด ดัฟฟ์ และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ในภายหลังจำนวนมากก็อ้างอิงจากผลงานของดูแกน อย่างไรก็ตาม นักเขียนคนอื่น ๆ โดยเฉพาะแอล. ที. ซี. โรลต์ในชีวประวัติของบรูเนล ได้ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างนี้ (โดยสังเกตว่าการค้นพบดังกล่าวจะต้องถูกบันทึกไว้ในบันทึกของบริษัทและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน) แต่ตำนานนี้ก็ยังคงถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในหนังสือและบทความเกี่ยวกับเรื่องผีทางทะเล[40] ในหนังสือ London and Londoners in the Eighteen-Fifties and Sixties อัลเฟรด รอสลิง เบนเนตต์ เขียนเกี่ยวกับโครงกระดูกที่พบว่า "ตอนนั้นมีการจำได้ว่าขณะกำลังสร้างเรือ มีเสมียนคนหนึ่งหายตัวไปพร้อมกับเงินจำนวนมาก... และคาดว่าหนีไปพร้อมกับเงินนั้น" และตั้งคำถามว่าซากโครงกระดูกนั้นอาจถูกนำมาทิ้งโดยคนงานที่ฆ่าชายคนนั้นหรือไม่[41] ไบรอัน ดันนิงเขียนเกี่ยวกับตำนานนี้ในปี 2020 โดยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทางเทคนิคแล้วจะเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์หรือหักล้าง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไม่มีการพบหลักฐานใด ๆ ในระหว่างการซ่อมแซมเกรตอีสเทิร์นหลายครั้ง[40]

ชิ้นส่วนที่ยังคงอยู่

[แก้]
แบบจำลองของเกรตอีสเทิร์นที่พิพิธภัณฑ์ลอนดอนด็อกแลนส์

นักประวัติศาสตร์ฟุตบอล สตีเฟน เคลลี ระบุว่าในปี 1928 สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกำลังมองหาเสาธงสำหรับสนามแอนฟีลด์ของพวกเขา และซื้อเสากระโดงบนของเรือไป[42] อย่างไรก็ตาม การสืบสวนเพิ่มเติมโดยนักข่าวท้องถิ่น ไซมอน วีดี ได้แสดงให้เห็นว่าเสากระโดงดังกล่าวถูกย้ายมาที่นั่นโดยเอฟเวอร์ตันเอฟซี ก่อนที่พวกเขาจะย้ายออกจากแอนฟีลด์ในปี 1892[43] เสากระโดงนั้นยังคงตั้งอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบันที่ฝั่งค็อป[44] ในปี 2011 รายการ Time Team ของแชนแนลโฟร์พบหลักฐานจากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ที่ชี้ให้เห็นว่าชิ้นส่วนเหล็กที่เหลืออยู่จากกระดูกงูและโครงสร้างล่างของเรือยังคงอยู่ในบริเวณหาดทราย[45]

ในปี 1859 ระหว่างเกรตอีสเทิร์นกำลังทดลองเดินเรืออยู่นอกชายฝั่งพอร์ตแลนด์ เกิดการระเบิดบนเรือจนปล่องไฟปลิวหลุดออกไปหนึ่งต้น ปล่องไฟนั้นถูกกู้ขึ้นมาได้และต่อมาบริษัทประปาซึ่งจ่ายน้ำให้กับเวย์มัทและเมลคัมบ์เรจิสในดอร์เซต สหราชอาณาจักร ได้ซื้อไปเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์กรองน้ำ ภายหลังมีการย้ายปล่องไฟนี้ไปยังพิพิธภัณฑ์การเดินเรือบริสตอล ซึ่งอยู่ใกล้กับเอสเอส เกรตบริเตนของบรูเนล จากนั้นก็ถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์เอสเอส เกรตบริเตนในปัจจุบัน

