อิมพาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิมพาลา
อิมพาลาธรรมดาตัวผู้ (♂)
อิมพาลาธรรมดาตัวเมีย (♀)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Aepycerotinae
Gray, 1872
สกุล: Aepyceros
Sundevall, 1847
สปีชีส์: A.  melampus
ชื่อทวินาม
Aepyceros melampus
(Lichtenstein, 1812)
ชนิดย่อย
  • A. m. melampus Bocage, 1879
  • A. m. petersi Lichtenstein, 1812
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีน้ำเงิน–อิมพาลาหน้าดำ, สีแดง–อิมพาลาธรรมดา)

อิมพาลา (อังกฤษ: Impala; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aepyceros melampus) เป็นสัตว์กีบคู่มีเขาใหญ่เป็นเกลียว ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Aepycerotinae ในวงศ์ใหญ่ Bovidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับวัวหรือแพะ, แกะ จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์ย่อยนี้และสกุลนี้[2]

คำว่า "อิมพาลา" มาจากภาษาซูลู ซึ่งเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกสัตว์ชนิดนี้ ถูกบันทึกไว้ครั้งแรกเป็นลายลักษณ์อักษรในปี ค.ศ. 1885 ในภาษาแอฟริคานส์เรียก "รูอิบอก" (Rooibok)[3] และชื่อวิทยาศาสตร์ Aepyceros melampus คำว่า Aepyceros มาจากภาษากรีกคำว่า αιπος (อ่านออกเสียง: aipos) แปลว่า "สูง" และ κερος (อ่านออกเสียง: ceros) แปลว่า "เขาสัตว์" [4] และ melampus แปลงมาจากภาษากรีกคำว่า μελάς (อ่านออกเสียง: melas) แปลว่า "สีดำ" และ πούς (อ่านออกเสียง: pous) แปลว่า "เท้า"[5]

อิมพาลาเป็นสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับแอนทิโลป มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงมา มีรูปร่างสวยงามได้สัดส่วน ขนมีสีน้ำตาลแดงมันเป็นเงา บริเวณใต้คาง ลำคอ และด้านท้องเป็นสีขาว แต่มีลักษณะเด่น คือ ริ้วขนสีดำตรงบริเวณด้านหลังขาอ่อนและปอยขนสีดำตรงบริเวณสันหลังของขาหลัง ตัวผู้จะมีเขาที่สวยงามคดโค้งเป็นเกลียวคล้ายตัวเอส ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา และมีขนาดลำตัวเล็กกว่า

อิมพาลากระจายพันธุ์อยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าในเขตร้อนที่มีลักษณะเป็นที่ราบและมีต้นไม้ขึ้นประปราย โดยจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ สมาชิกในฝูงจะมีปะปนกันทั้งตัวผู้และตัวเมียที่ยังเล็ก จำนวนประมาณ 15–25 ตัว โดยมีตัวผู้ขนาดใหญ่เป็นจ่าฝูง ในช่วงฤดูแล้ง ที่อาหารขาดแคลน ทั้งตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มที่แล้วจะมาชุมนุมกันเป็นฝูงใหญ่นับร้อยตัว ซึ่งในการชุมนุมแต่ละครั้ง อิมพาลาจะมีพฤติกรรมประการหนึ่งที่ยังอธิบายสาเหตุไม่ได้ คือ จะกระโดดสูง โดยสามารถกระโดดได้สูงถึง 30 ฟุต อิมพาลาตัวที่โตเต็มวัยกระโจนได้ไกลถึง 10 เมตร และวิ่งได้เร็วถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง[6]

อิมพาลา ถูกแบ่งออกได้เป็น 6 ชนิดย่อย แต่มี 2 ชนิดย่อยที่ได้รับการรับรอง โดยพิจารณาจากความแตกต่างกันของดีเอ็นเอ[7] คือ

อาหารหลักของอิมพาลา คือ ใบและกิ่งของพืชจำพวกอาคาเซีย ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในแอฟริกา นอกจากนี้แล้วยังกินผลไม้และหญ้าขนาดสั้น ๆ เป็นอาหารได้อีกด้วย อิมพาลาสามารถที่จะอดน้ำได้หลาย ๆ วัน โดยอาศัยเลียกินตามใบไม้ ใบหญ้าได้ เป็นสัตว์ที่มีความตื่นตัวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเป็นสัตว์ที่ถูกล่าจากสัตว์กินเนื้อ ทั้งสิงโต, เสือดาว, เสือชีตาห์, ไฮยีนา

อิมพาลามีระยะตั้งท้องนาน 171 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยลูกอิมพาลาที่เกิดมาใหม่จะอยู่กับฝูงไปตลอดชีวิตขัย [10]

อ้างอิง[แก้]

  1. IUCN SSC Antelope Specialist Group (2008). Aepyceros melampus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 18 January 2009. Database entry includes a brief justification of why this species is of least concern
  2. "Aepycerotinae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Liebenberg, L. (1990). A Field Guide to the Animal Tracks of Southern Africa. Cape Town, South Africa: D. Philip. pp. 275–6. ISBN 978-0-86486-132-0. OCLC 24702472.
  4. Briggs, M.; Briggs, P. (2006). The Encyclopedia of World Wildlife. Somerset, UK: Parragon Publishers. p. 114. ISBN 978-1-4054-8292-9.
  5. Huffman, B. "Impala (Aepyceros melampus)". Ultimate Ungulate. Ultimate Ungulate. สืบค้นเมื่อ 10 April 2016.
  6. สามเหลี่ยมโอคาแวนโก ตอนที่ 4, สุดหล้าฟ้าเขียว. สารคดีโดย ปองพล อดิเรกสาร ทางช่อง 3: เสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556
  7. LOUISE GRAU NERSTING and PETER ARCTANDER: Phylogeography and conservation of impala and greater kudu. Molecular Ecology (2001) 10 , 711–719
  8. "Black-faced Impala, Etosha, Namibia อิมพาลาหน้าดำ อีโตชา ประเทศนามีเบีย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-26. สืบค้นเมื่อ 2016-06-22.
  9. Aepyceros melampus ssp. petersi (อังกฤษ)
  10. นิตยสาร แม็ค 10 ปีที่ 14 ฉบับที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Aepyceros melampus ที่วิกิสปีชีส์