เป๊ปซี่แมน (วิดีโอเกม)

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เป๊ปซี่แมน
ภาพหน้าปก แสดงตัวละครเป๊ปซีแมน
ผู้พัฒนาKID
ผู้จัดจำหน่ายKID
อำนวยการผลิตHisayoshi Ichikawa[1]
ออกแบบ
  • Nobuaki Umeda[1]
  • Nozomi Takeguchi[1]
  • Keisuke Itou[1]
โปรแกรมเมอร์
  • Akira Miyagoe[1]
  • Akihisa Yamada[1]
ศิลปินโคะทะโระ อุชิโกะชิ
แต่งเพลงJames Shimoji
เครื่องเล่นเพลย์สเตชัน
วางจำหน่าย
  • JP: 4 มีนาคม 1999; 25 ปีก่อน (1999-03-04)
แนวแอ็กชัน
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว

เป๊ปซี่แมน (ญี่ปุ่น: ペプシマンโรมาจิPepsiman) เป็นวิดีโอเกมแอ็กชันพัฒนาโดยทีม KID และออกจำหน่ายในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1999 ในประเทศญี่ปุ่น สำหรับเครื่องเล่นเพลย์สเตชัน เกมใช้ตุ๊กตาสัญลักษณ์ของเป๊ปซี่ในชื่อเดียวกัน และให้ผู้เล่นหลบหลีกสิ่งกีดขวางโดยการวิ่ง วิ่งพุ่งชน และกระโดด ขณะที่เป๊ปซี่แมนจะวิ่งไปข้างหน้าอัตโนมัติตลอดแต่ละด่านในเกม

เกมสร้างขึ้นด้วยงบประมาณต่ำ ทำให้เกิดการตัดสินใจถ่ายทำวิดีโอคั่นระหว่างด่าน แสดงผู้ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งกำลังดื่มเป๊ปซี่ เนื่องจากถ่ายทำง่าย เกมยังมีฉากคัตซีน 3 มิติที่นักเขียนวิชวลโนเวล โคะทะโระ อุชิโกะชิเป็นนายแบบสามมิติให้ ขณะที่มีผู้จัดจำหน่ายชาวอเมริกันพยายามหาสิทธิ์ในการจำหน่ายเกมนี้ในสหรัฐอเมริกา แต่เกมมีจำหน่ายแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น

นักวิจารณ์เปรียบเทียบกับเกมอื่น ๆ เช่น แครชแบนดิคูต และให้ความเห็นเกี่ยวกับความเรียบง่ายและราคา ซึ่งเดิมคิดว่าราคาถูก นักเขียนนิตยสารคอมเพลกซ์ ใส่เกมนี้ไว้ในรายชื่อเกมที่ใช้ตราสินค้าของบริษัทที่ "ไม่ได้ห่วย" และให้ความเห็นว่า มันไม่ใช่เกมที่แย่ตราบใดที่ผู้เล่นทนโฆษณาจำนวนมากในเกมได้ ขณะที่นักวิจารณ์จากบล็อกดิสทรักทอยด์กล่าวว่า เป็นเกมที่ตลกและไม่ดีเยี่ยม และเรียกว่าเป็น "เกมที่ดูโง่เง่าอย่างมีเสน่ห์" (charmingly brain-dead) อุชิโกะชิกล่าวว่า เกมขายได้ไม่ดีนัก

การเล่น[แก้]

ผู้เล่นพยายามหลบสิ่งกีดขวางขณะเป๊ปซี่แมนวิ่งไปข้างหน้า

เป๊ปซี่แมนเป็นเกมแอ็กชัน[2] ประกอบด้วยด่าน 4 ด่าน แต่ละด่านแบ่งเป็นด่านย่อยหลายด่าน[3] และในแต่ละด่าน เป๊ปซี่แมนที่คอยช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเครื่องดื่ม เช่น ทหารคนหนึ่งกลางทะเลทราย โดยมอบกระป๋องเป๊ปซี่ให้เขา[4] ด่านแต่ละด่านยึดตามสถานที่จริง เช่น ซานฟรานซิสโก และรถไฟใต้ดินโตเกียว[3] เกมเล่นจากมุมมองบุคคลที่สาม โดยเป๊ปซี่แมนจะวิ่งไปข้างหน้าอัตโนมัติตลอดทั้งด่าน[4] บางครั้งวิ่งทะลุห้องนั่งเล่นของชาวบ้าน[3] จุดประสงค์ของผู้เล่นคือหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เช่น รถยนต์ ปั้นจั่นก่อสร้าง[4] และฝูงชน รวมถึงสิ่งกีดขวางที่มีตราสินค้าเป๊ปซี่ เช่น รถบรรทุกเป๊ปซี่[5] ผู้เล่นสามารถหลบสิ่งกีดขวางโดยการวิ่ง วิ่งพุ่งชน กระโดด และกระโดดไกล[3] ผู้เล่นสะสมคะแนนจากการสะสมกระป๋องเป๊ปซี่[5]

