เภสัชกรรมไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เภสัชกรรมไทย

ประวัติ[แก้]

สมัยสุโขทัยและอยุธยา[แก้]

การเยียวยารักษาโรคนั้นเกิดควบคู่กับชนชาติไทยมานานแล้ว ในสมัยสุโขทัย มีจารึกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงหลักหนึ่งที่จารึกถึงการบำบัดรักษาโรคของคนไทยว่าใช้ยาสมุนไพร มีการปลูกสมุนไพรที่เขาหลวงและเรียกชื่อแพทย์ตามความชำนาญ อาทิ เนครแพทย์ โอสถแพทย์ โรคแพทย์ เป็นต้น

ครั้นต่อมาในสมัยอยุธยา อิทธิพลความคิดและวิวัฒนาการของชาวตะวันตกเริ่มเผยแพร่สู่ไทยมากขึ้น เคยมีบันทึกของลาลูแบร์ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ไว้ว่า "การแพทย์ของชาวสยามไม่นับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ หมอสยามไม่มีหลักการปรุงโอสถ ปรุงไปตามตำรับเท่านั้น และชาวสยามไม่รู้จักการศัลยกรรมและกายวิภาคศาสตร์ หมอสยามไม่มีหลักในการปรุงยา ได้แต่ปรุงไปตามตำราเท่านั้น หมอสยามไม่พยายามศึกษาสรรพคุณยาแต่ละชนิด นอกจากจะถือเอาตามตำราที่ปู่ยาตายายสอนต่อๆ กันมา โดยไม่มีการปรับปรุงอะไร"[1]

การรวมรวมองค์ความรู้ทางยาครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราชในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ถือเป็นตำรายาไทยเล่มแรกและเป็นเภสัชตำรับฉบับแรกของประเทศไทย มีมาตราตวงยาเรียกว่า "ทะนาน" ตัวยาส่วนมากได้จากธรรมชาติ ทั้งนี้ การบำบัดรักษายังคงความเชื่อเรื่องบุญกรรมของพระพุทธศาสนา[2] ในสมัยอยุธยาได้มีหลักฐานว่ามีคลังยาหรือโรงพระโอสถในราชสำนักเกิดขึ้นแล้ว ส่วนประชาชนนิยมซื้อยาสมุนไพรบริเวณ "ย่านป่ายา" ในเขตริมกำแพงเมือง แม้ขณะนั้นมียาฝรั่งเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่คนไทยก็ยังนิยมการใช้ยาสมุนไพรมากกว่า[3]

สมัยรัตนโกสินทร์[แก้]

การแพทย์ของไทยในช่วงต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ลลยังคงรูปแบบเดิมจากสมัยอยุธยาคือ การใช้สมุนไพรเป็นหลักและใช้ยาที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากปู่ยาตายาย ในสมัยบบพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการแยกเภสัชกรรมออกจากเวชกรรมเป็นครั้งแรก โดยมีกรมหมอแยกกับกรมพระเครื่องต้น ซึ่งทำหน้าที่ปรุงยาตามฎีกา

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าจ้าอยู่หัว มิชชันนารีชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาเผยแพร่บทบาทในประเทศไทยมากขึ้น และได้นำความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาพร้อมๆกันด้วย หมอบลัดเลซึ่งเขามาในสมัยนั้น ได้เปิดร้านยาฝรั่งร้านแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2378 ที่ตำบลวัดเกาะ[4] เริ่มมีการผ่าตัดพระสงฆ์เป็นครั้งแรกในกรุงสยามและการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการชำระคัมภีร์แพทย์และเรียบเรียงเป็นตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง 10 คัมภีร์ นับเป็นตำรายาไทยเล่มที่ 4 หลังจากตำรับพระโอสถพระนารายณ์ จารึกยาวัดราชโอรส และจารึกยาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งตำรายาดังกล่าวยังใช้เป็นเกณฑ์ในการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์แผนไทย มาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชใน พ.ศ. 2431 และจัดตั้งโรงเรียนแพทยากรในปี พ.ศ. 2432 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัย โดยนักเรียนแพทย์ต้องเรียนทั้งการบำบัดรักษาและการปรุงยาไปพร้อมๆกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 มีการจัดตั้งกองโอสถศาลาขึ้น สังกัดกระทรวงธรรมการ และผลิตยาโอสถศาลาหรือยาตำรับหลวงขึ้น ในปี พ.ศ. 2445 ซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปเป็นยาสามัญประจำบ้านแล้ว ซึ่งตำรับยาดังกล่าวได้กระจายไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้หัวเมืองมีทางเลือกในการบำบัดรักษาโรคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยาโอสถศาลานับว่าเป็นายาสมัยใหม่ที่คนไทยไม่นิยมใช้ จึงยังคงผลิตยาแผนไทยโบราณโดยให้โอสถศาลาผลิต "ยาโอสถสภาแผนโบราณ" ออกจำหน่ายทั้งสิ้น 10 ขนาน[5]

เภสัชกรรมในแบบตะวันตก[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระบิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมไทย

การศึกษาเภสัชกรรมแบบตะวันตกหรือเภสัชกรรมแผนปัจจุบันในประเทศไทยนั้น สถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะโรงเรียนแพทย์ปรุงยาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยดำริของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยในสมัยนั้น จนมีคำสั่งกระทรวงธรรมการเรื่องระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456[6] จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็น "พระบิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมไทย"[7][8] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเห็นความสำคัญของวิชาชีพเภสัชกรรม ดังที่ปรากฏตามพระดำรัสที่ประทานแก่นักศึกษารุ่นแรกดังใจความว่าว่า

ผู้ที่จะออกไปมีอาชีพแพทย์นั้นจะปรุงยาขายด้วยไม่ได้ แพทย์มีหน้าที่เฉพาะการตรวจรักษาพยาบาลคนไข้เท่านั้น ส่วนผู้ที่สำเร็จวิชาปรุงยาก็ออกไปประกอบอาชีพปรุงยาและขายยา จะไปตรวจรักษาคนไข้ไม่ได้อาชีพทั้งสองนี้เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกัน แบ่งกันรับผิดชอบตามแบบอย่างในประเทศตะวันตกเขา...

