เวลามาตรฐาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่แสดงเขตเวลาของโลกที่ใช้ในปัจจุบัน

เวลามาตรฐาน (standard time) หมายถึง เวลาตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ใช้กันทั่วไปในแต่ละรัฐหรือภูมิภาค

ภาพรวม[แก้]

เวลาท้องถิ่นหมายถึงมาตราเวลาของภูมิภาค หรือสถานที่หนึ่ง ๆ โดยแต่เดิมมีการใช้ เวลาสุริยคติเฉลี่ย ซึ่งเป็นเวลาที่ขึ้นอยู่กับสถานที่ และความแตกต่างของลองจิจูด 1 จะทำให้เวลาต่างกัน 4 นาที และความแตกต่างของลองจิจูด 15 องศาทำให้เวลาต่างกัน 1 ชั่วโมง เป็นผลให้เมืองที่อยู่ห่างไกลจะใช้นาฬิกาของตัวเองและไม่ตรงกันกับนาฬิกาของส่วนกลาง ในทางกลับกัน ในเวลามาตรฐานคือเวลาที่ใช้ร่วมกันในพื้นที่บริเวณกว้าง

ปัจจุบัน ระบบเวลาที่ใช้เป็นเวลามาตรฐานของแต่ละที่มักเป็นเวลาที่แตกต่างจากเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ไป 1 ชั่วโมงหรือ 30 นาที ขึ้นกับลองจิจูดของที่นั้น ๆ การเลือกลองจิจูดจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น จุดศูนย์กลางของช่วงลองจิจูดที่ประเทศหรือภูมิภาคนั้นตั้งอยู่ ความหนาแน่นของประชากร ที่ตั้งของเมือง และความแตกต่างของเวลาระหว่างภูมิภาคที่ใช้เวลามาตรฐาน

เมื่อใช้เวลามาตรฐานในแต่ละพื้นที่จะต้องมีการระบุเขตเวลา (time zone) ของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย โดยอาจระบุด้วยออฟเซตเวลาสากลเชิงพิกัด และในบางประเทศยังมีการใช้เวลาออมแสงอีกด้วย

ความเป็นมาของเวลามาตรฐาน[แก้]

ก่อนสมัยที่เริ่มมีการใช้เวลามาตรฐาน การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะตั้งนาฬิกาของตนเอง (ถ้าเมืองนั้นมีนาฬิกา) โดยยืนพื้นตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในเมืองนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็น เวลาสุริยคติเฉลี่ยที่กำหนดสำหรับแต่ละเมืองหรือจุดสังเกต (เวลาเฉลี่ยท้องถิ่น) นักเดินทางต้องตั้งนาฬิกาใหม่ทุกครั้งที่ย้ายเมือง

ในสมัยก่อนมีการสร้างทางรถไฟนั้น เรื่องนียังไม่เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่เมื่อมีทางรถไฟทำให้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นและเร็วขึ้น จึงทำให้ต้องมาตั้งนาฬิกากันใหม่บ่อย ๆ ผลกระทบต่อการดำเนินงานของรถไฟเองก็ไม่อาจละเลยได้อีกต่อไป

เพื่อแก้ปัญหานี้ ระบบที่เรียกว่า เวลารถไฟ จึงได้เกิดขึ้นมาในประเทศอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกว่า "เวลามาตรฐาน" ซึ่งใช้เวลาร่วมกันสำหรับนาฬิกาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟภายในภูมิภาคหนึ่ง ๆ เวลาที่ใช้ร่วมกันนี้จึงใช้ ค่าเวลาสุริยะเฉลี่ยท้องถิ่นของจุดที่ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐาน ในอังกฤษ เวลาลอนดอน หรือ เวลามาตรฐานกรีนิชได้ถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐาน เพื่อตั้งเวลาให้เข้ากัน ในยุคแรกจะต้องขนนาฬิกาเข้ามา แต่ในยุคต่อมาได้เปลี่ยนมใช้ระบบส่งโทรเลขจากหอดูดาวหลวงเกรนิช

การใช้แนวคิดเรื่องเวลามาตรฐานกับโลกโดยรวมแบ่งโลกออกเป็นหลายเขตเวลา แต่ละเขตเวลาครอบคลุม (อย่างน้อยในทางทฤษฎี) ช่วงลองจิจูด 15 องศา นาฬิกาทั้งหมดของแต่ละเขตเวลาเหล่านี้จะถูกตั้งค่าเป็นเวลาใช้ร่วมกัน (เวลามาตรฐาน) และเวลาระหว่างเขตเวลาที่ติดกันจะต่างกันไปหนึ่งชั่วโมง

ในการประชุมเมริเดียนระหว่างประเทศในปี 1884 เส้นเมริเดียนที่เกรนิชได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเส้นเมริเดียนแรก ดังนั้น เวลามาตรฐานกรีนิช (GMT) จึงมีสถานะเป็นตัวอ้างอิงเวลามาตรฐานสำหรับทุกส่วนบนโลกตั้งแต่นั้นมา

ในการประชุมครั้งนี้ แซนด์ฟอร์ด เฟลมมิง ได้เสนอระบบเขตเวลา แต่ระบบดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากจะขัดต่อวัตถุประสงค์ของการประชุม ซึ่งก็คือการกำหนดเส้นเมริเดียนหลัก อย่างไรก็ตาม ภายใน ปี 1929 ประเทศหลัก ๆ ส่วนใหญ่ได้นำเขตเวลามาใช้

นอกจากนี้ ในปี 1918 เรือที่แล่นในมหาสมุทรของโลก ได้ตั้งเวลาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน (นอกเหนือจากโครโนมิเตอร์ สำหรับวัดลองจิจูด) ให้เป็นเวลาท้องถิ่นของเส้นเมริเดียนซึ่งเรือตั้งอยู่ในเวลาเที่ยงวันของทุกวัน อย่างไรก็ตาม กรมการค้าของสหราชอาณาจักร ได้รวบรวมความคิดเห็นโดยละเอียดจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมนี้และการนำระบบเวลาแบบเดียวกับเวลามาตรฐานที่หลายประเทศใช้ในขณะนั้นมาใช้ทั้งบนบกและในทะเล[1]

เวลาสากลเชิงพิกัด[แก้]

ในอดีต เวลามาตรฐานในแต่ละภูมิภาคมักจะถูกกำหนดแบ่งเป็นหน่วย 1 ชั่วโมงหรือ 30 นาที โดยมีเวลามาตรฐานกรีนิชเป็นมาตรฐาน

หลังจากนั้น ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นที่ ซิดนีย์ ใน ปี 1973 ซึ่งเป็นปีหลังจากที่เวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ปัจจุบันมีผลใช้บังคับ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการแจ้งเวลามาตรฐานของทุกประเทศ แนะนำให้ใช้เวลาสากลเชิงพิกัดแทนเวลามาตรฐานกรีนิช[2] ตั้งแต่น้นมา เวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ได้กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับเวลาตามกฎหมายในหลายประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. "雑報 海上にて万国共通標準時採用の議" (PDF). 天文月報. 東京市: 日本天文学会. 11 (8): 131. 1918. ISSN 0374-2466. NCID AN00154555NDLJP:3303979. สืบค้นเมื่อ 2014-01-12.
  2. IAU (1973). ⅩⅤth General Assembly, Sydney, Australia, 1973 / ⅩⅤe Assemblee Generale, Sydney, Australie, 1973 (pdf). IAU General Assembly (ภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศส). ปารีส: The International Astronomical Union. p. 20. สืบค้นเมื่อ 2014-01-17.