เคลฟเวอร์แฮนส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคลฟเวอร์แฮนส์แสดงความสามารถ

เคลฟเวอร์แฮนส์ (อังกฤษ: Clever Hans) หรือ แดร์คลูเกอฮันส์ (เยอรมัน: der Kluge Hans)เป็นม้าพันธุ์รัสเซีย (Orlov Trotter) ตัวหนึ่ง ที่มีการอ้างว่า มันสามารถคิดเลขง่าย ๆ และแก้ปัญหาใช้สติปัญญาอื่น ๆ บางอย่างได้

แต่ว่าหลังจากได้ทำการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบแล้วในปี ค.ศ. 1907 นักจิตวิทยาชาวเยอรมันออสคาร์ พฟุงสท์ ก็ได้แสดงหลักฐานว่า เจ้าม้าไม่ได้ทำงานทางสติปัญญาเหล่านั้นได้จริง ๆ คือ มันเพียงแต่สังเกตปฏิกิริยาของพวกมนุษย์ที่กำลังดูมันทำงานอยู่เท่านั้น เพราะการตรวจสอบม้า พฟุงสท์จึงได้ค้นพบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุระเบียบวิธีวิจัย คือเจ้าม้ามีการตอบสนองต่อปฏิกิริยาที่ไม่ได้ตั้งใจ (และควบคุมไม่ได้) ของมนุษย์ที่เป็นคนฝึกม้า ที่จริง ๆ แล้วเป็นผู้แก้ปัญหาที่ต้องใช้สมองเหล่านี้ และตัวผู้ฝึกเองก็ไม่รู้จริง ๆ ว่า ตัวเองกำลังให้คำตอบแก่ม้า[1] ตั้งแต่นั้นมา เพื่อให้เกียรติกับงานของพฟุงสท์ ปรากฏการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ก็ได้ชื่อว่า "ปรากฏการณ์เคลฟเวอร์แฮนส์" (อังกฤษ: Clever Hans effect) และได้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจที่สำคัญ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ความคาดหมายของผู้สังเกตการณ์ (observer-expectancy effect) และต่องานวิจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับประชานของสัตว์ นอกจากพฟุงสท์แล้ว นักปราชญ์และนักจิตวิทยาชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงคือคาร์ล ชตุมพฟ์ยังได้ทำงานศึกษาเกี่ยวกับม้าตัวนี้ด้วย คือชตุมพฟ์ได้สังเกตเห็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับเจ้าม้า ซึ่งมีอิทธิพลต่องานทางปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) ของเขา

เหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์[แก้]

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชนชาวยุโรปมีความสนใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดของสัตว์สืบเนื่องจากผลงานของชาลส์ ดาร์วินที่เผยแพร่ได้ไม่นาน

ในตอนนั้น ม้าที่เป็นประเด็นคือแฮนส์มีเจ้าของคือนายวิลเฮ็ล์ม ฟอน ออสเทิน ผู้เป็นครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้ฝึกม้าสมัครเล่น เป็นนักรหัสยิก[2] แฮนส์ได้รับการโฆษณาว่า ได้หัดเรียนการบวก การลบ การคูณ การหาร การใช้เศษส่วน การบอกเวลา การนับคืนวัน การแยกแยะโน้ตดนตรี การอ่าน การสะกด และฝึกความเข้าใจในภาษาเยอรมัน เช่นนายฟอน ออสเทินจะถามแฮนส์ว่า "ถ้าวันที่แปดของเดือนตกลงที่วันอังคาร วันศุกร์ต่อมาจะเป็นวันที่เท่าไร" แล้วแฮนส์ก็จะตอบโดยเคาะกีบเท้า คำถามสามารถถามได้ทั้งโดยปากเปล่าและโดยเขียน ฟอน ออสเทินได้นำแฮนส์ไปแสดงทั่วประเทศเยอรมนีแต่ไม่ได้คิดค่าแสดง โดยหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับแฮนส์เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1904[3]

