อาเซลีนู เฟรย์ตัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาเซลีนู เฟรย์ตัส
ชื่อจริงอาเซลีนู เฟรย์ตัส
ฉายาPopó
Brazilian sensation
รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท
ไลท์เวท
เกิด (1975-09-21) 21 กันยายน ค.ศ. 1975 (48 ปี)
บราซิล ซัลวาดอร์,
ชกทั้งหมด40
ชนะ38
ชนะน็อก32
แพ้2
เสมอ0

อาเซลีนู เฟรย์ตัส (โปรตุเกส: Acelino Freitas) ยอดนักมวยชาวบราซิล เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1975 ที่เมืองซัลวาดอร์ รัฐบาเอีย ประเทศบราซิล เฟรย์ตัสมีชื่อเล่นว่า "ปอปอ" (Popó) เป็นชื่อที่แม่ของเขาตั้งให้ ซึ่งเป็นเสียงของเฟรย์ตัสในวัยทารกที่กำลังดูดนม อาเซลีนู เฟรย์ตัส ถือได้ว่าเป็นนักมวยชาวบราซิล ที่ทำให้วงการกีฬาบราซิลตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยสถิติการชกที่น่าทึ่ง นอกเหนือจากฟุตบอลที่เป็นกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศ และทั่วโลกก็รู้จักบราซิลจากการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกถึง 5 สมัยด้วยกัน มีการเปรียบเทียบเฟรย์ตัสว่าเสมือนกับเอเดร์ ฌูเฟร์ (Eder Jofre) อดีตยอดนักมวยชาวบราซิลแชมป์โลกในรุ่นแบนตัมเวทในยุคทศวรรษที่ 60 และในงานแต่งงานของเฟรย์ตัสมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศบราซิลอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

เฟรย์ตัสเริ่มต้นชีวิตการชกมวยด้วยการชกมวยสากลสมัครเล่นก่อน ประสบความสำเร็จโดยได้เหรียญเงินในการแข่งขันแพนอเมริกันเกมส์ ในปีพ.ศ. 2538 ในรุ่นไลท์เวท จากนั้นเฟรย์ตัสจึงเริ่มชกมวยสากลอาชีพเมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ชนะน็อค โฮเซ เอเดรียโน เซเรส ยก 1 ต่อมาใน พ.ศ. 2539 ได้ครองแชมป์ WBC mando-hispano รุ่นไลท์เวท ปีต่อมาได้ครองแชมป์ IBF latino รุ่นไลท์เวท และอีกปีได้ครองแชมป์บราซิลรุ่นไลท์เวท และสร้างสถิติที่น่าทึ่งด้วยการชนะรวด 20 ครั้ง และเป็นการชนะน็อกและชนะน็อกโดยเทคนิคทั้งหมด และได้ชิงแชมป์โลกขององค์กรมวยโลก (WBO) รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท กับอานาโตลี อเล็กซานดรอฟ นักมวยชาวคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ผลการชกเฟรย์ตัสเป็นฝ่ายชนะน็อกเพียงแค่ยกแรกเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นเฟรย์ตัสได้แชมป์ในระดับภูมิภาคของทั้งสภามวยโลก (WBC) และองค์กรมวยโลกมาแล้วเฟรย์ตัสชกป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกไว้ได้ทั้งหมด 6 ครั้ง โดยเป็นการชนะน็อกและชนะน็อกโดยเทคนิคอีกทั้งหมด โดยพบกับนักมวยฝีมือดีเช่น ดานิเอล อาลีเซอา นักมวยชาวเปอร์โตริโก และอัลเฟรด โกเตย์ นักมวยชาวกานา

จากนั้นเฟรย์ตัสที่มีสถิติชนะรวด 30 ครั้ง และเป็นการชนะน็อกและชนะน็อกโดยเทคนิคทั้งหมด 29 ครั้ง มีชนะคะแนน 10 ยกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นกับโกเตย์ ขึ้นเดิมพันตำแหน่งแชมป์โลกกับแชมป์โลกรุ่นเดียวกันของสมาคมมวยโลก (WBA) กับโฮเอล กาซามายอร์ นักมวยชาวคิวบา ผู้มีสถิติไม่เคยแพ้ใครเหมือนกัน ผลการชก เฟรย์ตัสเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปได้ ได้ครองแชมป์โลกพร้อมกันถึง 2 สถาบันในรุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2545

