เหตุการณ์แดรฟุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บันทึกข้อมูลบอร์เดอโร จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์แดรฟุส

เหตุการณ์แดรฟุส (ฝรั่งเศส: Affaire Dreyfus) คือ วิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ของฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2437 และดำเนินต่อเนื่องกันไปจนถึง พ.ศ. 2449 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างสถาบันหลักทางการปกครองและสังคมฝรั่งเศสซึ่งเริ่มตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส พ.ศ. 2332 ปรากฏเด่นชัดอีกครั้ง และกลายเป็นปัญหาล่อแหลมต่อการดำรงอยู่ของระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ทั้งยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางการเมืองและสังคมของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์[แก้]

เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากคดีแดรฟุส ซึ่งเริ่มเมื่อร้อยเอก อาลแฟรด แดรฟุส นายทหารประจำกรมเสนาธิการถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2437 ในข้อหาทรยศต่อชาติ เพราะขายความลับทางการทหารให้แก่พันเอก มักซ์ ฟอน ชวาทซ์คอพเพิน (Max von Schwartzkoppen) ผู้ช่วยทูตทหารบกเยอรมันประจำฝรั่งเศส โดยหลักฐานสำคัญคือ "บันทึกข้อมูลบอร์เดอโร" ซึ่งมีข้อมูลเรื่องความลับทางการทหารฝรั่งเศส

ด้วยเหตุที่แดรฟุสเป็นนักสาธารณรัฐนิยม และเป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวซึ่งอพยพมาจากแคว้นอาลซัส การที่แดรฟุสได้เข้าประจำการในกรมเสนาธิการ จึงทำให้แดรฟุสเป็นคนนอกคอกในหมู่นายทหารฝ่ายเสนาธิการซึ่งเป็นพวกนิยมระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ ปัญหาเชื้อชาติของแดรฟุสจึงมีมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มหาชนเชื่อว่า เขาคือชาวยิวที่ทรยศต่อฝั่งเศส

ศาลทหารได้เริ่มไต่สวนความผิดในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2437 โดยเป็นความลับ ซึ่งทางการทหารได้ส่งเอกสารลับซึ่งอ้างว่าเป็นหลักฐานมัดตัวและยืนยันความผิดแก่แดรฟุส โดยที่แดรฟุสและทนายความของเขาไม่มีโอกาสได้เห็นเอกสารดังกล่าว ศาลทหารมีมติเอกฉันท์ให้จำคุกแดรฟุสตลอดชีวิต แดรฟุสจึงถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเดวิลส์ ซึ่งเป็นเกาะโดดเดี่ยวในแคว้นเฟรนช์เกียนา ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ต่อมา ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2438 แดรฟุสถูกลงโทษโดยการกระชากเครื่องหมายยศและหักกระบี่ในพิธีสวนสนาม โดยที่กระแสของมหาชนในเวลานั้นต่างแค้นเคืองแดรฟุสและคิดว่าเขาควรถูกประหารชีวิต

ภาพวาด "การถอดยศอาลแฟรด แดรฟุส" (La Dégradation d'Alfred Dreyfus) ผลงานของอ็องรี แมแยร์ (Henri Meyer)

