ข้ามไปเนื้อหา

เมาส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เม้าส์)
ลักษณะการทำงานของเมาส์ (แบบลูกกลิ้ง)
1: เมื่อเคลื่อนเมาส์ ลูกบอลด้านล่างจะหมุน
2: จานหมุนสองแนว จับการเคลื่อนไหวของลูกบอล
3: เมื่อจานหมุนทำการหมุน รูบริเวณขอบจานหมุนหมุ
4: แสงอินฟราเรด ส่งผ่านรูจานหมุน
5: เซนเซอร์อ่านค่า และส่งเป็นค่าของความเร็วการเคลื่อนไหวในแนวแกน X

เมาส์ (อังกฤษ: mouse) คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมตัวชี้บนจอคอมพิวเตอร์ (pointing device) เป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้งานคอมพิวเตอร์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันถูกออกแบบมาให้มีรูปร่าง ลักษณะ สีสัน ต่าง ๆ กัน บางรุ่นมีไฟประดับให้สวยงาม เพื่อให้เมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภทและความชื่นชอบของผู้ใช้ เช่นมีขนาดเล็ก มีส่วนโค้งและส่วนเว้าเข้ากับอุ้งมือของผู้ใช้ มีรูปร่างสีสันแปลกตาไปจากรุ่นทั่วไป หรือเป็นรูปตัวการ์ตูน และล่าสุดได้มีการพัฒนา เมาส์อากาศ (Air Mouse) ซึ่งสามารถใช้งานเมาส์โดยถือขึ้นมาเอียงไปมาในอากาศโดยไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นรอง ก็สามารถควบคุมตัวชี้ได้เช่นกัน

การทำงานของเมาส์ ภายในตัวเมาส์จะมีอุปกรณ์สำหรับตรวจจับตำแหน่งการเคลื่อนไหวของลูกกลิ้งยาง(สำหรับรุ่นเก่า)หรืออุปกรณ์ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของแสง (ในเมาส์ที่ใช้แอลอีดีหรือเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง) โดยตัวตรวจจับจะส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผลของตัวชี้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์

การเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ การใช้งานเมาส์ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องมีการต่อมันเข้ากับช่องต่อของคอมพิวเตอร์ ซึ่งในยุคแรก ๆ นั้นช่องสำหรับต่อเมาส์จะมีลักษณะเป็นหัวกลมใหญ่ภายในมีขาเป็นเข็มเรียกว่าแบบ DIN ต่อมามีการพัฒนาช่องต่อเป็นแบบหัวเข็มที่เล็กลงเรียกว่า PS/2 แต่การเชื่อมต่อทั้งสองแบบนั้นไม่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลากหลาย จึงมีการพัฒนาช่องต่อแบบ USB ขึ้นมา และในเวลาใกล้ ๆ กันก็ได้มีการพัฒนาการเชื่อมต่อเมาส์แบบไร้สายขึ้นมาโดยใช้สัญญาณวิทยุเป็นตัวเชื่อมต่อแทนสายเรียกว่า เมาส์ไร้สาย (Wireless mouse)

เมาส์ได้ชื่อมาจากรูปร่างของตัวมันเอง และสายไฟ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหนู (Mouse) และหางหนู และขณะเดียวการเคลื่อนที่ของตัวชี้บนหน้าจอมีลักษณะการเคลื่อนที่ไม่มีทิศทางเหมือนการเคลื่อนที่ของหนู

การกำเนิดของเมาส์

[แก้]

เมาส์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1963 โดย ผู้คิดค้นประดิษฐ์เม้าส์มีชื่อว่า ดร ดักลาส คาร์ล อิงเกิลบาร์ต Douglas Carl Engelbart ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) หลังจากการทดสอบการใช้งานอย่างละเอียด (เมาส์เคยมีอีกชื่อนึงว่า “บัก” (bug) แต่ภายหลังได้รับความนิยมน้อยกว่าคำว่า “เมาส์”) มันเป็นหนึ่งในการทดลองอุปกรณ์ชี้ (Pointing Device) สำหรับ Engelbart's oN-Line System (NLS) ส่วนอุปกรณ์ชี้อื่นออกแบบมาเพื่อการเคลื่อนไหวในร่างกายส่วนอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ติดกับคางหรือจมูก แต่ท้ายที่สุดแล้วเมาส์ก็ได้รับการคัดเลือกเพราะง่ายต่อการใช้งาน

