เหตุรุนแรงที่รามู พ.ศ. 2555

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดและสำนักสงฆ์ในกิ่งอำเภอรามู (ไม่ใช่วัดที่ถูกโจมตี) ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพุทธศาสนิกชนกลุ่มใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศบังกลาเทศ[1]

เหตุรุนแรงที่รามู พ.ศ. 2555 คือการทำลายศาสนสถานในศาสนาพุทธ และบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชนในกิ่งอำเภอรามู[2] ซึ่งขึ้นกับอำเภอคอกส์บาซาร์ ภาคจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ[3] โดยมีการรวมพลวุ่นวายช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555 พวกเขาเริ่มการทำลายวัด และสำนักสงฆ์ จำนวน 12 แห่ง บ้านเรือนของชาวพุทธอีก 50 หลัง เพื่อตอบโต้ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งซึ่งใช้ชื่อบัญชีเป็นผู้ชายชาวพุทธ แท็กภาพดูหมิ่นพระคัมภีร์อัลกุรอานบนไทม์ไลน์ของตนเอง[4][5] ซึ่งมีภาพเผาพระคัมภีร์อัลกุรอานจริง แต่ชายชาวพุทธผู้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้โพสต์ และเขาถูกใส่ร้าย[6] พุทธศาสนิกชนคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำดังกล่าว[7] แต่ทว่าความรุนแรงได้แผ่ขยายไปยังกิ่งอำเภออุขิยา ในอำเภอคอกส์บาซาร์[8] และกิ่งอำเภอปฏิยา ในอำเภอจิตตะกอง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในภาคจิตตะกอง

ในระยะเวลาสามวัน ศาสนสถานในศาสนาพุทธและฮินดูถูกเผาทำลายจนได้รับความเสียหายจำนวน 24 แห่ง แบ่งเป็นวัดพุทธในกิ่งอำเภอรามู 15 แห่ง กิ่งอำเภออุขิยา 5 แห่ง กิ่งอำเภอปฏิยา 4 แห่ง และเทวสถานฮินดูในกิ่งอำเภอปฏิยาอีกสองแห่ง ส่วนบ้านเรือนราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ ถูกเผาทำลายกว่าหนึ่งร้อยหลังคาเรือน[9] มีการประมาณการว่าจำนวนของผู้ที่เข้าไปทำลายสิ่งของของพุทธศาสนิกชนมีมากถึง 25,000 คน[10] และสามารถจับกุมผู้ก่อความวุ่นวายได้ 300 คน

เหตุการณ์[แก้]

เวลา 22.00 น. ของวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555 มีการรวมตัวประท้วงการโพสต์เฟซบุ๊กดูหมิ่นพระคัมภีร์อัลกุรอานโดยการเดินขบวน มีผู้นำพรรคอะวามีลีก (Awami League) ระดมมวลชนในท้องถิ่น เพื่อโจมตีพรรคตรงข้ามโดยใช้ความอ่อนไหวด้านศาสนา เดอะเดลีสตาร์ รายงานว่ามีการรวมกลุ่มกันอย่างกว้างขวาง แบ่งเป็น ขบวนแรกตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนพรรคอะวามีลีก กลุ่มบีเอ็นพี นักเรียนในโรงเรียนศาสนาอิสลาม และประชาชนทั่วไป เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในกิ่งอำเภอรามู[11] ผู้ประท้วงขบวนที่สองมีการเรียกร้องให้บุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊กดูหมิ่นพระคัมภีร์ออกมาแสดงความรับผิดชอบ กระทั่งเวลา 23.30 น. กลุ่มผู้ประท้วงขบวนที่สามมุ่งไปที่พารัวปารหา (Barua Parha) และเริ่มวางเพลิงบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชนบางหลัง[12] ต่อจากนั้นก็เปิดฉากโจมตีวัด อาราม และหมู่บ้านชาวพุทธหลายแห่ง โดยใช้ดินปืน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเบนซิน[12][13] รวมทั้งปล้นทรัพย์สินมีค่า เช่น เงิน ทองคำ และคอมพิวเตอร์[7] การลอบวางเพลิงชุมชนวางเพลิงชุมชนชาวพุทธดำเนินเรื่อยไปจนถึงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ยังเฉยเมยต่อสถานการณ์หลังเหตุการณ์ดำเนินไปแล้วถึง 24 ชั่วโมง[9]

