ข้ามไปเนื้อหา

เรื่องเล่าของสาวรับใช้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรื่องเล่าของสาวรับใช้
ผู้ประพันธ์มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด
ประเทศแคนาดา
ภาษาอังกฤษ
ประเภท
สำนักพิมพ์แมกเคลลันด์แอนด์สจวร์ต
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1985 (ปกแข็ง)
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์ (ปกแข็งและปกอ่อน)
หน้า311 หน้า
ISBN0-7710-0813-9
เรื่องถัดไปคำให้การจากพยานปากเอก 

เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (อังกฤษ: The Handmaid's Tale) เป็นนวนิยายดิสโทเปีย เขียนโดยมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด นักเขียนชาวแคนาดา เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1985 นวนิยายมีฉากอนาคตอันใกล้ของนิวอิงแลนด์ที่แปรสภาพเป็นกิเลียด รัฐรวบอำนาจเบ็ดเสร็จแบบปิตาธิปไตยที่ปกครองตามการตีความคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด เรื่องราวบอกเล่าผ่านตัวละครชื่อ ออฟเฟรด หนึ่งใน "สาวรับใช้" กลุ่มสตรีที่มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรแก่ "ผู้บัญชาการ" ชนชั้นปกครองที่เป็นบุรุษ

เรื่องเล่าของสาวรับใช้ ได้รับรางวัลกัฟเวอร์เนอร์ เจเนรัลส์ อะวอดส์ในปี ค.ศ. 1985 และอาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก อะวอดส์ในปี ค.ศ. 1987 ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ปี ค ศ. 1990 อุปรากรปี ค.ศ. 2000 และภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ในปี ค.ศ. 2017 ในปี ค.ศ. 2019 แอ็ตวูดเผยแพร่นวนิยายภาคต่อในชื่อ คำให้การจากพยานปากเอก (The Testament)[5]

เรื่องเล่าของสาวรับใช้ ฉบับภาษาไทยแปลโดยจุฑามาศ แอนเนียน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์[6]

เบื้องหลัง

[แก้]

แอ็ตวูดได้รับแรงบันดาลใจในการเขียน เรื่องเล่าของสาวรับใช้ จากการพิจารณาคดีแม่มดที่ซาเลม และกระแสสังคม การเมือง และศาสนาในสหรัฐช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980[7] เธอใช้นวนิยายนี้พรรณนาความเชื่อถึงสิ่งที่กลุ่มศาสนาคริสต์ฝ่ายขวาจะกระทำต่อสตรีหากพวกเขามีอำนาจ[8] รวมถึงสำรวจแนวคิดการกดขี่สตรีภายใต้สังคมที่บุรุษเป็นใหญ่ และความพยายามของสตรีในการต่อต้านและได้รับปัจเจกภาพและเสรีภาพ

แอ็ตวูดกล่าวเพิ่มว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจของสาธารณรัฐกิเลียดจากการศึกษากลุ่มพิวริตันในอเมริกาสมัยที่เธอเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอแย้งว่ามุมมองสมัยใหม่ที่มองว่าพิวริตันอพยพมาจากอังกฤษเพื่อสร้างสังคมที่เปิดรับทุกศาสนาในอเมริกานั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด หากแต่ผู้นำพิวริตันต้องการสร้างสังคมเทวาธิปไตยที่ไม่ทนต่อผู้นับถือความเชื่ออื่น[9] นอกเหนือจากสังคมพิวริตันในนิวอิงแลนด์ แอ็ตวูดยังได้รับอิทธิพลในการสร้างระบอบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของกิเลียดจากแนวคิด "สังคมอุดมคติ" ในกัมพูชาและโรมาเนียสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20[10]

เรื่องย่อ

[แก้]