เมาส์ตัวแรกนั้นมีขนาดใหญ่ และใช้เฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน การหมุนของแต่ละเฟืองจะถูกแปลไปเป็นการเคลื่อนที่บนแกนในปริภูมิ 2 มิติ เองเกลบาทได้รับสิทธิบัตรเลขที่ US3541541 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1970 ชื่อ X-Y Position Indicator((ตัวระบุตำแหน่ง X-Y สำหรับระบบแสดงผล) ในตอนนั้น ตั้งใจจะพัฒนาจนสามารถใช้เมาส์ได้ด้วยมือเดียว

เมาส์แบบต่อมาถูกประดิษฐ์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 โดย บิล อิงลิช (Bill English) ที่ศูนย์วิจัยของบริษัท ซีรอกส์ (Xerox PARC) โดยแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอลซึ่งสามารถหมุนไปได้ทุกทิศทาง การเคลื่อนไหวของลูกบอลจะถูกตรวจจับโดยล้อเล็ก ๆ ภายในอีกทีหนึ่ง เมาส์ชนิดนี้คล้าย ๆ กับแทร็กบอล และนิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตลอดทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้การใช้เมาส์และคีย์บอร์ดในเวลาเดียวกันสามารถเป็นจริงได้

เมาส์ในปัจจุบันได้รับรูปแบบมาจาก École polytechnique fédérale de Lausanne (EPFL) ภายใต้แรงบันดาลใจของ ศาสตราจารย์ Jean-Daniel Nicoud ร่วมกับวิศวกรและช่างนาฬิกาชื่อ André Guignard ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ทำให้เกิดบริษัท โลจิเทค (Logitech) ผลิตเมาส์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นยี่ห้อแรก

ปุ่ม

[แก้]

ปุ่มบนเมาส์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากในสมัยแรกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยอาจจะเปลี่ยนในเรื่องรูปร่าง จำนวน และการวางตำแหน่ง เมาส์ตัวแรกที่ประดิษฐ์โดยเองเกลบาทนั้นมีเพียงปุ่มเดียว แต่ในปัจจุบันเมาส์ที่นิยมใช้กันมี 2 ถึง 3 ปุ่ม แต่ก็มีคนผลิตเมาส์ที่มีถึง 5 ปุ่ม

เมาส์ที่นิยมใช้กันจะมีปุ่มที่ 2 สำหรับเรียกเมนูลัดในซอฟต์แวร์ที่มีการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้มารองรับ ไมโครซอฟท์วินโดวส์ระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็ออกแบบมาสนับสนุนการใช้ปุ่มที่ 2 นี้ด้วย

ส่วนระบบที่ใช้กับเมาส์ 3 ปุ่มนั้น ปุ่มกลางมักจะใช้เพื่อเรียก แมโคร (แมโคร หรือ Macro คือเครื่องมือที่ใช้เพิ่มการปฏิบัติงานของ Application บางอย่าง ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ซ่อนอยู่ภายใต้โปรแกรมนั้น เช่น โปรแกรม Excel ผู้ใช้อาจจะเขียนคำสั่งขึ้นเองเพื่อใช้ทำงานเฉพาะอย่าง นอกเหนือไปจากการทำงานตามปกติของโปรแกรมนั้น) ในปัจจุบันเมาส์แบบ 2 ปุ่มสามารถใช้งานฟังก์ชันปุ่มกลางของแบบ 3 ปุ่มได้โดย คลิกทั้ง 2 ปุ่มพร้อมกัน

ปุ่มเสริม

[แก้]

บางครั้งเมาส์ก็มีปุ่ม 5 ปุ่มหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้ ปุ่มพิเศษนี้อาจจะใช้ในการเลื่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลังสำหรับการท่องเว็บ หรือเป็นปุ่ม scrolling แต่อย่างไรก็ตามฟังก์ชันเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับทุกซอฟต์แวร์ และมักจะมีประโยชน์กับเกมคอมพิวเตอร์มากกว่า (เช่นการเปลี่ยนอาวุธในเกมประเภท FPS หรือการใช้สกิลต่าง ๆ ในเกมแนว MMORPG,RTS) เพราะว่าปุ่มพิเศษพวกนี้ เราสามารถที่จะกำหนดฟังก์ชันอะไรลงไปก็ได้ ทำให้การใช้งานเมาส์เหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดักลัส เองเกลบาท นั้นอยากให้มีจำนวนปุ่มมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เขาได้บอกว่าเมาส์มาตรฐานนั้นควรจะมี 3 ปุ่ม เพราะว่าเขาไม่รู้จะเพิ่มปุ่มเข้าไปตรงไหนนั่นเอง