หลังจากที่ฟอน ออสเทินเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1909 แฮนส์ได้เปลี่ยนเจ้าของหลายครั้ง และหลังจากปี ค.ศ. 1916 ก็ไม่ได้ยินข่าวอะไรเกี่ยวกับมันอีก คือชะตากรรมที่สุดของแฮนส์ไม่ปรากฏ

การตรวจสอบ[แก้]

เนื่องจากมีประชาชนเป็นจำนวนมากสนใจในเรื่องของเคลฟเวอร์แฮนส์ สำนักงานการศึกษาเยอรมันได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบข้ออ้างของนายฟอน ออสเทินตามแนวทางวิทยาศาสตร์ ในเบื้องต้น นักปรัชญาและนักจิตวิทยาคาร์ล ชตุมพฟ์ เป็นหัวหน้าของคณะกรรมการ 13 คนที่เรียกว่า คณะกรรมการแฮนส์ (อังกฤษ: Hans Commission) คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยสัตว์แพทย์ ผู้จัดการคณะละครสัตว์ นายทหารม้า ครูจำนวนหนึ่ง และผู้อำนวยการสวนสัตว์ของกรุงเบอร์ลิน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1904 คณะกรรมการได้สรุปว่า ไม่ปรากฏว่ามีเล่ห์กลใด ๆ ในการแสดงของแฮนส์[2] (คือสรุปว่าแฮนส์ดูเหมือนจะมีความสามารถอย่างที่แสดงจริง ๆ)

ต่อมา คณะกรรมการได้มอบหมายการตรวจสอบให้กับนายพฟุงสท์ ผู้เริ่มตรวจสอบหลักฐานความสามารถขของแฮนส์โดยมีกลวิธีคือ

  1. แยกม้าและคนถามคำถามออกจากคนดู เพื่อป้องกันไม่ให้ได้คำตอบมาจากคนดู
  2. ใช้คนถามคำถามคนอื่นนอกเหนือไปจากเจ้าของ
  3. ใช้ที่ปิดตาม้าในแนวมุมต่าง ๆ เพื่อดูว่าม้าสามารถเห็นคนถามคำถามหรือไม่
  4. ใช้คำถามทั้งที่คนถามคำถามรู้คำตอบและไม่รู้คำตอบ

โดยผ่านการทดสอบเป็นจำนวนมาก พฟุงสท์พบว่า แฮนส์สามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้องแม้ว่าตัวนายฟอน ออสเทินเองจะไม่ได้เป็นคนถาม ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่เป็นการหลอกลวง แต่ว่า แฮนส์สามารถจะตอบคำถามได้ก็ต่อเมื่อผู้ถามรู้คำตอบและแฮนส์สามารถมองเห็นผู้ถามได้ คือ พฟุงสท์พบว่า เมื่อนายตัวฟอน ออสเทินเองรู้คำตอบ แฮนส์จะตอบคำถามได้อย่างถูกต้องถึงร้อยละ 89 แต่เมื่อไม่รู้ แฮนส์จะตอบถูกเพียงแค่ร้อยละ 6

จากนั้น พฟุงสท์จึงดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ถามอย่างละเอียด แล้วพบว่า เมื่อม้ากำลังเคาะกีบเท้าเป็นจำนวนใกล้ถึงคำตอบ ลักษณะท่าทางและสีหน้าของผู้ถามคำถามจะเปลี่ยนไปตามความตื่นเต้นที่มีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหมดสิ้นไปโดยทันทีที่ม้าเคาะกีบเท้าเป็นครั้งสุดท้ายที่แสดงคำตอบที่ถูกต้อง นี่เป็นตัวช่วยให้ม้ารู้ว่าเมื่อไรควรจะหยุดเคาะกีบเท้า ความสามารถในการสังเกตการณ์ของม้านั้นอาจอธิบายได้ว่า อาจเป็นไปได้ ที่การสื่อสารระหว่างพวกม้าต้องอาศัยการตรวจจับลักษณะท่าทางของกันและกันที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงแค่เล็กน้อย ซึ่งทำให้อธิบายได้ว่า ทำไมแฮนส์จึงสามารถได้คำตอบจากนายฟอน ออสเทิน ทั้งสัญญาณที่ฟอน ออสเทินให้จะไม่ได้ตั้งใจ