ในบางด่าน เป๊ปซี่แมนถูกถังเหล็กครอบศีรษะ ทำให้การบังคับทิศทางกลับด้าน และในบางด่าน เขาจะใช้สเกตบอร์ด ในแต่ละด่านจะมีจุดตรวจ (checkpoint) จำนวนหนึ่ง ถ้าผู้เล่นชนสิ่งกีดขวางบ่อยครั้งเกินไป พวกเขาจะได้เริ่มใหม่ที่จุดตรวจล่าสุด แต่ละด่านจบลงโดยเป๊ปซี่แมนวิ่งหนีวัตถุขนาดใหญ่[4] เช่น กระป๋องเป๊ปซี่ยักษ์[5] ในระหว่างด่าน ผู้เล่นได้ชมวิดีโอแสดงชาวอเมริกันคนหนึ่งกำลังดื่มเป๊ปซี่ และกินมันฝรั่งทอดและพิซซ่าขณะกำลังดูโทรทัศน์[4]

เบื้องหลังและการพัฒนาเกม[แก้]

เป๊ปซี่แมนเกิดขึ้นโดยยึดตุ๊กตาสัญลักษณ์ของเป๊ปซี่ ซึ่งสร้างจากนักวาดหนังสือการ์ตูน ทราวิส ชาเรสต์ ให้กับสาขาของเป๊ปซี่ในประเทศญี่ปุ่น ตัวละครมีแสดงในภาพยนตร์โฆษณาในญี่ปุ่น[4] และในวิดีโอเกมไฟติงไวเปอส์ภาคภาษาญี่ปุ่น และเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น[6] ด้วยเหตุนี้ เป๊ปซี่จึงตัดสินใจส่งเสริมตัวละครต่อไปในรูปแบบของวิดีโอเกม[4]

เกมพัฒนาโดย KID กลุ่มนักพัฒนาวิดีโอเกมสัญชาติญี่ปุ่น เกมสร้างด้วยต้นทุนต่ำ ทำให้มีการตัดสินใจสร้างฉากภาพยนตร์ต้นทุนต่ำแสดงชายชาวอเมริกันกำลังดื่มเป๊ปซี่ เกมยังมีฉากเหตุการณ์สามมิติที่ออกแบบโดยโคะทะโระ อุชิโกะชิ ซึ่งต่อมาได้เป็นนักเขียนวิชวลโนเวลที่ KID งานนี้เป็นงานแรกของอุชิโคะชิ โดยเขาเคยได้รับจ้างให้วางแผนวิดีโอเกมที่ประยุกต์จากเกมกระดาน แต่จบลงด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในทีมพัฒนาเกมเป๊ปซี่แมน ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะที่เขาเพิ่งได้เข้ามาทำที่ KID เมื่อ ค.ศ. 1998[7] เกมออกจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นลงเครื่องเพลย์สเตชัน ในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1999[2] ขณะที่มีผู้จัดจำหน่ายชาวอเมริกันพยายามหาสิทธิ์ในการจำหน่ายเกมนี้ในสหรัฐอเมริกา[6] แต่เกมมีจำหน่ายแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่แม้เป็นเช่นนั้น เกมเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น[4] อุชิโกะชิกล่าวว่า เกมขายได้ไม่ดีนัก[7]

การตอบรับ[แก้]

การตอบรับ
คะแนนปฏิทรรศน์
สิ่งพิมพ์เผยแพร่คะแนน
แฟมิซือ25/40[2]