ล้อเมาส์

[แก้]

นวัตกรรมอย่างหนึ่งของปุ่มเมาส์คือปุ่มแบบเลื่อน (Scroll wheel ล้อเล็ก ๆ วางในแนวขนานกับผิวของเมาส์ สามารถหมุนขึ้นและลงเพื่อจะป้อนคำสั่งใน 1 มิติได้) โดยปกติแล้วจะใช้ในการเลื่อนหน้าต่างขึ้น-ลง เป็นฟังก์ชันที่มีระโยชน์มากสำหรับการดูเอกสารที่ยาว ๆ หรือในบางโปรแกรมปุ่มพวกนี้อาจจะใช้เป็นฟังก์ชันในการซูมเข้า-ออกได้ด้วย ปุ่มนี้ยังสามารถกดลงไปตรง ๆ เพื่อจะใช้เป็นฟังก์ชันปุ่มที่ 3 ได้อีก เมาส์ใหม่ ๆ บางตัวยังมี Scroll wheel แนวนอนอีก หรืออาจจะมีปุ่มที่สามารถโยกได้ถึง 4 ทิศทาง เรียกว่า tilt-wheel หรืออาจจะมีลักษณะเป็นบอลเล็ก ๆ คล้าย ๆ Trackball บังคับได้ทั้ง 2 มิติเรียกว่า scroll ball

การเชื่อมต่อ

[แก้]

เช่นเดียวกับอุปกรณ์รับข้อมูล (input device) อื่น ๆ เมาส์ก็ต้องการการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปให้คอมพิวเตอร์ เมาส์ทั่ว ๆ ไปจะใช้สายไฟ เช่น RS-232C, PS/2, ADB หรือ USB โดยปัจจุบันที่นิยมใช้ที่สุด จะเป็น PS/2 และ USB ซึ่งไม่ค่อยสะดวกต่อการใช้งาน จึงมีผู้ประดิษฐ์เมาส์ไร้สายโดยส่งข้อมูลผ่าน อินฟราเรด, คลื่นวิทยุ, หรือ บลูทูธแทน

อินฟราเรด เป็นลักษณะของการถ่ายโอนข้อมูลคล้าย ๆ กับรีโมท (ทีวีหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในบ้าน) โดยที่อุปกรณ์ส่งสัญญาณและรับสัญญาณต้องอยู่ในระนาบการส่งสัญญาณที่ตรงกันเท่านั้น (เช่นหัวของเมาส์ต้องหันหน้าไปที่ตัวรับสัญญาณตลอดเวลา) ซึ่งการใช้การส่งข้อมูลไร้สายในรูปแบบนี้ไม่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาอย่างเมาส์ จึงมีผู้ประดิษฐ์เมาส์ที่ส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุแทน

เมาส์วิทยุ (Radio mouse) เป็นเมาส์ที่ส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุไร้สาย ตัวเมาส์ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในระนายเดียวกันกับตัวรับสัญญาณตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งเรื่องความได้เปรียบเกี่ยวกับระยะทางของสัญญาณ เมาส์สามารถใช้ได้ห่างจากตัวรับสัญญาณได้มากกว่าแบบ Infrared แต่เนื่องจากการใช้เมาส์ผ่านคลื่นวิทยุไร้สายนั้นเป็นการทำให้เกิดการกีดกันและรบกวนกันระหว่างสัญญาณของตัวเมาส์เอง กับระบบโทรศัพท์ไร้สายหรืออินเทอร์เน็ตไร้สายที่อยู่ในช่วงสัญญาณเดียวกัน และอีกทั้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้เมาส์รุ่นเดียวกันมากกว่า 2 ชิ้น ทำให้เครื่องในรัศมีการรับสัญญาณของเมาส์ที่อยู่ในคลื่น A เหมือนกันนั้นตอบรับกับเมาส์ตัวอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเมาส์ไร้สายจะสามารถปรับช่องสัญญาณได้เพียงแค่สองช่องเท่านั้น (A และ B)