จากนั้นเฟรย์ตัสขึ้นป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก 2 สถาบันนี้ได้อีก 3 ครั้ง จึงสละตำแหน่งเพื่อเลื่อนขึ้นไปชกในรุ่นไลท์เวท และได้เป็นแชมป์โลกขององค์กรมวยโลก (WBO) รุ่นไลท์เวทเมื่อเป็นฝ่ายชนะคะแนนอาเธอร์ กรีกอเรียน เจ้าของตำแหน่งเดิมชาวอุซเบกิสถาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2547 จากนั้นเฟรย์ตัสพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก เมื่อพบกับดีเอโก คอร์ราเลส นักมวยชาวอเมริกัน ผู้ที่กำลังมีฟอร์มการชกร้อนแรงอีกคนแห่งรุ่นนี้ เฟรย์ตัสเป็นฝ่ายแพ้น็อกโดยเทคนิคต่อคอร์ราเลสไปในยกที่ 10 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นเฟรย์ตัสได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพลังกำปั้นของเขาไม่หนักหน่วงเหมือนเดิมอีกแล้ว หลังจากไม่สามารถเอาชนะน็อกได้เหมือนแต่ก่อน

จากนั้นเฟรย์ตัสทำฟอร์มชนะอีก 2 ครั้ง เป็นการชนะน็อก 1 ครั้ง และชนะคะแนนอีก 1 ครั้ง จึงแชมป์โลกขององค์กรมวยโลก (WBO) รุ่นไลท์เวท (ที่ว่าง) กับซาฮีร์ ราฮีม นักมวยชาวอเมริกัน ซึ่งเฟรย์ตัสก็เป็นฝ่ายชนะคะแนนไปอีก 28 เมษายน พ.ศ. 2550 เฟรย์ตัสชกเดิมพันแชมป์โลกรุ่นเดียวกันกับฮวน ดิแอซ แชมป์โลกของสมาคมมวยโลกชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิโก และเป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในยกที่ 8 และจนบัดนี้เฟรย์ตัสก็ยังไม่ได้ขึ้นเวทีชกมวยอีกเลย

เกียรติประวัติ[แก้]

  • แชมป์ WBC mando-hispano รุ่นไลท์เวท
    • ชิง 16 สิงหาคม 2539 ชนะน็อค กูเตนเบิร์ก เฟรรีย์รา ยก 2
    • สละแชมป์
  • แชมป์ IBF latino รุ่นไลท์เวท
    • ชิง 22 เมษายน 2540 ชนะน็อค อาเซลิโน เคียซ ยก 1
    • สละแชมป์
  • แชมป์ประเทศบราซิลรุ่นไลท์เวท (2541)
  • แชมป์ WBO-NABO รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท
    • ชิง 16 ตุลาคม 2541 ชนะน็อค โฮเซ่ หลุยส์ มอนเทส ยก 1
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 2 เมษายน 2542 ชนะน็อค ฮวน แองเจล มาเซียส ยก 8
    • สละแชมป์
  • แชมป์โลก WBO รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท
    • ชิง 7 สิงหาคม 2542 ชนะน็อค อนาโตลี อเล็กซานดอฟ
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 26 ตุลาคม 2542 ชนะน็อค แอนโทนี่ มาร์ติเนซ
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 15 มกราคม 2543 ชนะน็อค บาร์รี โจนส์ ยก 8
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 18 มีนาคม 2543 ชนะน็อค ฮาเวียร์ ฮังเรกุย ยก 1
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 10 มิถุนายน 2543 ชนะน็อค ลามูเอล เนลสัน ยก 2
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5, 23 พฤศจิกายน 2543 ชนะน็อค อัลเบอร์โต รามอน รีออส ยก 9
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 6, 27 มกราคม 2544 ชนะน็อค ออร์แลนโด โซโต ยก 1
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 7 และชิงแชมป์โลก WBA ในรุ่นเดียวกัน 12 มกราคม 2545 ชนะคะแนน โฮเอล กาซามายอร์
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 8 และ 1, 3 สิงหาคม 2545 ชนะคะแนน แดเนียล แบตตา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 9 และ 2, 15 มีนาคม 2546 ชนะน็อค ฮวน คาร์ลอส รามิเรซ ยก 4
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 10 และ 3, 9 สิงหาคม 2546 ชนะน็อค โอริเก โรดริโก ยก 12
    • สละแชมป์
  • แชมป์โลก WBO รุ่นไลท์เวท
    • ชิง 3 มกราคม 2547 ชนะคะแนน อาร์เธอร์ กรีกอเรียน
    • เสียแชมป์ 7 สิงหาคม 2547 แพ้น็อค ดีเอโก้ คอร์ราเลส ยก 10
  • แชมป์โลก WBO รุ่นไลท์เวท (สมัยที่ 2)
    • ชิง 29 เมษายน 2549 ชนะคะแนน ซาร์อี ราฮีม
    • เสียแชมป์ 28 เมษายน 2550 แพ้น็อค ฮวน ดิแอช ยก 8

อ้างอิง[แก้]

  • นิตยสารโลกกำปั้น (พ.ศ. 2542)
  • สถิติการชก
  • ฅนเหล็ก. อาเซลิโน ไพรตัส จอมน็อคเอาท์แห่งบราซิล. นิตยสารมวยโลก. ปีที่ 30 เล่มที่ 1445 16 – 22 พฤษภาคม 2555 หน้า 48 - 49

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]