หลังก่อเหตุโจมตีที่คร่าชีวิตประธานาธิบดีสหรัฐและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐส่วนใหญ่ "บุตรแห่งยาโคบ" (Sons of Jacob) กลุ่มหัวรุนแรงที่มีแนวคิดเสมือนคริสต์ศาสนาได้ก่อการปฏิวัติ รัฐธรรมนูญสหรัฐถูกยับยั้ง หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิด และสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนมาปกครองด้วยเผด็จการทหารภายใต้ชื่อสาธารณรัฐกิเลียด ผู้ปกครองระบอบใหม่เริ่มรวบรวมอำนาจผ่านทางการกำจัดกลุ่มอำนาจอื่น จัดระเบียบสังคมใหม่ด้วยการตีความตามพันธสัญญาเดิมอย่างแปลกประหลาด จัดตั้งชนชั้นทางสังคมที่เสริมด้วยความคลั่งศาสนาอย่างสุดโต่ง และบุคคลถูกลิดรอนสิทธิ โดยเฉพาะสตรีที่ต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งโดยหญิงสาวชื่อ ออฟเฟรด เธอเป็นหนึ่งในสตรีส่วนน้อยที่ยังเจริญพันธุ์ในช่วงเวลาที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและรังสีจนประชากรส่วนใหญ่เป็นหมัน ออฟเฟรดเป็น "สาวรับใช้" ที่ถูกส่งไปที่บ้านผู้บัญชาการเพื่อทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตร เธอบรรยายถึงหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นครั้งที่สาม สลับกับชีวิตช่วงก่อนและระหว่างการปฏิวัติ อาทิ ความล้มเหลวในการหลบหนีไปแคนาดาพร้อมสามีและบุตร การถูกส่งไปฝึกเป็นสาวรับใช้ ออฟเฟรดได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักจากเซเรนา จอย ภริยาผู้บัญชาการผู้เป็นอดีตนักร้องนำเพลงสวด หลังทำ "พิธีกรรม" ออฟเฟรดรู้สึกตกใจเมื่อผู้บัญชาการต้องการพบเธอนอกเวลาซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างลับ ๆ ครั้งหนึ่งผู้บัญชาการพาออฟเฟรดไปเรือนหญิงชั่วเยเซเบล ซ่องโสเภณีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลที่ผู้ฝ่าฝืนกฎจะถูกส่งมาเป็นหญิงขายบริการที่นี่ และพบกับมอยรา เพื่อนเก่าที่หลบหนีออกจากศูนย์ฝึก

หลายวันต่อมา ออฟเฟรดพบว่าออฟเกลน สาวรับใช้คู่เธอเวลาออกไปจับจ่ายเป็นสมาชิกเมย์เดย์ ฝ่ายต่อต้านที่ต้องการล้มล้างกิเลียด ด้านเซเรนาที่สงสัยว่าผู้บัญชาการอาจเป็นหมันเสนอให้ออฟเฟรดมีเพศสัมพันธ์กับนิก ผู้พิทักษ์ประจำบ้าน แต่หลังจากออฟเกลนหายตัวไป (ทราบภายหลังว่าฆ่าตัวตาย) และเซเรนาพบความสัมพันธ์ลับ ๆ ของผู้บัญชาการกับเธอ ออฟเฟรดจึงเริ่มคิดฆ่าตัวตาย

หลังมีความสัมพันธ์กับนิกหลายครั้ง ออฟเฟรดบอกเขาว่าเธออาจจะตั้งครรภ์ หลังจากนั้นไม่นานมีกลุ่มตำรวจลับที่เรียกว่า "พระเนตร" (the Eyes) มาที่บ้านผู้บัญชาการเพื่อคุมตัวออฟเฟรด โดยนิกแอบบอกเธอว่าแท้จริงคนพวกนี้อยู่ฝ่ายเมย์เดย์เช่นเดียวกับเขา เรื่องราวจบลงเมื่อออฟเฟรดถูกพาตัวขึ้นรถตู้และไม่ทราบชะตากรรม

ในบทส่งท้ายมีลักษณะเป็นบันทึกจากการสัมมนาวิชาการในปี ค.ศ. 2195 ผู้อภิปรายหลักบรรยายว่าออฟเฟรดบันทึกเหตุการณ์ในรูปตลับเทปที่ถอดเสียงโดยนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษายุคกิเลียด

องค์ประกอบภายในเรื่อง

[แก้]

เรื่องเล่าของสาวรับใช้ มีฉากในอนาคตแบบดิสโทเปียที่ไม่ระบุปี แต่คาดการณ์ประมาณปี ค.ศ. 2005[11] ในพื้นที่สหรัฐอเมริกาเดิมปกครองโดยรัฐบาลเทวาธิปไตยมูลฐานนิยมนามสาธารณรัฐกิเลียด ซึ่งบุคคลถูกจำแนกและกำหนดให้สวมเครื่องแต่งกายตามหน้าที่ในสังคม

การปฏิบัติต่อสตรีในกิเลียดใช้การตีความตามคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด กล่าวคือผู้หญิงเป็นสมบัติหรืออยู่ใต้อำนาจสามี บิดา หรือหัวหน้าครอบครัว พวกเธอไม่มีอำนาจหรือเสรีภาพ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน มีสิทธิ์มีเสียง มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง หรืออ่านหนังสือ เนื่องจากประชากรในอนาคตส่วนใหญ่เป็นหมัน หญิงเจริญพันธุ์จึงเป็นสิ่งมีค่าและจัดการโดยรัฐบาล หญิงเจริญพันธุ์หรือสาวรับใช้จะไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงาน และจะถูกส่งไปที่บ้านผู้บัญชาการเป็นเวลาสองปีเพื่อให้มีบุตร สาวรับใช้จะไม่มีชื่อ พวกเธอถูกเรียกด้วยคำนำหน้า Of ตามด้วยชื่อผู้บัญชาการ เช่น ออฟเฟรด (Offred) หมายถึง "เป็นของเฟรด" (of Fred) และชื่อของพวกเธอจะเปลี่ยนไปเมื่อถูกย้ายไปยังที่ใหม่