เพราะฉะนั้นผู้ประดิษฐ์จึงหันไปพึ่งเทคโนโลยีไร้สายมาตรฐานระบบใหม่ ที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุเช่นกันคือ บลูทูธ แต่เนื่องจากผู้คิดค้นและริเร่มระบบบลูทูธได้คาดคำจึงถึงปัญหาเนื่องจากมีผู้ใช้บลูทูธมากไว้แล้ว ทำให้ได้มีการวางแผนระบบการจับคู่อุปกรณ์ขึ้น ทำให้อุปกรณ์หนึ่งไม่ไปรบกวนหรือไปทำหน้าที่บนอีกอุปกรณ์หนึ่งอย่างที่ผู้ใช้ไม่ได้ต้องการ โดยก่อนที่จะใช้อุปกรณ์ด้วยกันจะต้องมีการจับคู่อุปกรณ์กันก่อน จึงจะสามารถใช้อุปกรณ์นั้น ๆ ด้วยกันได้ และความได้เปรียบในเรื่องของความเร็วที่สูงกว่า 40KB/วินาที ของระบบบลูทูธนั้น ทำให้มันสามารถนำไปใช้ได้กับหลากหลายตลาดการสื่อสาร เช่น หูฟังไร้สาย การส่งข้อมูลไร้สาย และรวมไปถึง ตีย์บอร์ดกับเมาส์นั่นเอง

เมาส์บลูทูธ (Bluetooth mouse) นั้นได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา โดยบางเครื่องนั้นได้มีการติดตั้งตัวระบบส่งสัญญาณบลูทูธในเครื่องแล้วด้วย ทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์รับสัญญาณแยกออกมาจากเครื่อง ซึ่งทำให้กินพื้นที่ Bluetooth mouse กำลังจะเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเร็ว ๆ นี้ และเช่นกันสำหรับ บลูทูธคีย์บอร์ด (Bluetooth keyboard)

การใช้งานปุ่มโดยทั่วไป

[แก้]

การใช้งานเมาส์นั้นมีหลายรูปแบบนอกเหนือไปจากการเลื่อนเมาส์เพื่อเลื่อนเคอร์เซอร์ เช่น การคลิก (การกดปุ่ม) คำว่าคลิกนั้นมีที่มาจากเสียงคลิกเวลาเรากดปุ่มเมาส์นั่นเอง เสียงนี้เกิดขึ้นจาก micro switch (cherry switch) และใช้แถบโลหะที่แข็งแต่ยืดหยุ่นเป็นตัวกระตุ้นสวิทช์ เมื่อเรากดปุ่ม แถบโลหะนี้ก็จะงอ และกระตุ้นให้สวิทช์ทำงานพร้อมทั้งเกิดเสียงคลิก และช่วยให้ภายในไม่มีภาวะสุญญากาศเกิดขึ้น นอกจากนี้นักวิจัยพบว่าผู้ใช้จะตอบสนองกับเสียงคลิกหลังจากกด มากกว่าความรู้สึกที่นิ้วกดลงไปบนปุ่ม

การคลิกครั้งเดียว (Single clicking)

[แก้]

เป็นการใช้งานที่ง่ายที่สุด โดยหมายรวมทั้งการกดปุ่มบนเมาส์ชนิดปุ่มเดียวและชนิดหลายปุ่ม โดยหากเป็นเมาส์ชนิดหลายปุ่ม จะเรียกการคลิกนี้ตามตำแหน่งของปุ่ม เช่น คลิกซ้าย, คลิกขวา

ดับเบิ้ลคลิก (Double-click)

[แก้]

เป็นการคลิกปุ่ม 2 ครั้งติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ใช้ในการเปิดไฟล์ต่าง ๆ

ทริเปิลคลิก (Triple-click)

[แก้]

เป็นการคลิกปุ่ม 3 ครั้งติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ใช้มากที่สุดใน word processors และใน web browsers เพื่อที่จะเลือกข้อความทั้งย่อหน้า

การคลิกแล้วลาก (Click-and-drag)

[แก้]

คือการกดปุ่มบน object ค้างไว้แล้วลากไปที่ที่ต้องการที่เรากำหนดไว้

Mouse gestures

[แก้]