หลังจากนั้น พฟุงสท์ก็ทำการทดลองในห้องแล็บกับมนุษย์ โดยที่ตัวเองมีบทบาทแทนม้า พฟุงสท์ให้ผู้ร่วมการทดลองยืนอยู่ทางด้านขวาแล้วให้คิดถึงตัวเลขตัวหนึ่งหรือปัญหาคณิตอย่างหนึ่ง "โดยตั้งสมาธิไว้ให้มั่น" แล้วพฟุงสท์ก็จะเคาะบอกคำตอบใช้มือข้างขวา เขาสังเกตเห็นว่า บ่อยครั้ง ผู้ร่วมการทดลองมีการ "เชิดศีรษะขึ้นเล็กน้อยอย่างทันทีทันใด" เมื่อเขาเคาะถึงจำนวนที่ถูกต้อง และพบว่า ท่าทางหลังจากการเชิดศีรษะนี้ จะตรงกับท่าทางก่อนที่ผู้ร่วมการทดลองจะเริ่มการทดลอง[4]

ทั้งตัวนายฟอน ออสเทินเองและตัวนายพฟุงสท์เองมักมีอารมณ์ร้าย และมักจะโมโหเมื่อม้าตอบได้ไม่ดี ในระหว่างที่ทำการทดลองกับม้า ตัวนายพฟุงสท์ถูกม้ากัดไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียว[3]

แม้หลังจากการเปิดโปงความจริงอย่างเป็นทางการ นายฟอน ออสเทินก็ยังไม่ยอมรับผลงานของพฟุงสท์ และได้ดำเนินการแสดงม้าไปในที่ต่าง ๆ ในเยอรมนี ซึ่งได้ทั้งความสนใจและความฮือฮาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก[2]

ปรากฏการณ์เคลฟเวอร์แฮนส์[แก้]

หลังจากที่ตัวพฟุงสท์เองเกิดความชำนาญในการแสดงความสามารถของแฮนส์ และรู้แล้วด้วยว่า อะไรเป็นสัญญาณที่บอกคำตอบให้แก่ม้า เขาก็ได้พบว่า เขาเองก็ยังส่งสัญญาณให้กับม้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เขาต้องการจะส่งสัญญาณหรือไม่ การเข้าใจถึงปรากฏการณ์เยี่ยงนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างสูงส่งต่อการออกแบบการทดลองและระเบียบวิธีวิจัย ในงานทดลองทุกอย่างที่ผู้รับการทดลองเป็นสัตว์ที่สามารถรับรู้ รวมทั้งมนุษย์เอง

ความเสี่ยงต่อปรากฏการณ์เคลฟเวอร์แฮนส์ เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาเปรียบเทียบ (comparative psychology) ต้องทดสอบกับสัตว์ที่อยู่ในสถานที่ที่แยกออกเป็นสัดส่วน เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ แต่ว่า แม้วิธีนี้เองก็ทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่น เพราะว่า ปรากฏการณ์เกี่ยวกับประชานของสัตว์ที่น่าสนใจที่สุด มักจะมีการแสดงออกในสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกันและกัน และเพื่อที่จะแสดงปรากฏการณ์เหล่านั้น มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกกับสัตว์ ประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากไอรีน เพปเพอร์เบิร์ก ผู้ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับนกแก้วฉลาดชื่อว่าอะเล็กซ์[5] และบีทริกซ์ การ์ดเนอร์ผู้ทำการศึกษาในลิงชิมแปนซีชื่อว่า วาชู[6]

ดังนั้น ถ้าหากว่าจะให้มีการยอมรับการศึกษาสัตว์เช่นนี้อย่างทั่วไป ก็จะต้องหาวิธีทดสอบความสามารถของสัตว์ โดยไม่ให้มีอิทธิพลจากปรากฏการณ์เคลฟเวอร์แฮนส์ แต่ว่า เพียงแค่นำผู้ฝึกออกจากวงจรอาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม เพราะว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกกับสัตว์นั้นมีกำลัง การนำผู้ฝึกออกจากวงจรอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางจิตใจ ทำให้สัตว์นั้นไม่สามารถแสดงความสามารถได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีที่คนที่อยู่ร่วมกับสัตว์จะไม่รู้ล่วงหน้าว่า ปฏิกิริยาของสัตว์ต่อข้อทดสอบนั้นควรจะเป็นอย่างไร (เทียบกับสมมุติฐานที่เป็นประเด็นทดสอบ)

