อิกิงาอิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนภาพแนวคิดของ "อิกิงาอิ"[1]

อิกิงาอิ (ญี่ปุ่น: 生き甲斐, 生きがいโรมาจิikigai) เป็นคำศัพท์ในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจรวมถึง "ความรู้สึกดีใจและความมีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่" หรือ "คุณค่าของการมีชีวิตอยู่"

แดน เบ็ดเนอร์ นักวิจัยและนักเขียนชาวอเมริกัน ผู้นิยมแนวคิดของบลูโซน ซึ่งหมายถึงพื้นที่ของผู้มีอายุยืน กล่าวถึง "อิกิงาอิ" ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นและโอกินาวะมีอายุยืนยาว ด้วยเหตุนี้ แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในยุโรปและสหรัฐอเมริกาหลังปี 2000 เป็นต้นมา

บ่อยครั้งที่แนวคิดอิกิงาอินี้ได้รับการจัดระเบียบและแนะนำโดยใช้แผนภาพเวนน์ ดังที่แสดงในรูปทางด้านขวานี้

ภาพรวม[แก้]

คำว่า "อิกิงาอิ" ไม่ใช่คำที่มีการนิยามอย่างชัดเจน[2] จิตแพทย์ โทชิกิ ชิมาซากิ (ปี 1974) กล่าวว่าอิกิงาอินั้นประกอบไปด้วย "ความหมายในการอยู่" และ "ความหมายในการไป" นั่นคือการได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น และการได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยตัวเอง[2]

โคอิจิ ทานิงุจิ และ ชินอิจิ ซาโต (ปี 2007) อธิบายถึงอิกิงาอิไว้ว่าอาจแบ่งได้เป็น 5 อย่างดังนี้[2]

  • วัตถุ - งานอดิเรก การเรียนรู้ ฯลฯ
  • กระบวนการ - ความรู้สึกสัมฤทธิ์ผล ความรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ ฯลฯ
  • อารมณ์ - กระบวนการของการกระทำ การหมกมุ่น ฯลฯ
  • การเติมเต็มตนเอง - งานอดิเรก กระบวนการอื่น ๆ เช่นการเรียนรู้ ฯลฯ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล - ชีวิตร่วมกับครอบครัว การเติบโตของลูก ฯลฯ

จากข้อมูลของ จิเอโกะ ฮาระ และ โทโมโกะ นากาจิมะ (ปี 2012) กล่าวว่า (1) เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณค่าและความหมายสำหรับชีวิตของผู้คน (2) เป็นความรู้สึกเป็นสุขจากภายในอันเป็นอัตวิสัยซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และ (3) ความรู้สึกว่าได้รับการเติมเต็ม ซึ่งได้มาจากความพยายามที่เป็นตัวของตัวเอง'' [2]

จิตแพทย์ มิเอโกะ คามิยะ ได้ชี้ให้เห็นว่าคำว่าอิกิงาอินั้นเป็นคำศัพท์เฉพาะของภาษาญี่ปุ่น เป็นคำสำหรับการแสดงออกที่ซับซ้อนของความหมายในการมีชีวิตอยู่ที่มนุษย์รู้สึก[3] หากพยายามแปลเป็นภาษาต่างประเทศ อาจใช้คำแปลในลักษณะเช่น "ควรค่าแก่การใช้ชีวิต" หรือ "มีคุณค่าหรือความหมายในการใช้ชีวิต"[3] นอกจากนี้ยังมีคำที่มีความหมายคล้ายกันอีกคือ "ฮาริอาอิ" (はりあい)

ตามแนวคิดของคามิยะ คำว่าอิกิงาอิถูกใช้ในสองแบบ[3] อย่างแรกคือใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เป็นแหล่งที่มาหรือวัตถุประสงค์ของคุณค่าในการมีชีวิตอยู่[3] ตัวอย่างเช่น: "เด็กคนนี้คืออิกิงาอิ (ความหมายในชีวิต) ของฉัน" (この子は私の生きがいです) อย่างที่สองคือใช้เพื่อหมายถึงสภาวะของจิตใจที่รู้สึกว่ามีจุดมุ่งหมายในชีวิต[3]