ในเดือนตุลาคม 2007 การกู้สมอเรือหนัก 6,500 ปอนด์ (2.9 ตัน) ขึ้นมาจากน้ำลึก 70 ฟุต (21 เมตร) ห่างจากโขดหินเกรตอีสเทิร์นประมาณสี่ไมล์ (6.4 กิโลเมตร) กระตุ้นให้เกิดการคาดเดาว่าสมอเรือดังกล่าวอาจเป็นของเกรตอีสเทิร์น[46]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]
  • เอสเอส เกรตอีสเทิร์นเป็นหัวข้อของเพลง "Ballad of the Great Eastern" โดยสติง ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม The Last Ship ที่ออกวางจำหน่ายในปี 2013
  • ประวัติศาสตร์ของเรือเอสเอส เกรตอีสเทิร์นได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียดในหนังสือสารคดีเรื่อง The Great Iron Ship ของเจมส์ ดูแกน[15]
  • การข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยเอสเอส เกรตอีสเทิร์จเป็นฉากหลังของนวนิยายปี 1871 ของฌูล แวร์นเรื่อง A Floating City
  • การเดินทางครั้งแรก 10 วันจากลิเวอร์พูลไปยังนิวยอร์กในปี 1867 เป็นฉากหลังของนวนิยายอีโรติก 8 เล่มที่ตีพิมพ์หลังมรณกรรมของนักเขียนชาวกรีก อันเดรอัส เอมบิริกอส
  • เอสเอส เกรตอีสเทิร์จและผู้สร้าง อิซัมบาร์ด คิงดอม บรูเนล มีบทบาทสำคัญในนวนิยายปี 2019 ของฮาวเวิร์ด เอ. ร็อดแมน เรื่อง The Great Eastern เป็นการนำตัวละครกัปตันอาฮับมาปะทะกับกัปตันนีโม
  • The Great Eastern เป็นชื่อของรายการตลกทางวิทยุ CBC Radio One ตั้งแต่ปี 1994 ถึง 1999 ซึ่งตั้งชื่อตามเรือลำนี้
  • ในวิดีโอเกมแนวบริหารจัดการ Anno 1800 ที่เปิดตัวในปี 2019 โดยยูบิซอฟต์ ผู้เล่นมีโอกาสสร้างเกรตอีสเทิร์นเพื่อเพิ่มเข้าสู่กองเรือ ซึ่งเกรตอรสเทิร์นมีความจุสินค้ามากที่สุดในเกมโดยมีช่องเก็บสินค้าทั้งหมดแปดช่อง
  • ในเรื่องราวแฟนตาซีชุด Bas-Lag ของไชนา มีเอวิล เมืองโจรสลัดอาร์มาดามีเรือลำหนึ่งชื่อแกรนด์อีสเตอร์ลี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอสเอส เกรตอีสเทิร์น
  • การปล่อยเรือ รวมถึงอาการป่วยและการเสียชีวิตของบรูเนลถือเป็นจุดเริ่มต้นของนวนิยายปี 2019 เรื่อง The Great London Conspiracy โดยจอร์แดน มูนีย์