แม้ว่าแดรฟุสจะถูกลงโทษตามคำพิพากษา และคดีได้เริ่มจางหายไปจากความสนใจของประชาชน แต่ครอบครัวของแดรฟุสไม่เชื่อว่าแดรฟุสกระทำความผิด เพราะแดรฟุสไม่ได้มีปัญหาด้านการเงินและปัญหาเรื่องผู้หญิงที่จะทำให้แดรฟุสกระทำผิดได้ มาตีเยอ แดรฟุส (Mathieu Dreyfus) พี่ชายของแดรฟุสจึงพยายามเต็มที่ที่จะช่วยน้องชายให้พ้นจากข้อกล่าวหา แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากมาก เนื่องจากไม่มีผู้ใดเต็มใจช่วยเหลือ แม้แต่ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวก็เห็นว่า แดรฟุสนำความเสื่อมเสียมาสู่พวกตน และเป็นเหตุที่ทำให้ขบวนการต่อต้านชาวยิวในฝรั่งเศสถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2437 พันเอกฌอร์ฌ ปีการ์ (Georger Picquart) ได้รับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับคนใหม่ เขารู้สึกว่าการเนรเทศแดรฟุสไม่ได้ยุติการรั่วไหลของความลับทางทหารและเขายังพบว่าลายมือในบันทึกข้อมูลที่พบนั้นคล้ายกับลายมือของแฟร์ดีน็อง วาลแซ็ง แอ็สแตราซี (Ferdinand Walsin Esterhazy) ซึ่งเคยเป็นนายทหารประจำหน่วยสืบราชการลับ ซึ่งเป็นคนติดการพนันและกำลังลำบากทางการเงิน นอกจากนี้ ปีการ์ยังพบว่าเอกสารลับซึ่งใช้ในการพิจารณาคดีมีความคลุมเครือมาก เขาจึงเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้มีการสอบสวนคดีแดรฟุสใหม่ แต่ผลที่ได้รับคือเขาถูกสั่งย้ายด่วนไปประจำการที่ตูนิส ทำให้ปีการ์แน่ใจว่านายทหารระดับสูงของฝรั่งเศสพยายามป้องกันการรื้อฟื้นคดี เขาจึงเล่าเรื่องราวให้คนที่เขานับถือฟังซึ่งหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้น คือ โอกุสต์ เชอเร-แก็สเน (Auguste Scheurer-Kestner) รองประธานวุฒิสภาชาวฝรั่งเศส เพื่อนเก่าของเกลม็องโซและเป็นชาวแคว้นอาลซัสเช่นเดียวกับปีการ์และแดรฟุส

ในช่วงที่ปีการ์ค้นพบเงื่อนงำในการพิจารณาคดีแดรฟุสนั้น ทนายความของแดรฟุสได้ค้นพบว่าคำตัดสินของผู้พิพากษาอาศัยหลักฐานจากเอกสารลับซึ่งพันเอก ดูว์ ปาตี เดอ กล็อง (Du Paty de Clam) เป็นผู้จัดเตรียม โดยไม่เปิดให้ฝ่ายแดรฟุสได้ตรวจสอบ อันเป็นการขัดกับกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุนี้มาตีเยอ แดรฟุส จึงขอการสนับสนุนจากแบร์นาร์ ลาซาร์ (Bernard Lazare) นักหนังสือพิมพ์ ลาซาร์จึงพิมพ์จุลสารชื่อ Une Erreur Judiciaire เรียกร้องให้มีการสอบสวนคดีแดรฟุสขึ้นมาใหม่ แม้ว่าชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ แต่นักการเมืองและปัญญาชนฝ่ายสาธารณรัฐนิยมก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น

เพื่อหยุดยั้งกระแสความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้นำกองทัพบกจึงสั่งให้มีการไต่สวนแอ็สแตราซี ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2441 ซึ่งทำเหมือนการจัดฉาก ซึ่งผลการตัดสิน คณะผู้พิพากษาลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าแอ็สแตราซีไม่มีความผิด จึงดูเหมือนกับว่ารัฐบาลต้องการให้เรื่องยุติลง และกองทัพซึ่งต้องการยืนยันความถูกต้องและอำนาจของตน ในขณะเดียวกันปีการ์ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ความแตกแยกทางสังคม[แก้]

หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ลอรอร์ฉบับวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) ตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกของเอมีล ซอลา ถึงประธานาธิบดีเฟลิกซ์ ฟอร์ เพื่อประณามการตัดสินคดีอย่างผิดพลาดในคดีแดรฟุส โดยพาดหัวข่าวด้วยข้อความว่า "ข้าพเจ้าขอกล่าวหา...!" (J'Accuse...!)