ปรากฏการณ์นี้ก็พบด้วยในสุนัขค้นหายาเสพติด ในปี ค.ศ. 2011 นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส พบว่า ผู้ฝึกสุนัขสามารถส่งสัญญาณโดยไม่ตั้งใจให้สุนัขได้ ทำให้สุนัขแสดงการพบยาเสพติดที่ผิดพลาด[7] ในงานศึกษาปี ค.ศ. 2004 กับสุนัขที่ชื่อว่าริโก ที่เจ้าของบอกว่าเข้าใจศัพท์คำพูดถึง 200 คำ นักวิจัยป้องกันปรากฏการณ์เคลฟเวอร์แฮนส์ โดยให้เจ้าของสั่งริโกให้ไปเอาของจากห้องที่อยู่ติดกัน แต่เพราะอยู่ในห้องคนละห้อง เจ้าของจึงไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาให้ริโกเห็นเมื่อกำลังเลือกคาบเอาของที่สั่ง

ดังที่งานทดลองสุดท้ายของพฟุงสท์ทำให้ชัดเจน ปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดได้แม้ในงานทดลองที่มีมนุษย์เป็นประเด็นการทดลอง เหมือนกับงานทดลองในสัตว์ ดังนั้น นักวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับประชาน จิตวิทยาประชาน และจิตวิทยาสังคมต้องออกแบบงานทดลองให้เป็นแบบ double-blind ซึ่งหมายความว่า ทั้งผู้ทดลองและผู้รับการทดลองจะไม่รู้ถึงสภาพของผู้รับการทดลอง (คือไม่รู้ว่าผู้รับการทดลองอยู่ในกลุ่มการทดลองไหน) และดังนั้นก็จะไม่รู้คำพยากรณ์ของทฤษฎีการศึกษาว่า ผู้รับการทดลองจะมีปฏิกิริยาเป็นอย่างไร อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันปรากฏการณ์นี้ก็คือ การแทนผู้ทำการทดลองด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถสื่อคำสั่งและบันทึกปฏิกิริยาต่าง ๆ โดยไม่ส่งสัญญาณเป็นตัวช่วยให้กับผู้รับการทดลอง

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Clever Hans phenomenon". skepdic. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.
  2. 2.0 2.1 2.2 Hothersall, David (2004). History of Psychology. McGraw-Hill.
  3. 3.0 3.1 "BERLIN'S WONDERFUL HORSE; He Can Do Almost Everything but Talk—How He Was Taught" (PDF). The New York Times. 1904-09-04. สืบค้นเมื่อ 2015-02-20.
  4. "Clever Hans (The Horse of Mr. von Osten), by Oskar Pfungst". Gutenberg.org. สืบค้นเมื่อ 2013-10-21.
  5. อะเล็กซ์ เป็นนกแก้วพันธุ์แอฟริกันเกรย์ African Grey ที่เป็นสัตว์ที่ได้รับการศึกษาถึง 30 ปี จากนักจิตวิทยาสัตว์ไอรีน เพปเพอร์เบิร์ก ตอนแรกที่มหาวิทยาลัยแอริโซนา ภายหลังที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ ดร. เพปเพอร์เบิร์กเสนอว่า อะเล็กซ์มีความเฉลียวฉลาดในระดับเดียวกันกับปลาโลมาและลิงใหญ่ และเท่ากับเด็กมนุษย์อายุ 5 ขวบ
  6. วาชู เป็นลิงชิมแปนซีตัวเมียที่รับการสอนให้สื่อสารโดยใช้ภาษามืออเมริกันโดยสามารถใช้คำได้ประมาณ 350 คำ
  7. "Clever Hounds" (URL). The Economist. 2011-02-15. สืบค้นเมื่อ 2011-05-14.

ข้อมูลอื่น[แก้]