นักเขียนจากนิตยสารแฟมิซือเรียกเกมว่า "ง่ายสุด ๆ" (super-simple) เทียบกับเกมเมโทรครอส และเปเปอร์บอย และมองว่าเป็นเกมแครชแบนดิคูตในแบบที่ถูกปรับให้ง่าย[2] นักเขียนคนอื่น ๆ มีความคิดเห็นคล้าย ๆ กัน นักวิจารณ์จากไอจีเอ็นเปรียบเทียบเกมนี้กับเกมแครชแบนดิคูต บรรยายว่าการเล่นเกม "เรียบง่าย [และ] เน้นความจำ" และกล่าวว่าสิ่งที่ทำให้เกมเป็นที่จดจำคือ "เป็นสมมติฐานพิลึกอย่างสุดโต่ง" พวกเขายังรู้สึกว่าเกมไม่ได้แย่ และคุ้มราคา ซึ่งพวกเขามองว่าราคาถูก[3] เจมส์ มิเอลก์ จากเว็บไซต์เกมสปอตเรียกเกมนี้ว่า "สิ่งบันเทิงใจเล็ก ๆ ที่ยอดเยี่ยม" (nifty little distraction) และกล่าวว่าวิธีการเล่นคล้าย ๆ กับ "พลวัตเกมโบราณของปีก่อน ๆ" (old-school gaming dynamics of yesteryear) เขาให้ความเห็นกับราคาที่ต่ำ แต่กล่าวว่ามันเป็นเกมที่หาจุดสนใจได้ยาก[6]

ใน ค.ศ. 2011 อแอลลิสแตร์ พินซอฟ จากบล็อกดิสทรักทอยด์วิจารณ์เกม โดยมองว่าเป็นการผสมผสานระหว่างเกมเปเปอร์บอย และมัสเซิลมาร์ช ในเรื่องของความซับซ้อนและความเร็ว และเทียบกับการเล่นของเกมแครชแบนดิคูต เขาพบว่ามันเป็น "ภาพน่าตื่นเต้นบิดเบี้ยวมีสเน่ห์อย่างอัศจรรย์" ที่ลำบากหากจะไม่ชอบเกมนี้ เขากล่าวว่าเหตุผลหลักที่เล่นเกมนี้คือ "ความวิกลจริตอย่างที่สุด" (the sheer lunacy) โดยกล่าวว่าเกมถูกอเมริกา "ครอบงำ" และพรรณนาชาวอเมริกันว่า "คนบ้านนอกที่โสโครก" (unhygienic hillbillies) ในแบบที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการล้อเลียนตนเองหรือไม่ เขาสรุปว่าเกมเป็นเกมที่ตลก แต่ไม่ดีเยี่ยม และสิ่งที่น่าขันและรายละเอียดเล็ก ๆ จำนวนมากในเกมทำให้เกมดู "โง่เง่าอย่างมีเสน่ห์" (charmingly brain-dead)[4] ใน ค.ศ. 2013 จัสติน อะมีร์คานี จากนิตยสารคอมเพล็กซ์รวมเกมนี้เข้ากับรายชื่อวิดีโอเกมที่ใช้ชื่อบริษัทที่ "ไม่ได้ห่วย" และกล่าวว่ากราฟิกของเกมไม่ดีนัก กลไกของเกมดูคล้ายกับเกมเทมเพิลรัน ซึ่งอะมีร์คานีมองว่าเป็นเกมบนไอโอเอสที่เขาชื่นชอบ เขาสรุปว่าเป๊ปซี่แมนไม่ใช่เกมที่แย่สำหรับคนที่มีการตอบสนองเร็ว ตราบใดที่พวกเขาทนสิ่งโฆษณาจำนวนมากในเกมได้ เขากล่าวอีกว่า เป๊ปซี่แมน เป็นแอดเวอร์เกมที่มี "อัตราตราสัญลักษณ์สินค้าต่อวินาที" สูงมาก[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 KID (1999). Pepsiman (PlayStation). Scene: Credits.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ペプシマン まとめ (PS)". Famitsu (ภาษาญี่ปุ่น). Enterbrain. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-29. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "Pepsiman: PlayStation's Strangest Moment?". IGN. Ziff Davis. 1999-03-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-25. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 Pinsof, Allistair (2011-03-11). "It Came from Japan! Pepsiman". Destructoid. Modern Method. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-07. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Amirkhani, Justin (2013-06-02). "Pepsiman - 10 Company Branded Video Games That Didn't Suck". Complex. Complex Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-16. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  6. 6.0 6.1 6.2 Mielke, James (1999-04-15). "Hands On: Pepsiman". GameSpot. CBS Interactive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-29. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  7. 7.0 7.1 Szczepaniak, John (2014-08-11). The Untold History of Japanese Game Developers. Vol. 1. SMG Szczepaniak. pp. 298–313. ISBN 978-0-9929260-0-7.