Mouse gesture เป็นวิธีการผสมผสานการเลื่อนและการคลิกเมาส์ ซึ่งซอฟต์แวร์ที่จะใช้ได้จะต้องจดจำคำสั่งพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เช่นในโปรแกรมวาดภาพ การเลื่อนเมาส์ในแนวแกน X อย่างรวดเร็วบนรูปร่างใด ๆ จะเป็นการลบรูปร่างนั้น

Tactile mouse

[แก้]

ในปี 2000 Logitech ได้เปิดตัว tactile mouse ซึ่งมีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำให้เมาส์สั่นได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส เช่นการสั่นเมื่อเคอร์เซอร์อยู่ที่ขอบของ window มีเมาส์ อีกชนิดหนึ่งสามารถถือไว้ในมือโดยไม่ต้องวางบนพื้นผิว โดยสามารถจับการเคลื่อนไหวได้ถึง 6 มิติ (3 มิติ + การหมุนของ 3 แกน = 6 มิติ) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายสำหรับการนำเสนอทางธุรกิจ เมื่อผู้พูดจะต้องยืนหรือเดินไปมา อย่างไรก็ตาม เมาส์ชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง

ความเร็วของเมาส์

[แก้]

ความเร็วของเมาส์มีหน่วยเป็น DPI (Dots Per Inch) ซึ่งคือจำนวนพิกเซลที่เคอร์เซอร์จะเลื่อนได้เมื่อเลื่อนเมาส์ไป 1 นิ้ว (หรือบางทีก็เรียกว่า CPI (Count Per Inch) คือจำนวนครั้งที่เคอร์เซอร์จะเลื่อนได้เมื่อเลื่อนเมาส์ไป 1 นิ้ว) Mouse acceleration/deceleration เป็นทริกของซอฟต์แวร์ที่สามารถทำให้เมาส์เลื่อนช้ากว่าหรือเร็วกว่าความเร็วปกติของมันได้ แต่มีอีกหน่วยนึงที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมคือหน่วย Mickey เพราะว่าค่า Mickey เกิดจากการนับ dot ที่เคอร์เซอร์เคลื่อนไปได้โดยคิดรวมถึง Mouse acceleration/deceleration ด้วย ทำให้ค่า Mickey สำหรับการใช้งานแต่ละครั้งอาจจะไม่เท่ากัน จึงไม่ได้รับความนิยม

อุปกรณ์เสริม

[แก้]

แผ่นรองเมาส์

[แก้]

เป็นอุปกรณ์เสริมที่ได้รับความนิยม ซึ่งช่วยให้เลื่อนเมาส์ได้อย่างราบรื่น เนื่องจากโต๊ะหลายชนิดไม่เหมาะที่จะใช้เลื่อนเมาส์โดยตรง เช่นไม้เนื้อหยาบหรือพลาสติกเพราะจะทำให้ด้านล่างของเมาส์เสียหายเร็วเกินไป optical mouse บางตัวไม่ต้องใช้กับเมาส์แพดเพราะได้รับการออกแบบให้ใช้กับผิวไม้ได้โดยตรง ส่วนเมาส์แบบลูกกลิ้งนั้นจะต้องใช้เมาส์แพดเนื่องจากลูกกลิ้งต้องการแรงเสียดทานที่น้อยกว่าปกติซึ่งจะช่วยให้ลูกกลิ้งหมุนได้อย่างราบรื่น

ในอดีตการผลิตแผ่นรองเมาส์นิยมใช้วัตถุดิบ Polymer เป็นส่วนผสมโดยไม่มีการวัดค่า Elastic เนื่องจากในยุคที่เมาส์ยังเป็นลูกกลิ้งนั้นไม่มีความใส่ใจในการใช้งานแผ่นรองเมาส์เท่าปัจจุบันที่เป็นยุคของเซ็นเซอร์แบบ Optical และ Laser จึงมีการคิดค้นคุณสมบัติ Elastic ที่สูงขึ้น โดยเริ่มจากโรงงานผลิตพลาสติกชั้นนำจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็น Supply Chain ร่วมกับบริษัทพลาสติกชั้นนำในประเทศไทยซึ่งมีวัตถุดิบ rubber คุณภาพสูง ในปัจจุบันวงการ e-sports นิยมใช้วัตถุดิบที่มีค่า Elastic 4 เนื่องจากมีคุณสมบัติให้ความยืนหยุ่นที่เหมาะสมและผลิตง่าย โดยมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่ใช้วัตถุดิบที่มีค่า Elastic 8 ซึ่งในประเทศไทย โรงงานผลิตแผ่นรองเมาส์ GIFFINDEX ภายใต้เครือบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติกชั้นนำของไทยอย่าง เอ็นทีพี มาร์เก็ตติ้ง ได้ผลิตแผ่นรองเมาส์ Gaming ด้วยวัตถุดิบ Polymer Elastic 8 บนพื้นฐานการผลิตเดียวกับประเทศอิสราเอลเป็นที่แรกในประเทศไทย โดยเริ่มผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำ Kingston Fury และเป็น Generation ใหม่ของแผ่นรองเมาส์ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับความยืนหยุ่นสูงสุดและความละเอียดชั้นยางถึงระดับพิกเซล

