เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผลิตภัณฑ์ของแรงงาน (จีดีพีต่อชั่วโมงทำงานของแรงงานหนึ่งคน) ของเนเธอร์แลนด์นับว่าสูงเป็นอันดับต้นๆของยุโรป (รายงานจาก OECD ค.ศ. 2012)

เศรษฐกิจของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลกเมื่อคิดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)[1][2]จากรายงานของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีจีดีพีต่อคนอยู่ที่ราวๆ 48,860 ดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2017/18 จีดีพีของประเทศเติบโตราวร้อยละ 4 ระหว่างช่วง ค.ศ. 1996 ถึง 2000 ก่อนจะลงมาในช่วง 5 ปีต่อมา และลงมาอยู่ที่การเติบโตร้อยละ 3-4 ในช่วง ค.ศ. 2006 ถึง 2007 จากพิษเศรษฐกิจจากเหตุการณ์วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป

หลังการค้นพบก๊าซธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 1959 เนเธอร์แลนด์ขุดเจาะและส่งออกมานับแต่นั้นโดยมีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณสำรองในสหภาพยุโรป เป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับเนเธอร์แลนด์หลายทศวรรษที่ผ่านมา[3] อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นเช่นกันหรือที่รู้จักกันในทางเศรษฐศาสตร์ว่า โรคดัตช์

เนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและมั่งคั่ง ขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก มีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง อัตราการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเกินสะพัดสูง และเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมของยุโรปโดยมีท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ท่าอากาศยานนานาชาติสคิปโฮลเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ของยุโรป อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ การกลั่นปิโตรเลียม เทคโนโลยีขั้นสูง การบริการด้านการเงิน บันเทิง และเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการเกษตรมีแรงงานเพียงร้อยละ 2 ของแรงงานทั้งประเทศแต่สร้างผลผลิตส่วนเกินมหาศาลสำหรับการแปรรูปอาหารและการส่งออก เนเธอร์แลนด์ยังเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศที่เริ่มใช้เงินสกุลยูโรเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002

ประวัติศาสตร์[แก้]

หลังเนเธอร์แลนด์ประกาศอิสรภาพจากการปกครองของสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1581 ก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐดัตช์ เศรษฐกิจก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก มีการพัฒนาวิธีการสร้างเรือ ทักษะทางการค้า การรวบรวมเงินทุน โดยมีปัจจัยเสริมจากการที่พ่อค้าที่มั่งคั่งอพยพจากฟลานเดอร์สทางตอนใต้อพยพขึ้นมาอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์หลังดินแดนฝั่งใต้ตกเป็นของสเปนจากการสู้รบในสงครามประกาศเอกราช การค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐรุ่งเรืองมาก การขนส่งสินค้าทางทะเลมีมากถึง 568,000 ตันในปี ค.ศ. 1670 หรือราวๆครึ่งหนึ่งของยุโรป สาเหตุสำคัญคือการเติบโตของกรุงอัมสเตอร์ดัมที่กลายมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป และการประสบความสำเร็จของบริษัทอินเดียตะวันออกและบริษัทอินเดียตะวันตกในการทำการค้ากับดินแดนอาณานิคม

การส่งออกของเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 2006

การปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงแรกที่มีลม น้ำ และพีตเป็นแหล่งพลังงงานหลักนั้นก็ทำให้ดัตช์สามารถผันน้ำทะเลออกไปและสร้างผืนแผ่นดินใหม่ได้ นำมาซึ่งการปฏิวัติเกษตรกรรม ทำให้ชาวดัตช์มีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในยุโรปราวกลางศตวรรษที่ 17 หรือที่เรียกว่ายุคทองของเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองนี้ถึงคราวต้องสิ้นสุดหลังเกิดสงครามกับประเทศมหาอำนาจด้วยกันหลายครั้งต่อเนื่องและวิกฤตเศรษฐกิจราว ค.ศ. 1670 เนเธอร์แลนด์ไม่สามารถกลับไปอยู่ ณ จุดสูงสุดได้อีกเลยนับจากนั้น

เนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วดั่งเช่นชาติอื่นๆของยุโรป เนื่องจากภาคเศรษฐกิจหลักคือการค้าและเกษตรกรรมเกิดการถดถอย จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 รัฐบาลเริ่มสร้างนโยบายที่รวมเศรษฐกิจเข้าเป็นระบบเดียวกัน มีการยกเลิกภาษีศุลกากรในประเทศ ยุบสมาคมพ่อค้า ใช้ระบบเงินตราแบบเดียวกัน ใช้วิธีการเก็บภาษีแบบใหม่ ใช้มาตรวัดชั่งตวงมาตรฐาน และสร้างโครงข่ายถนน คลอง และรางรถไฟ

เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เปลี่ยนไปสู่สังคมอุตสาหกรรมโดยมีชนชั้นกลางเป็นแรงขับเคลื่อนหลังในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่นเดียวกับชาติอื่นๆในยุโรป ตัวเลขแรงงานในภาคเกษตรกรรมลดลงและผันไปอยู่กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า ในอดีตเนเธอร์แลนด์เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมช้ากว่าประเทศเบลเยียมแต่ก็ไล่ทันราวๆ ค.ศ. 1920 โดยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยบริษัทฟิลิปส์เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก[4] ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขคนจนลดลงอย่างช้าๆ การจ้างงานและสวัสดิการดีขึ้นเรื่อยมา

ในปี ค.ศ. 1959 เนเธอร์แลนด์ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ สร้างรายได้มหาศาลแต่ก็มีผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นเช่นกัน[5]

การดำเนินงานของรัฐบาล[แก้]

ขณะที่ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน การใช้จ่ายของภาครัฐคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 28 ของจีดีพี[6]โดยไม่รวมการจ่ายเงินประกันสังคม ขณะที่รายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 38.7 ของจีดีพี[7]ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรป[8] นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีอำนาจในการออกข้อบังคับต่างๆ โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจจุลภาคแบบเข้มงวดและเสถียรมาปรับใช้ในการปฏิรูปโครงสร้างและระเบียบข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเริ่มลดบทบาทในทางเศรษฐกิจลงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและปล่อยให้ภาคเอกชนมีเสรีในการดำเนินกิจการ เปลี่ยนมามีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจผ่านทางการประชุมสภาเศรษฐกิจและสังคมร่วมมือกับสหภาพการค้าและองค์กรนายจ้างแทน

ระบบประกันสังคม[แก้]

ระบบประกันสังคมของเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมผู้อยู่อาศัยในเนเธอร์แลนด์ทุกคน แบ่งเป็นประกันสังคมแห่งชาติ และประกันลูกจ้าง บุคคลที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้กับระบบประกันสังคม รวมถึงชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ด้วย

อุตสาหกรรม[แก้]

ก๊าซธรรมชาติ[แก้]

การค้นพบก๊าซธรรมชาติในปี ค.ศ. 1959 ที่โกรนิงเงินทางตอนเหนือของประเทศสร้างรายได้มหาศาลและผลกระทบกับธุรกิจภาคส่วนอื่นไปพร้อมๆกัน เนเธอร์แลนด์มีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณสำรองของยุโรป[9] หรือราวๆร้อยละ 0.3 ของทั้งโลก[10] แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและยุบบ่อยครั้ง รัฐบาลได้สั่งลดปริมาณการขุดเจาะเมื่อปี ค.ศ. 2014 เรื่อยไปจนกระทั่งเลิกขุดในปี ค.ศ. 2028[11] และตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานแหล่งอื่นแทนเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

พลังงานนิวเคลียร์[แก้]

โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่โบร์สเซเลอ จังหวัดเซลันด์

นักวิจัยในเนเธอร์แลนด์เริ่มศึกษาพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 และเริ่มสร้างเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยที่โดเดอวาร์ด ในจังหวัดเกลเดอร์ลันด์เมื่อปี ค.ศ. 1955 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ในปี ค.ศ. 1962 เพื่อมาทดแทนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ มีการทดสอบนำเตาปฏิกรณ์มาเชื่อมกับโครงข่ายพลังงานในปี ค.ศ. 1968 (แต่ถูกปิดไปในปี ค.ศ. 1997) ในปี ค.ศ. 1984 รัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงงานจัดเก็บของเสียกัมมันตรังสีแบบอ่อนระยะยาว (100 ปี) และทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการย่อยสลายของเสียจากนิวเคลียร์ มีการตั้งองค์กรกลางเพื่อของเสียกัมมันตรังสีขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003 เพื่อสร้างโรงงานจัดเก็บของเสียกัมมันตรังสีแบบเข้ม

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในเชิงพาณิชย์ตั้งอยู่ที่โบร์สเซเลอ จังหวัดเซลันด์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 และสร้างกำลังไฟฟ้าราวร้อยละ 4 ของกำลังไฟฟ้าทั่วประเทศ[12] นอกจากนี้ยังมีเตาปฏิกรณ์ขนาด 2 ล้านเมกะวัตต์ตั้งอยู่ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ เพื่อการวิจัยด้านนิวตรอนและโพสิตรอน

รัฐสภาเนเธอร์แลนด์มีมติให้ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงเมื่อปี ค.ศ. 1994 เป็นสาเหตุให้มีการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่โดเดอวาร์ด และถอนใบอนุญาตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่โบร์สเซเลอในปี ค.ศ. 2003 แต่ผ่อนผันให้ได้ถึงปี ค.ศ. 2034 หากยังสามารถดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยสูงสุดได้ อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์และบริษัทไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มเสนอให้มีการสร้างเตาปฏิกรณ์แห่งใหม่ แต่ข้อเสนอยังไม่ได้ข้อสรุปจนถึงทุกวันนี้

