ข้ามไปเนื้อหา

ฮัสเทอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮัสเทอร์ (อังกฤษ: Hastur) หรือฮัสทูลหรือฮัสโทล เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า เกรทโอลด์วัน ในเรื่องชุดตำนานคธูลู มีฉายาว่า ผู้มิอาจเอ่ยนาม (the Unspeakable และ Him Who Is Not to be Named)

ฮัสเทอร์ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น ไฮตา คนเลี้ยงแกะ (Haïta the Shepherd) ของแอมโบรส เบียร์ซซึ่งตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2436 โดยเป็นเทพของคนเลี้ยงแกะ ต่อมา โรเบิร์ต ดับเบิลยู. แคมเบอร์ได้นำฮัสเทอร์มาใช้ในงานประพันธ์ของตนเองโดยเป็นทั้งชื่อของบุคคลและสถานที่ซึ่งเชื่อมโยงกับดวงดาวต่างๆ รวมถึงดาวอัลดิบาแรน[1]

ในเรื่องไฮตา คนเลี้ยงแกะ ซึ่งอยู่ในรวมเรื่องสั้นชุด Can Such Things Be?นั้น ฮัสเทอร์มีลักษณะเป็นเทพผู้ดีงามยิ่งกว่าที่ปรากฏในงานประพันธ์ยุคหลังมาก ในเรื่องสั้น An Inhabitant of Carcosa ที่รวมไว้ในชุดเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงนครคารโคซา(Carcosa)และบุคคลชื่อ 'ฮาลิ' ซึ่งต่อมาล้วนเป็นชื่อที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับฮัสเทอร์

ในรวมเรื่องสยองขวัญของแคมเบอร์ชุด เดอะคิงอินเยลโล (พ.ศ. 2438) ฮัสเทอร์เป็นทั้งตัวละครเหนือธรรมชาติในเรื่อง The Demoiselle D'Ys สถานที่ในเรื่อง The Repairer of Reputations และกล่าวถึงโดยไม่มีการขยายความใน The Yellow Sign สองเรื่องหลังยังกล่าวถึงนครคารโคซา, ฮาลิ, ดาวอัลดิบารัน, และกระจุกดาวไฮยาดีส รวมถึง ดวงตราเหลือง และบทละคร เดอะคิงอินเยลโล

เอช. พี. เลิฟคราฟท์ ได้อ่านเรื่องของแคมเบอร์ในปีพ.ศ. 2470[2] และรู้สึกประทับใจจนได้นำมาเขียนไว้ในงานประพันธ์ของตนเอง ในเรื่อง ผู้กระซิบในความมืด (The Whisperer in Darkness)[3] แต่ก็เพียงแต่กล่าวชื่อโดยไม่ได้ระบุว่าฮัสเทอร์นี้เป็นอะไร

ออกัสต์ เดอเลธได้ทำให้ฮัสเทอร์กลายเป็นเกรทโอลด์วันอย่างเต็มตัว[4] โดยเป็นหนึ่งในเชื้อสายของยอก โซธอทและพี่น้องของคธูลู ฮัสเทอร์ยังมีร่างอวตารต่างๆ เช่น

  • ผู้กัดกินจากแดนไกล (The Feaster from Afar) อสูรกายสีดำเต็มไปด้วยหนวดระยางซึ่งส่วนปลายเป็นจะงอยแหลมสำหรับเจาะกะโหลกศีรษะของเหยื่อและดูดกินสมอง[5]
  • ราชาอาภรณ์เหลือง
  • นักบวชผู้มิอาจบรรยาย นักบวชผู้สวมหน้ากากไหมสีเหลือง[6]

ร่างจริงของฮัสเทอร์นั้นไม่เคยได้รับการกล่าวถึง แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คล้ายกับปลาหมึกยักษ์ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในทะเลสาบฮาลิ ฮัสเทอร์ถูกเดอเลธเชื่อมโยงเข้ากับอากาศธาตุ ตามทฤษฏีธาตุทั้งสี่ และเป็นปฏิปักษ์ต่อคธูลูซึ่งเป็นธาตุน้ำ ฮัสเทอร์ถูกเอลเดอร์ก็อดขังไว้บนดาวอัลดิบารันในกระจุกดาวไฮยาดีส ณ ทะเลสาบดำ ฮาลิ ใกล้กับคารโคซา และมีเหล่าเบียกีเป็นอสูรรับใช้

ในสื่ออื่นๆ

[แก้]
  • ในเกมเล่นตามบทบาท ชุดดันเจี้ยนแอนด์ดราก้อน ได้ขยายความจากฉายา "ผู้มิอาจเอ่ยนามของฮัสเทอร์ไว้ใน Deities and Demigods Cyclopedia(TSR, ISBN 0-935696-22-9) ว่าเพียงแต่เรียกชื่อของฮัสเทอร์ก็จะนำภัยพิบัติมาสู่ผู้ที่พูดได้ แนวคิดนี้ยังปรากฏในเกมเล่นตามบทบาท ชุด Call of Cthulhu อีกด้วย[7]
  • ในเกมเล่นตามบทบาท เดลต้ากรีน ฮัสเทอร์และ ราชาอาภรณ์เหลือง เป็นตัวแทนของเอนโทรปี
  • ในวิดีโอเกม เพอร์โซนา 2: เอเทอนัลพันนิชเมนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมชุดเมกามิเทนเซย์ ฮัสเทอร์ปรากฏตัวเป็นเพอโซนาที่ผู้เล่นสามารถนำมาใช้ได้ หลังจากที่ได้การ์ด ราชาอาภรณ์เหลือง

อ้างอิง

[แก้]
  • Harms, Daniel (1998). "Hastur". The Encyclopedia Cthulhiana (2nd ed.). Oakland, CA: Chaosium. pp. 136–7. ISBN 1-56882-119-0.
  • Pearsall, Anthony B. (2005). The Lovecraft Lexicon (1st ed.). Tempe, AZ: New Falcon. ISBN 1-56184-129-3.
  • Price, Robert M. (1997). The Hastur Cycle (2nd ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-094-1.

หมายเหตุ

[แก้]
  1. Harms, The Encyclopedia Cthulhiana, p. 136.
  2. Joshi & Schultz, "Chambers, Robert William", An H. P. Lovecraft Encyclopedia, p. 38
  3. Pearsall, "Yellow Sign", The Lovecraft Lexicon, p. 436.
  4. เดอเลธเคยเสนอให้เรียกเรื่องชุดตำนานคธูลูว่าตำนานฮัสเทอร์ แต่ถูกเลิฟคราฟท์ปฏิเสธ (Robert M. Price, "The Mythology of Hastur", The Hastur Cycle, p. i.)
  5. Joseph Payne Brennan (1976), "The Feaster from Afar", The Hastur Cycle (2nd ed.), pp. 272-82.
  6. ในเรื่องเดอะดรีมเควสต์ออฟอันโนนคาดัธของเลิฟคราฟท์ ตัวละครนี้จะมีลักษณะคล้ายกับไนอาลาโธเทปมากกว่า
  7. Harms, The Encyclopedia Cthulhiana, p. 136.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]