เจี่ยนตู๋
เจี่ยนตู๋ (จีน: 简牍; พินอิน: jiǎndú; "เอกสารซีกไม้") เป็นวัสดุหลักในการเขียนหนังสือของจีนก่อนที่กระดาษจะแพร่หลาย
เจี่ยนตู๋ที่เก่าแก่ที่สุดและเหลือรอดอยู่ในปัจจุบันมีอายุราว 500 ปีก่อนคริสตกาล ตรงกับช่วงรณรัฐ (戰國) แต่มีการกล่าวถึงเจี่ยนตู๋ในเอกสารที่เขียนบนวัสดุอย่างอื่นมาก่อนช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ก่อนหน้าเจี่ยนตู๋ ก็มีวัสดุรูปแบบอื่นใช้งานกันอยู่ ซึ่งอย่างน้อยใช้มาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชาง (ราว 1250 ปีก่อนคริสตกาล) ต่อมาในช่วงราชวงศ์ฮั่น เจี่ยนตู๋กลายเป็นวัสดุมาตรฐานในการเขียนหนังสือ และมีการขุดค้นพบเจี่ยนตู๋จากยุคนี้อย่างมากมาย[1] ภายหลังเมื่อขันทีไช่ หลุน (蔡倫) แห่งราชวงศ์ฮั่น ผลิตกระดาษขึ้น กระดาษก็เริ่มเป็นที่ใช้งานแพร่หลายแทนเจี่ยนตู๋ จนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 เจี่ยนตู๋ก็เลิกใช้ไปแทบทั้งประเทศจีน
เจี่ยนตู๋มักประกอบด้วยซีกไม้แคบยาว แต่ละซีกมักใช้เขียนอักษรเป็นแถวยาว ซีกเจี่ยนตู๋มักยาวราวตะเกียบหนึ่งข้าง และกว้างราวตะเกียบหนึ่งคู่ เมื่อเขียนข้อความยาว ๆ แต่ละซีกมักนำมาเย็บหรือร้อยต่อกันแล้วม้วนเข้า[2]
ประเพณีฝังเอกสารที่เขียนบนเจี่ยนตู๋ลงในสุสานหลวงทำให้งานหลายชิ้นเหลือรอดผ่านกาลเวลายาวนานมา ม้วนเจี่ยนตู๋เก่าแก่ชุดหนึ่ง อายุ ค.ศ. 279 บันทึกเอกสารสำคัญเรื่อง จี๋จ่ง (汲冢) เอาไว้ โดยค้นพบในสุสานของกษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งรัฐเว่ย์ (魏国)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Loewe, Michael (1997). "Wood and bamboo administrative documents of the Han period". ใน Edward L. Shaughnessy (บ.ก.). New Sources of Early Chinese History. Society for the Study of Early China. pp. 161–192. ISBN 1-55729-058-X.
- ↑ Perkins, Dorothy (1998). Encyclopedia of China: History and Culture. Routledge. p. 24. ISBN 978-1579581107.