แกลเลอรี

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Dawson, Philip S. (2005). The Liner. Chrysalis Books. p. 37. ISBN 978-0-85177-938-6.
  2. Image:Oscillating engine, and boilers, of Great Eastern - gteast.gif224kB.png
  3. "Ocean Record Breaking". New York Times. 7 July 1895.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Dugan (1952) pp. 36–39, 41–49
  5. Wilson, Arthur (1994). The Living Rock: The Story of Metals Since Earliest Times and Their Impact on Civilization. Woodhead Publishing. p. 203. ISBN 978-1-85573-301-5.
  6. Rolt 1957, p. 309
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Dugan (1952) pp. 3, 4, 5, 6
  8. Rolt 1957, p. 313
  9. Webb, William Henry (1857). Descriptive Particulars of the "Great Eastern" Steam Ship with Illustrations and Sectional Plans (ภาษาอังกฤษ). Marshall & Sons.
  10. Main, Thomas (7 August 1893). "The Progress of Marine Engineering: From the Time of Watt Until the Present Day".
  11. "Brunel's ships p147"
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 Dugan (1952) pp. 9–17
  13. 13.0 13.1 Dugan (1952) p. 35
  14. 14.0 14.1 14.2 Dugan (1952) pp. 49, 50–68
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 15.7 Dugan, James (1953). The Great Iron Ship. New York: Harper & Brothers. pp. 222, 223, 224, 240. ISBN 978-0750934473.
  16. 16.0 16.1 Dugan (1952) pp. 72–79
  17. 17.0 17.1 17.2 Dugan (1952) pp. 81–84
  18. Dugan (1952) pp. 84, 85
  19. Dugan (1952) pp. 88–90
  20. 20.0 20.1 20.2 Dugan (1952) pp. 97, 98
  21. Dugan (1952) pp. 108–123
  22. Dugan (1952) pp. 130–141
  23. 23.0 23.1 23.2 Dugan (1952) pp. 139, 145
  24. Brander, Roy. "The RMS Titanic and its Times: When Accountants Ruled the Waves". Elias Kline Memorial Lecture, 69th Shock & Vibration Symposium. สืบค้นเมื่อ 26 August 2008.
  25. 25.0 25.1 25.2 Dugan (1952) pp. 160–164, 207
  26. 26.0 26.1 Dugan (1952) pp. 167, 172–188
  27. Taylor, Richard (June 2021). "The Halpin Memorial Medal". Orders & Medals Research Society Journal. 60 (2): 146. ISSN 1474-3353.
  28. Dugan (1952) pp. 208–217
  29. Dugan (1952) p. 241
  30. Dugan (1952) p. 246
  31. "Sale of the Great Eastern". The Cornishman. No. 381. 5 November 1885. p. 5.
  32. S. R. Hill (2016). The Distributive System: The Commonwealth and International Library: Social Administration, Training, Economics and Production Division. Elsevier. pp. 101–. ISBN 978-1-4831-3777-3.
  33. Brindle, Steven (2013). Brunel: The Man Who Built the World. Orion Publishing Group. pp. 121–. ISBN 978-1-78022-648-4.
  34. Dugan (1952) p. 250
  35. "Latest Shipping Intelligence". The Times. No. 32069. London. 11 May 1887. col E, p. 6.
  36. Dugan (1952) p. 242
  37. Graves-Brown, Paul; Harrison, Rodney; Piccini, Angela (2013). The Oxford Handbook of the Archaeology of the Contemporary World. OUP Oxford. pp. 250–. ISBN 978-0-19-166395-6.
  38. Hall, David; Dibnah, Fred (2013). Fred Dibnah's Age Of Steam. Ebury Publishing. pp. 89–. ISBN 978-1-4481-4140-1.
  39. Dugan (1952) p. 266
  40. 40.0 40.1 Brian Dunning. "The Skeletons of the Great Eastern". Skeptoid. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
  41. Bennett, Alfred Rosling; London and Londoners in the 1850s & 1860s (1924), reprint Lume Books (2016), p. 120
  42. Kelly, Stephen F. (1988). You'll Never Walk Alone: the Official Illustrated History of Liverpool FC (Revised ed.). London: Maxwell Pergamon. p. 200. ISBN 0356172643.
  43. Kay, Dan (26 July 2019). "Can you help solve this decades-old Anfield mystery?". Liverpool Echo (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 13 July 2024.
  44. "LIVERWEB – An A to Z of Liverpool FC – G". liverweb.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2004.{{cite web}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  45. Presenter: Tony Robinson (10 November 2011). "Brunel's Last Launch". Time Team Special. Channel 4.
  46. Drumm, Russell (11 October 2007). "Mysterious Humongous Anchor Snagged Big haul for dragger off Montauk Point". East Hampton Star. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 July 2010.

หนังสืออ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:เรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุด แม่แบบ:บรูเนล