การท่องเที่ยว[แก้]

ในปี ค.ศ. 2011 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ราว 11.3 ล้านคน[13] สร้างรายได้ราวร้อยละ 5.4 ของจีดีพีของประเทศในปี ค.ศ. 2012 มีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 9.6 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ คิดเป็นลำดับ 83 จาก 147 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดอันดับ การท่องเที่ยวจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ใหญ่มากในเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์[14]

จังหวัดนอร์ดฮอลแลนด์เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากที่สุด ราวๆ 6 ล้านคนในปี ค.ศ. 2011 รองลงมาคือจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ ราวๆ 1.4 ล้านคน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากเยอรมัน อังกฤษ และเบลเยียม (ราวๆ 3.0 ล้านคน 1.5 ล้านคน และ 1.4 ล้านคนตามลำดับ[15]) เนเธอร์แลนด์มีมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก 9 แห่ง และประเทศเนเธอร์แลนด์มีชื่อเสียงด้านมรดกทางศิลปะและประวัติศาสตร์

บริษัทใหญ่[แก้]

เนเธอร์แลนด์มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งอยู่ โดยมีบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมื่อวัดจากรายได้ และเคยใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปี ค.ศ. 2009 สำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างๆสัญชาติดัตช์มักตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เช่น ไฮเนเก้น อาโฮลด์ ฟิลิปส์ ทอมทอม รันด์สตัดโฮลดิง และไอเอ็นจี ยกเว้นสำนักงานของยูนิลีเวอร์ตั้งอยู่ที่รอตเทอร์ดาม ของอาเอสเอ็มเอล โฮลดิงตั้งอยู่ใกล้ไอนด์โฮเวน

บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2011 มีดังนี้

อันดับ ชื่อ สำนักงานใหญ่ รายได้ (ล้านยูโร) กำไร (ล้านยูโร) จำนวนลูกจ้าง

(ทั่วโลก)

01. รอยัลดัตช์เชลล์ เดอะเฮก 378,152 20,127 97,000
02. ไอเอ็นจี อัมสเตอร์ดัม 147,052 3,678 106,139
03. เอกอน เดอะเฮก 65,136 2,330 27,474
04. แอร์บัส ไลเดิน 60,597 732 121,691
05. ไลยงเดลล์บาเซลล์ รอตเทอร์ดาม 41,151 ไม่รายงาน 14,000
06. รอยัลอาโฮลด์ อัมสเตอร์ดัม 39,111 1,130 122,027
07. ฟิลิปส์ อัมสเตอร์ดัม 33,667 1,915 119,001
08. ราโบบังก์ ยูเทรกต์ 32,672 3,552 58,714
09. ก๊าซแทร์รา โกรนิงเงิน 24,313 48 188
010. ไฮเนอเกิน อัมสเตอร์ดัม 21,684 954 65,730
เอสฮาเฟโฮลดิงส์ ยูเทรกต์ 21,202 799 50,300
อักโซโนเบิล อัมสเตอร์ดัม 20,419 999 55,590

อ้างอิง[แก้]

  1. "World Economic Outlook Database, October 2019". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 16 October 2019.
  2. "World Economic Outlook Database, April 2020". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 17 April 2020.
  3. Banning, Cees (17 June 2009). "The Dutch curse: how billions from natural gas went up in smoke". NRC Handelsblad. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2016.
  4. Loyen, Reginald; และคณะ (2003). Struggling for Leadership: Antwerp-Rotterdam Port. Competition 1870–2000. Springer. ISBN 978-3-7908-1524-5.
  5. "The Dutch Disease" (26 November 1977). The Economist, pp. 82–83.
  6. "General government final consumption expenditure (% of GDP)". World Bank. สืบค้นเมื่อ 7 April 2013.
  7. "Total tax revenue as percent of GDP". OECD. สืบค้นเมื่อ 7 April 2013.
  8. "Main national accounts tax aggregates". Eurostat. สืบค้นเมื่อ 7 April 2013.
  9. "The hunt for gas and oil reserves that are more difficult to extract". EBN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2015.
  10. Focus on Dutch Oil and Gas 2015 (PDF) (Report). EBN. 2015. p. 10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-26. สืบค้นเมื่อ 2020-04-18.
  11. https://www.theguardian.com/environment/2018/jan/23/gas-field-earthquakes-put-netherlands-biggest-firms-on-extraction-notice
  12. "Nuclear Power in the Netherlands". World Nuclear Association (WNA). January 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-27. สืบค้นเมื่อ 21 February 2011.
  13. "UNWTO Tourism Highlights, 2013 Edition". United Nations World Tourism Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-09. สืบค้นเมื่อ 25 August 2013.
  14. "Netherlands Economic Impact Report". World Travel & Tourism Council. สืบค้นเมื่อ 25 August 2013.
  15. "Toerisme en recreatie in cijfers 2012" (ภาษาดัตช์). Statistics Netherlands. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 25 August 2013.