กระจุกดาวสามเหลี่ยมหน้าวัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระจุกดาวสามเหลี่ยมหน้าวัว
ตำแหน่งดาวในกระจุกดาวกับดาวอัลดิบาแรน

กระจุกดาวสามเหลี่ยมหน้าวัว หรือ กระจุกดาวเฮียเดส (อังกฤษ: Hyades; กรีก: Ὑάδες; หรือบ้างก็เรียก เมล็อต 25, คอลลินเดอร์ 50 หรือ แคดเวลล์ 41) เป็นกระจุกดาวเปิดที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุด และเป็นหนึ่งในบรรดากระจุกดาวที่เป็นตัวอย่างการศึกษาได้ดีที่สุด กระจุกดาวนี้อยู่ห่างออกไป 151 ปีแสง ประกอบด้วยกลุ่มดาวฤกษ์ประมาณ 300 - 400 ดวงเกาะกันเป็นทรงกลมอย่างหยาบ ๆ ดาวฤกษ์เหล่านี้มีอายุใกล้เคียงกัน จุดกำเนิดเดียวกัน องค์ประกอบทางเคมีเหมือนกัน และมีการเคลื่อนที่ผ่านอวกาศเหมือน ๆ กัน[1][2] จากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก กระจุกดาวเฮียเดสจะปรากฏอยู่ในบริเวณกลุ่มดาววัว โดยที่ดาวสว่างที่สุดในกระจุกเรียงตัวกันเป็นรูปตัว "V" ต่อเนื่องกับดาวฤกษ์สว่างซึ่งเป็นดาวยักษ์แดง อัลดิบาแรน อย่างไรก็ดี อัลดิบาแรนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกระจุกดาวเฮียเดส มันอยู่ใกล้โลกมากกว่า (ทำให้มีความสว่างปรากฏมากกว่าด้วย) เพียงแต่สามารถมองเห็นอยู่ในแนวเดียวกันเท่านั้น

ดาวที่สว่างที่สุด 4 ดวงในกระจุกดาวเฮียเดสล้วนเป็นดาวยักษ์แดง ซึ่งเริ่มชีวิตเป็นดาวฤกษ์มวลมากประเภท A และได้เคลื่อนออกไปพ้นจากแถบลำดับหลักแล้ว[3] ทั้งหมดอยู่ห่างจากกันเพียงชั่วระยะไม่กี่ปีแสง รหัสเบเยอร์ของพวกมันได้แก่ แกมมา เดลตา เอปซิลอน และ เธตา เทารี ดาวทั้งสี่เรียงตัวกันเป็นดาวเรียงเด่นซึ่งถูกจินตนาการเป็นส่วนศีรษะของวัวเทารุส[3] ดาวเอปซิลอน เทารี เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ เออิน ("ตาวัว")[4] เชื่อว่ามีดาวแก๊สยักษ์อย่างน้อยหนึ่งดวงเป็นดาวเคราะห์บริวาร[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Perryman, M.A.C.; และคณะ (1998). "The Hyades: distance, structure, dynamics, and age". Astronomy & Astrophysics. 331: 81–120.
  2. Bouvier J, Kendall T, Meeus G, Testi L, Moraux E, Stauffer JR, James D, Cuillandre J-C, Irwin J, McCaughrean MJ, Baraffe I, Bertin E. (2008) Brown dwarfs and very low mass stars in the Hyades cluster: a dynamically evolved mass function. Astronomy & Astrophysics, 481: 661-672. อ่านบทคัดย่อได้ที่ http://adsabs.harvard.edu/abs/2008A%26A...481..661B.
  3. 3.0 3.1 Kaler, Jim. Hyadum I (Gamma Tauri). ดูที่เว็บเพจ http://www.astro.uiuc.edu/~kaler/sow/hyadum1.html เก็บถาวร 2008-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  4. Kaler, Jim. Ain (Epsilon Tauri). Web page at http://www.astro.uiuc.edu/~kaler/sow/ain.html เก็บถาวร 2005-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  5. Sato B, Izumiura H, Toyota E, et al. (2007) A planetary companion to the Hyades giant Epsilon Tauri. Astrophysical Journal, 661: 527-531. Abstract at http://adsabs.harvard.edu/abs/2007ApJ...661..527S.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]