ในแง่ของมิติทางสังคม คัตสึยะ อิโนอุเอะ และพวก ได้จัดประเภทของอิกิงาอิออกเป็นสามทิศทาง คือ: อิกิงาอิทางสังคม (社会的生き甲斐), อิกิงาอิที่ไม่ใช่ทางสังคม (非社会的生き甲斐) และ อิกิงาอิที่ต่อต้านสังคม (反社会的生き甲斐)[4]

อิกิงาอิทางสังคม คืออิกิงาอิจากการที่ได้รับจากการเข้าร่วมและได้รับการยอมรับจากสังคม เช่น กิจกรรมอาสาสมัคร หรือ กิจกรรมชมรม อิกิงาอิที่ไม่ใช่ทางสังคม หมายถึงอิกิงาอิจาก ความเชื่อ หรือ วินัยในตนเอง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสังคม อิกิงาอิที่ต่อต้านสังคมคืออิกิงาอิจากการที่ได้แรงจูงใจพื้นฐานในการดำรงชีวิตมาจากอารมณ์อันมืดมน เช่น ความเกลียดชังใครบางคนหรือบางสิ่ง หรือความปรารถนาที่จะแก้แค้น

อิกิงาอิและวัยชรา[แก้]

การวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับอิกิงาอินั้นได้รับความสนใจอย่างากในแง่ของการวิจัยเกี่ยวกับวัยสูงอายุของมนุษย์ เช่น สาขาพฤฒาวิทยา[4] ใน มุมมองทั่วไปของชีวิต วัยชรามักถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่าง เช่น สุขภาพ และ บทบาททางสังคม สูญเสียไปหลังจากช่วงเวลาสำคัญของชีวิต[4] อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุจำนวนมากที่สูญเสียความหนุ่มสาวไปแล้วนั้นยังได้ใช้ชีวิตต่อไปโดยที่ไม่ได้เป็นทุกข์จากความรู้สึกที่ไม่ยอมรับในตัวเอง เชื่อกันว่าสาเหตุที่ผู้สูงอายุสามารถยอมรับความชราได้อย่างใจเย็นก็คือ การมีอิกิงาอิเป็นปัจจัยต่อต้านความชราและความรู้สึกสูญเสีย[4]

ลักษณะหนึ่งของอิกิงาอิของผู้สูงอายุคือ "หลงทางง่าย" [4] ตัวอย่างเช่น หากยึดถือการเติบโตของหลานเป็นอิกิงาอิ บทบาทของตัวเองจะลดลงเมื่อหลานเข้าใกล้วัยผู้ใหญ่ หรืออย่างกรณีของผู้ที่เริ่มเล่นกีฬาในวัยกลางคนจนกลายมาเป็นอิกิงาอิของตัวเองนั้นก็ยากที่จะดำเนินต่อไปเมื่อมีอายุมากขึ้น สำหรับผู้สูงอายุแล้ว อิกิงาอิทางสังคมมักจะอยู่เคียงข้างไปกับความสูญเสียเสมอ[4]

สุขภาพ[แก้]

การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า การค้นเจออิกิงาอิ สามารถส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น รวมถึงการทำงานของการรับรู้และความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมได้[5]

เอกสารอ่านเพิ่ม[แก้]

  • "Ikigai: The Japanese secret to a long and happy life" Héctor García, Francesc Miralles 2016
  • "IKIGAI: เคล็ดลับในการใช้ชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขเฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น" เค็นอิจิโร โมเตงิ 2018 ชินโจชะ

รายการที่เกี่ยวข้อง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Héctor García, Francesc Miralles『Ikigai: The Japanese Secret to a Long and Happy Life』Penguin, 2017 Google Books版 2019年7月10日閲覧。
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 伊勢真理絵 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 神谷美恵子 1980.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 日本老年行動科学会(編)『高齢者の「こころ」事典』 中央法規 2000年 ISBN 4-8058-1895-6 pp.80-99,144-145.
  5. "Finding meaning in life could improve your health". Harvard Health (ภาษาอังกฤษ). 2020-04-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-20.