บรูซ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ เดอะ แฮนด์เมดส์ เทล กล่าวว่ากิเลียดเป็น "สังคมที่มีที่มาจากความเข้าใจพันธสัญญาเดิมผิดอย่างร้ายแรง"[12] ทั้งแอ็ตวูดและมิลเลอร์ต่างกล่าวว่าบุตรแห่งยาโคบนั้น "ไม่ใช่ชาวคริสต์ที่แท้จริง"[13] และ "ไม่สนใจศาสนา หากแต่สนใจในอำนาจ"[14] ในกิเลียด หากศาสนจักรใดไม่สนับสนุนการกระทำของบุตรแห่งยาโคบจะถูกกำจัด เควเกอส์ แบปทิสต์ โรมันคาทอลิกถูกประกาศเป็นศัตรูกับบุตรแห่งยาโคบ[14] บุคคลที่แข็งขืนจะถูกประหารชีวิตและแขวนร่างกับกำแพง นักพรตหญิงที่ปฏิเสธละทิ้งความเชื่อจะถือเป็น "อสตรี" และถูกส่งไปนิคม อย่างไรก็ตามชาวยิวได้รับการละเว้นเพราะถือเป็นบุตรแห่งยาโคบ และได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยไปที่อิสราเอล แต่กระนั้นมีการเปิดเผยในบทส่งท้ายว่าเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวยิวส่วนใหญ่ล่มก่อนจะถึงที่หมาย ส่วนชาวยิวที่เลือกอาศัยในกิเลียดจะต้องโทษประหารชีวิตหากพบทำพิธีอย่างลับ ๆ

กลุ่มสตรีในกิเลียด

[แก้]
ภริยาผู้บัญชาการ (Wives)
สตรีชั้นสูงสุดในสังคม เกิดจากการแต่งงานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ภริยาจะสวมชุดสีน้ำเงิน เมื่อผู้บัญชาการเสียชีวิต ภริยาจะกลายเป็นหม้ายและสวมชุดสีดำ
บุตรสาวหรือบุตรี (Daughters)
สตรีที่เกิดหรือได้รับอุปการะโดยชนชั้นปกครอง พวกเธอจะสวมชุดสีขาวจนกระทั่งแต่งงานซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาล
สาวรับใช้ (Handmaids)
สตรีเจริญพันธุ์ที่มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรแก่ภริยาผู้เป็นหมัน สาวรับใช้จะสวมชุดสีแดงยาวถึงข้อเท้า หมวกสีขาว กับรองเท้าบูทส์หนัก พวกเธอจะเปลี่ยนไปสวมชุดโปร่งเบากับรองเท้าแตะในช่วงฤดูร้อน และสวมชุดคลุมสีแดง ถุงมือสีแดง กับหมวกสีขาวที่เรียกว่า "ปีก" เนื่องจากมีขนาดใหญ่มากจนบดบังมุมมองด้านข้างของพวกเธอในฤดูหนาว สาวรับใช้จะไปประจำการที่บ้านผู้บัญชาการ เมื่อไม่ได้ประจำการจะอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฝึก สาวรับใช้ที่ให้กำเนิดบุตรสำเร็จจะอาศัยอยู่ที่บ้านผู้บัญชาการจนกระทั่งทารกหย่านม จากนั้นพวกเธอจะถูกส่งไปที่ใหม่ โดยหลังจากนี้พวกเธอจะไม่ถูกประกาศเป็น "อสตรี" แม้ว่าพวกเธอจะไม่ให้กำเนิดบุตรอีกก็ตาม
น้า (Aunts)
สตรีผู้ฝึกหัด สอดส่อง และลงโทษสาวรับใช้ที่ศูนย์ฝึก พวกเธอสวมชุดสีน้ำตาล น้ามีเสรีภาพสูงเมื่อเทียบกับสตรีกลุ่มอื่น พวกเธอเป็นสตรีกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ
แม่บ้านมารธา (Marthas)
สตรีสูงอายุที่เป็นหมัน มีหน้าที่ดูแลงานบ้านงานเรือนในบ้านผู้บัญชาการ พวกเธอสวมชุดสีเขียว ชื่อมารธามาจากเรื่อง "พระเยซูในบ้านมาร์ธาและแมรี" ในพระวรสารนักบุญลูกา ที่แมรีนั่งฟังพระเยซูตรัสสอน ขณะที่มาร์ธากำลังทำครัว
ภรรยาชั้นประหยัด (Econowives)
สตรีที่แต่งงานกับเจ้าหน้าที่ระดับล่าง พวกเธอทำหน้าที่ของสตรีในสังคมทุกอย่าง ได้แก่ ดูแลงานบ้าน แต่งงาน และมีบุตร ภรรยาชั้นประหยัดสวมชุดที่มีแถบหลายสีเพื่อสะท้อนถึงหลายบทบาท
อสตรี (Unwomen)
สตรีที่รัฐบาลมองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น นักพรตหญิง สตรีที่ไม่แต่งงาน หญิงรักร่วมเพศ สตรีที่ฝักใฝ่คตินิยมสิทธิสตรี และเห็นต่างทางการเมือง อสตรีจะถูกส่งไปนิคมเพื่อทำงานเกษตรกรรมและกำจัดมลพิษ สาวรับใช้ที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรหลังได้รับมอบหมายสามครั้งจะถูกส่งไปนิคมกับอสตรี