ช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 เหตุการณ์บานปลายออกไปนอกกิ่งอำเภอรามู เพราะมีการเผาทำลายวัดพุทธและเทวสถานฮินดูในกิ่งอำเภออุขิยา[14] กระทั่งรุ่งขึ้นของวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ก็มีการเผาทำลายทีปังกรพุทธพิหาร (Dipankar Bouddha Bihar) ในมริจยา (Marichya) และปัญญามิตรพุทธพิหาร (Pangyamitra Bouddha Bihar) ในขาอีราติพารา (Khairatipara) ซึ่งเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ เฉพาะวันจันทร์มีการเผาทำลายวัดและอารามพุทธ 6 แห่ง เกิดขึ้นในกิ่งอำเภออุขิยา[15] และมีกรณีคนคลั่งศาสนาเข้าไปเผาทำลายมาตฤมนเทียร (Matri Mandir) ซึ่งเป็นเทวสถานฮินดูในเชเลปาระ (Jelepara)[9] นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเข้าไปเผาพระคัมภีร์ของศาสนาพุทธและริบพระพุทธรูปออกไปด้วย[16] พุทธศาสนิกชนต้องหลบซ่อนตัวในป่าละแวกบ้าน เฝ้าดูชาวมุสลิมเผาบ้านเรือนและรื้อค้นทรัพย์สิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ไร้บ้านไปทันที[7]

นอกจากนี้เหตุการณ์ยังบานปลายไปยังกิ่งอำเภอปฏิยา ซึ่งขึ้นกับอำเภอจิตตะกอง[14] ด้วยการโจมตีวัดพุทธและเทวสถานฮินดูในช่วงเที่ยงของวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 และช่วงเวลาเที่ยงคืนซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม คนงานของเรือเดินสมุทรเวสเทิร์นมารีนจำนวน 500 คน ลอบวางเพลิงพุทธารามสองแห่ง คือ รัตนังกูรพุทธพิหาร (Ratnankur Bouddha Bihar) ในกลคาโอน (Kalagaon) และอภัยพุทธพิหาร (Abhay Bouddha Bihar) ในลาเขรา (Lakhera) กับเทวสถานฮินดูอีกหนึ่งแห่ง คือ นพรุนสังฆทุรคาพารี (Nabarun Sangha Durgabari) ในกลคาโอน (Kalagaon)[15]

มีชาวโรฮีนจาซึ่งลี้ภัยจากประเทศพม่า ร่วมประสมโรงการโจมตีชุมชนชาวพุทธด้วย เพราะในช่วงบ่ายของวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวชาวโรฮีนจาจำนวนสามคนได้ที่กิ่งอำเภอจกริยา ในอำเภอคอกส์บาซาร์ ขณะที่พวกเขากำลังโจมตีอารามพุทธแห่งหนึ่งในมาณิกปุร (Manikpur)[17]

การสืบสวน[แก้]

มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 ซึ่งวันต่อมาได้ตรวจสอบพบปัญหาในรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารประจำกิ่งอำเภอ และมีรายงานลงในหนังสือพิมพ์รายวัน[15]

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลฎีกาสั่งให้โตฟาอิล อะฮ์มัด (Tofail Ahmed) เจ้าหน้าที่ประจำกิ่งอำเภอนาอิกษยังฉริ ในอำเภอพานทรพาน ภาคจิตตะกอง ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลล่างเป็นระยะเวลาสี่สัปดาห์ หลังพบว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีและทำลายล้างชุมชนชาวพุทธในกิ่งอำเภอรามู อำเภอคอกส์บาซาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2555 โตฟาอิลตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายสำคัญในเหตุรุนแรงที่รามูจากการสืบสวนของรัฐบาล[18]

ปฏิกิริยา[แก้]

คณะพระสงฆ์และนักบวชฮินดูในประเทศพม่า[19] อินเดีย[20] ศรีลังกา[21] และไทย[21] มีปฏิกิริยาต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อชุมชนชาวพุทธในประเทศบังกลาเทศ ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา มีประชาชนบางส่วนออกมาประท้วงบริเวณด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตบังกลาเทศ โดยมีการยื่นคำร้องประณามการโจมตีดังกล่าว ผู้ประท้วงชาวศรีลังกาบางส่วนขว้างปาสิ่งของใส่สถานทูตจนหน้าต่างบางส่วนพังเสียหาย ก่อนที่ตำรวจศรีลังกาจะเข้ามาระงับเหตุ[21]