[9]

คำสั่งของกระทรวงธรรมการให้เภสัชกรรมเป็นแผนกแพทย์ปรุงยาในโรงเรียนราชแพทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จัดหลักสูตรการศึกษา 3 ปี เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงธรรมการ มีศักดิ์และสิทธิ์ในการปรุงยา และเปิดรับนักเรียนครั้งแรกในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457[10] แต่อย่างไรก็ดี การศึกษาเภสัชศาสตร์ไม่เป็นที่สนใจของประชาชนนัก เนื่องจากประชาชนส่วนมากยังใช้ยาแผนโบราณและยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องการจำหน่ายยาในขณะนั้น ต่อมาได้มีการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทางด้านเภสัชกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นในพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 ซึ่งควบคุมเฉพาะการปรุงยา ไม่ครอบคลุมถึงการโฆษณา การจำหน่าย อันก่อให้เกิดปัญหาในสังคมตามมาอีกมาก[3]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการก่อตั้งเภสัชกรรมสมาคมแห่งกรุงสยาม เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2472 โดยเป็นที่พบปะของเภสัชกรในสมัยนั้น ณ บ้านชุมแสง บ้านของพระมนตรีพจนกิจ (หม่อมราชวงศ์ชาย ชุมแสง) อาจารย์ประจำวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์[11] ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 กำหนดให้การศึกษาเภสัชศาสตร์อยู่ภายใต้การดำเนินการของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์[3]

ในปี พ.ศ. 2479 ได้มีการประกาศพระราชบัญญิตควบคุมการขายยา พ.ศ. 2479[12] ซึ่งมอบอำนาจและหน้าที่การบริการเรื่องยาแก่เภสัชกร และมีการประกาศพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ซึ่งกำหนดบทบาทของเภสัชกรด้านการปรุงยา[13] ครั้นในปีต่อมา เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น ได้ริเริ่มการก่อตั้งโรงงานเภสัชกรรม (ต่อมาคือองค์การเภสัชกรรม) และจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเภสัชศาสตร์สู่ระดับปริญญาบัณฑิต[3]

ในปี พ.ศ. 2502 อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยพัฒนาขึ้น เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 มีการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน รวบรวมไว้ซึ่งการสนับสนุนลงทุนอุตสาหกรรมยาทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมบรรษัทข้ามชาติมาตั้งโรงงานผลิตยาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากนัก จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการขาดแคลนยาในประเทศเนื่องจากไม่สามารถนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ และโรงงานเภสัชกรรมในขณะนั้นก็ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก อีกทั้งเภสัชกรทั้งประเทศมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้ศาสตร์ด้านนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น และมีการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์เพิ่มเติม ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นตามลำดับ[14]

ในปี พ.ศ. 2555 มีผู้ขึ้นทะเบียนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเกินเลขที่ 30,000 [15]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

  • โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขไทย, 2545).
  • ชาติชาย มุกสง, "การแพทย์ในประวัติศาสตร์: พัฒนาการของการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ในสังคมตะวันตกโดยสังเขป", วารสารประวัติศาสตร์ (2555), หน้า 1-14.
  • ทวีศักดิ์ เผือกสม, เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550)
  • ทวีศักดิ์ เผือกสม, "รัฐเวชกรรม (Medicalized State): จากโรงพยาบาลสู่โครงการสาธารณสุขมูลฐาน", รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (2546), หน้า 204-245.
  • สุกิจ ด่านยุทธศิลป์, "การสาธารณสุขแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2543-2468)" (ปริญญานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2534).
  • อดิศร หมวกพิมาย, น้ำเพื่อชีวิต ธุรกิจเอื้อสังคม (กรุงเทพฯ: เยเนรัล ฮอลปิตัล โปรดักส์, 2552).

อ้างอิง[แก้]

  1. เพื่อนสนิท[ลิงก์เสีย] จดหมายเหตุลาลูแบร์ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  2. สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ตำรับยาโบราณชาวกรุงเก่า เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 สำลี ใจดี. เภสัชศาสตร์สัมพันธ์. กรุงเทพมหานคร : คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545. ISBN 974-13-2124-4
  4. วิวัฒนาการการพิมพ์และหนังสือเล่มแรกของไทย เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  5. กูเกิลกูรู[ลิงก์เสีย] อยากทราบประวัติเกี่ยวกับยาสามัญประจำบ้าน เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  6. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2011-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติคณะ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-30. สืบค้นเมื่อ 2019-01-03.
  9. http://161.200.184.9/new_from.htm/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D2475-2535.pdf[ลิงก์เสีย]
  10. เด็กดีดอตคอม ตอนที่ 1: กำเนิดเภสัชจุฬา เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  11. เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เก็บถาวร 2016-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติสมาคม เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  12. ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญิตควบคุมการขายยา พ.ศ. ๒๔๗๙ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  13. ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙ เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  14. ประวัติคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บถาวร 2010-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  15. [1] เรียกข้อมูลวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552