พิธีกรรม

[แก้]

"พิธีกรรม" คือการร่วมเพศที่มีจุดประสงค์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น โดยสาวรับใช้จะเอนหลังอยู่บริเวณหว่างขาของภริยาเพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียว ออฟเฟรดบรรยายถึงพิธีกรรมว่า:

กระโปรงแดงของฉันถูกเลิกขึ้นมาถึงเอวแม้จะไม่สูงไปกว่านั้น ต่ำลงไปท่านผู้บัญชาการกำลังเอา สิ่งที่เขากำลังเอาด้วยคือร่างกายท่อนล่างของฉันเอง ฉันไม่ได้บอกว่าร่วมรักเพราะเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น จะว่ามีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ตรงตามนั้นอีกนั่นแหละ เพราะนั่นย่อมมีนัยถึงคนสองคน แต่นี่มีเพียงคนเดียวที่กระทำการ คำว่าข่มขืนก็ไม่ครอบคลุม ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในที่นี้เป็นไปโดยที่ฉันมิได้ตกลงร่วมด้วย มีทางเลือกอยู่ไม่มากนักแต่ก็มีอยู่บ้าง และนี่คือสิ่งที่ฉันเลือก[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Brown, Sarah (15 April 2008). Tragedy in Transition. p. 45. ISBN 9780470691304.
  2. Taylor, Kevin (21 September 2018). Christ the Tragedy of God: A Theological Exploration of Tragedy. ISBN 9781351607834.
  3. Kendrick, Tom (2003). Margaret Atwood's Textual Assassinations: Recent Poetry and Fiction. p. 148. ISBN 9780814209295.
  4. Stray, Christopher (16 October 2013). Remaking the Classics: Literature, Genre and Media in Britain 1800-2000. p. 78. ISBN 9781472538604.
  5. "Margaret Atwood announces sequel to The Handmaid's Tale". CBC News, November 28, 2018.
  6. สุนันทา วรรณสินธ์ เบล (October 3, 2019). "In Conversation With Margaret Atwood". The 101 World. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
  7. Regalado, Michelle (August 27, 2019). "9 nightmarish things in 'The Handmaid's Tale' inspired by history". Insider. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
  8. Greene, Gayle (July 1986). "Choice of Evils". The Women's Review of Books. 3 (10): 14–15. doi:10.2307/4019952. JSTOR 4019952.
  9. Malak, Amin (Spring 1997). "Margaret Atwood's 'The Handmaid's Tale' and the Dystopian Tradition". Canadian Literature (112): 9–16.
  10. Atwood, Margaret (20 January 2012). "Haunted by the Handmaid's Tale". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 3 March 2016.
  11. Oates, Joyce Carol (2 November 2006). "Margaret Atwood's Tale". The New York Review of Books. สืบค้นเมื่อ 29 March 2016.
  12. O'Hare, Kate (16 April 2017). "'The Handmaid's Tale' on Hulu: What Should Catholics Think?" (ภาษาอังกฤษ). Faith & Family Media Blog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-26. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
  13. Lucie-Smith, Alexander (29 May 2017). "Should Catholics watch The Handmaid's Tale?". The Catholic Herald (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-04. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
  14. 14.0 14.1 Williams, Layton E. (25 April 2017). "Margaret Atwood on Christianity, 'The Handmaid's Tale,' and What Faithful Activism Looks Like Today" (ภาษาอังกฤษ). Sojourners. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
  15. เรื่องเล่าของสาวรับใช้, มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เขียน จุฑามาศ แอนเนียน แปล, หน้า 142, พ.ศ. 2561, สำนักพิมพ์ไลบราลี่ เฮ้าส์ กรุงเทพฯ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]