แผ่นหุ้มท้องเมาส์ (Mouse feet covers)

[แก้]

ทำด้วยเทฟลอน ใช้แปะที่ด้านล่างของเมาส์ ซึ่งช่วยให้สามารถขยับเมาส์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

อุปกรณ์จัดการสายเมาส์ (Cord managers)

[แก้]

เป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยจัดการกับสายเมาส์ที่เกะกะ ดังนั้นอุปกรณ์ชิ้นนี้จึงไม่จำเป็นสำหรับเมาส์ไร้สาย

แผ่นเจลวางข้อมือ (Gel wrist pad)

[แก้]

เป็นแผ่นนิ่ม ๆ ใช้รองใต้ข้อมือเพื่อเพิ่มความสบายขณะใช้เมาส์ โดยได้รับการออกแบบให้เข้ากับสรีระของมนุษย์ทำให้ลดความเมื่อยจากการใช้เมาส์เป็นเวลานาน ๆ ได้

เมาส์กับการตลาด

[แก้]

ในปี ค.ศ.1970 บริษัท Xerox PARC ได้ออกเมาส์รุ่น Xerox Star แต่ต่อมาบริษัท Apple ได้ออก Apple Lisa ออกมาแข่ง แต่ถึงกระนั้นเมาส์ของทั้ง 2 บริษัทกลับไม่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ จนกระทั่งการเปิดตัวของ Apple Macintosh ในปี 1984 ทำให้เมาส์ได้ใช้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

การเปิดตัวของ Apple Macintosh มีอิทธิพลมาก เนื่องจากความสำเร็จของเครื่อง Apple Macintosh ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มจะผลิตเมาส์กันมากขึ้น และเมื่อระบบ graphical user interfaces (GUI) เข้ามาในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้เมาส์เป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เมื่อจะใช้คอมพิวเตอร์ ในปี 2000 Dataquest (หน่วยงานทางด้านสถิติแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ) ประมาณการว่าเมาส์ได้ถูกขายไปแล้วทั่วโลกรวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.5 พันล้านดอลลาร์

เมาส์แบบอื่น ๆ

[แก้]

นอกจากเมาส์แบบปกติที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งมักจะเป็นเมาส์แบบใช้ด้วยมือ แต่ยังมีเมาส์แบบอื่น ๆ อีก โดยทำสำหรับผู้ที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับข้อมือเมื่อใช้เมาส์เป็นเวลานาน ๆ และผู้ที่ใช้เมาส์แล้วรู้สึกไม่สะดวก ซึ่งเมาส์แบบพิเศษนี้มีรูปแบบต่าง ๆ กันดังนี้

  • แทร็กบอล (Trackball) ใช้งานโดยการเคลื่อนลูกบอลบนแท่น
  • มินิเมาส์ (Mini-mouse) เมาส์ที่มีขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งออกแบบมาเพื่อสะดวกต่อการพกพา มักจะใช้กับแลปทอป
  • แคเมราเมาส์ (Camera mouse) กล้องที่จะจับการเคลื่อนที่ของศีรษะแล้วเลื่อนเคอร์เซอร์บนจอไปตาม
  • พาล์มเมาส์ (Palm mouse) ใช้ถือไว้ในมือ และสามารถเร่งความเร็วของเมาส์ได้โดยการกดให้แรงขึ้น
  • ฟุตเมาส์ (Foot mouse) ใช้เท้าในการควบคุมแทนการใช้นิ้วมือกด
  • จอยเมาส์ (Joy-Mouse) เป็นการรวมกันระหว่างเมาส์และจอยสติก โดยใช้การโยกจอยแทนการเลื่อนเมาส์

ดูเพิ่ม

[แก้]