การที่กองทัพใช้อำนาจโดยพลการและดูถูกกระบวนการยุติธรรม ทำให้เอมีล ซอลา (Émile Zola) นักเขียนนวนิยายชื่อดังแค้นเคืองและเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีเฟลิกซ์ ฟอร์ และใช้หัวเรื่องว่า "J'Accuse...!" ("ข้าพเจ้าขอกล่าวหา...!") จดหมายฉบับดังกล่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลอรอร์ (L'Aurore) ของเกลม็องโซฉบับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2441 โดยประณามศาลทหารที่ลงโทษแดรฟุสและปลดปล่อยแอ็สแตราซี ทั้งเตือนว่านี้คือการวางแผนที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองแบบสาธาณรัฐในที่สุด ชั่วเวลาเพียงวันเดียวคดีแดรฟุสเปลี่ยนจากเรื่องของกระบวนการด้านกฎหมายมาเป็นปัญหาการเมืองที่ล่อแหลมและท้าทายต่อรัฐบาลและระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ สภาผู้แทนราษฎรจึงเปิดอภิปรายเหตุการณ์เรื่องแดรฟุส

เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเอมีล ซอลาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในความผิดข้อหาหมิ่นประมาท เขาหนีไปอังกฤษและเริ่มต่อสู้ด้วยการเขียนบทความโจมตีผู้นำกองทัพ บทบาทของซอลากระตุ้นให้เกิดจุดเปลี่ยนในเหตุการณ์แดรฟุส และรื้อฟื้นความแตกร้าวที่ฝังลึกในสังคมฝรั่งเศสขึ้นอีก ซึ่งในครั้งนี้แสดงออกมาในรูปของกลุ่มต่อต้านแดรฟุส ซึ่งคือกลุ่มที่ต่อต้านการเปิดพิจารณาคดีแดรฟุสขึ้นใหม่ โดยเห็นว่ากลุ่มผุ้สนับสนุนแดรฟุสมุ่งทำลายเกียรติภูมิของประเทศและกองทัพซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนจักรได้เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ อัครมุขนายกแห่งปารีสให้การสนับสนุนต่อแนวร่วมต่อต้านชาวยิวของบรรดานายทหารในกองทัพ จึงเกิดการจลาจลต่อต้านชาวยิวขึ้นในหลายเมือง มีการเดินขบวนและการปล้นทรัพย์สินของชาวยิว

การยุติเหตุการณ์[แก้]

คดีแดรฟุสยุติลงใน พ.ศ. 2449 เมื่อศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลทหารที่เมืองแรน และตัดสินให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แดรฟุสได้กลับเข้ารับตำแหน่งในกองทัพบกและได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก นับว่าเหตุการณ์นี้มีผลสะท้อนที่ยิ่งใหญ่ต่อสังคมฝรั่งเศส ในแง่การเมืองภายในประเทศ ได้เพิ่มเกียรติภูมิให้แก่ระบบสาธารณรัฐและพวกสาธารณรัฐนิยมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผลกระทบจากเหตุการณ์[แก้]

ผลกระทบที่สำคัญยิ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ การที่พวกสาธารณนิยมหัวรุนแรงซึ่งมีนโยบายต่อต้านศาสนจักรอย่างมากและเป็นฝ่ายที่สนับสนุนแดรฟุสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2445 สภาจึงสามารถร่างกฎหมายแยกรัฐและศาสนจักรออกจากกัน และเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านวุฒิสภาก็กลายเป็นกฎหมายแยกรัฐและศาสนจักร (Law of Seperation of Church and State) อันเป็นการยกเลิกความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล พ.ศ. 2344 โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ท่าทีอันแข็งกร้าวของกองทัพต่อรัฐบาลในเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสตระหนักถึงความจำเป็นในการที่ต้องเข้าควบคุมกองทัพ ซึ่งผลสำเร็จในเรื่องนี้ทำให้ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐของฝรั่งเศสมั่นคงและยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้

ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ เหตุการณ์นี้ทำให้ฝรั่งเศสอยู่ในฐานะอ่อนแอและลำบาก สัมพันธภาพระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีซึ่งมีความหวาดระแวงอยู่แล้วยิ่งเปราะบางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความแตกแยกของสถาบันหลักในฝรั่งเศสทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้แก่อังกฤษในกรณีเหตุการณ์ฟาโชดา และทำให้ฝรั่งเศสอยู่ในฐานะเสียเปรียบเรื่องอำนาจต่อรองระหว่างประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  • สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์. สารานุกรมประวัติศาสตร์ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม C-D. หน้า 327-334.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]