6 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เชก ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ออกมาประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนิกชน เธอกล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเรียกร้องให้ทุกคนข่มใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้[22] ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคมปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ไปเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบ เธอได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับสัญญาว่าจะให้ความยุติธรรมอย่างเหมาะสม[23] หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพบังกลาเทศฟื้นฟูพุทธสถานขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อโครงการว่า "การฟื้นฟูและบูรณะวัดในพระพุทธศาสนาที่ได้รับความเสียหาย" สิ้นเงินงบประมาณ 200 ล้านตากา โดยกองทัพบังกลาเทศได้บูรณะและ/หรือสร้างวัดและอารามขึ้นใหม่จำนวน 19 แห่ง โดยได้ผสมผสานการออกแบบสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมจากสถาปนิกชาวพุทธที่มีชื่อเสียงของแต่ละชุมชน[24]

อับดุล ฮามิด ประธานาธิบดีบังกลาเทศ เข้าเยี่ยมชมวัดและศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่งในกิ่งอำเภอรามูเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557 ระหว่างนั้นเขาได้สอบถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพุทธศาสนิกชน และแจกจ่ายเช็คให้แก่สมาชิกในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ[24]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Census 2022: Bangladesh population now 165 million". 27 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2022. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
  2. "Violencia religiosa en Bangladesh por imagen ofensiva publicada en Facebook". BBC Mundo.
  3. "Desa-desa Buddha di Bangladesh diserang". BBC Indonesia. 30 September 2012.
  4. "Extremists 'linked'". The Daily Star. 1 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 3 November 2015.
  5. "Khaleda for neutral probe, tough action". The Daily Star. 1 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 3 November 2015.
  6. "Bangladesh rampage over Facebook Koran image". BBC News. 30 September 2012.
  7. 7.0 7.1 7.2 "Bangladesh Buddhists pick up pieces after mob rampage". BBC News. Ramu, Cox's Bazar District. 1 February 2013.
  8. "5 Buddhist temples attacked in Ukhia". bdnews24.com. 2 September 2012. สืบค้นเมื่อ 31 May 2013.
  9. 9.0 9.1 9.2 "24 Buddhist and Hindu temples burnt in Bangladesh - India and UN urged to intervene" (Press release). Asian Centre for Human Rights. 1 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2012. สืบค้นเมื่อ 4 October 2012.
  10. "Rioting mob torches temples in Bangladesh". ABC News. 30 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2015. สืบค้นเมื่อ 5 October 2012.
  11. Inam Ahmed, Julfikar Ali Manik (3 October 2012). "A hazy picture appears". The Daily Star. สืบค้นเมื่อ 24 October 2012.
  12. 12.0 12.1 "Buddhist temples, homes burned, looted in Ramu". bdnews24.com. 30 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2012. สืบค้นเมื่อ 3 October 2012.
  13. "Ramu Violence: Home Minister points finger at MP". BDNEWS. 30 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-05. สืบค้นเมื่อ 3 October 2012.
  14. 14.0 14.1 "166 nabbed for Ramu rampage". Daily Sun. 2 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-16. สืบค้นเมื่อ 2 October 2012.
  15. 15.0 15.1 15.2 Juberee, Abdullah; Atikuzzaman, A.K.M. (2 October 2012). "Mobs torch two more monasteries in Cox's Bazar". The New Age. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2012. สืบค้นเมื่อ 2 October 2012.
  16. Ethirajan, Anbarasan (1 February 2013). "Bangladesh Buddhists pick up pieces after mob rampage". BBC News. Ramu, Cox's Bazar District. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-24. สืบค้นเมื่อ 2023-07-16.
  17. "3 Rohingyas held in Cox's Bazar". Daily Sun. 3 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-16. สืบค้นเมื่อ 3 October 2012.
  18. "SC cancels key Ramu attacker's bail". The Daily Star. 12 May 2014.
  19. "Burmese Buddhists protest attacks". The Scotsman. 6 October 2012. สืบค้นเมื่อ 6 October 2012.
  20. "Buddhists, Hindus in Tripura protest against attack on Bangladesh temples". News Track India. 9 October 2012. สืบค้นเมื่อ 9 October 2012.
  21. 21.0 21.1 21.2 "Bangladesh embassy stoned during monks' protest" (Press release). Agence France-Presse. 4 October 2012. สืบค้นเมื่อ 6 October 2012.
  22. "Attack on Buddhist Temples premeditated: Prime Minister Sheikh Hasina". Asian Tribune. 7 October 2012. สืบค้นเมื่อ 7 October 2012.
  23. "PM visits Ramu, meets victims". bdnews24.com. 8 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2012. สืบค้นเมื่อ 8 October 2012.
  24. 24.0 24.1 "President visits rebuilt Buddhist temples in Ramu". Bangladesh Sangbad Sangstha (BSS). 10 March 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 6 June 2014.