อาหนง
อาหนง | |
---|---|
หมิงเต๋อหฺวังโฮ่ว (明德皇后) แห่งรัฐฉางเชิง (長生國) | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1038–1039 |
หมิงเต๋อหฺวังโฮ่ว | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1042–1055 |
เกิด | ราว ค.ศ. 1005 |
ตาย | ค.ศ. 1055 |
สามี | หนง เฉฺวียนฝู (儂全福) |
บุตร |
|
ศาสนา | ลัทธิหมอผี, วิญญาณนิยม |
อาหนง (จีน: 阿儂; พินอิน: Ā Nóng; ราว ค.ศ. 1005–1055) เป็นแม่มด ผู้นำ และนักรบชาวจฺวั้ง (壯) เป็นภริยาของหนง เฉฺวียนฝู (儂全福) ผู้นำชาวจฺวั้งและหนง (儂) ชนกลุ่มน้อยทางชายแดนจีน–เวียดนาม ทั้งเป็นมารดาของขุนศึกหนง จื้อเกา (儂智高; ค.ศ. 1025–1055) นาง พร้อมด้วยสามีและบุตร นำทัพชาวจฺวั้งและหนงออกรบกับชาวจีนและเวียดนามจนเป็นที่เลื่องลือ[1]
อาหนงเกิดราว ค.ศ. 1005 เป็นธิดาของหัวหน้าเผ่าเผ่าหนึ่งซึ่งชาวจีนฮั่นให้ศักดินาเป็นขุนนางชั้นโจว (州) ส่วน Nong Dang-dao พี่ชายหรือน้องชายของนาง ได้ปกครองดินแดนจฺวั้งทั้งมวล อาหนงสมรสกับหนง เฉฺวียนฝู ในราว ค.ศ. 1020[1][2] นางและสามีมีบุตรด้วยกันหลายคน หนึ่งในนั้น คือ หนง จื้อเกา[1]
ตำนานในแถบกวังหนาน (廣南) ว่า สุนัขประจำตระกูลบอกนางว่า นางจะให้กำเนิดบุตรได้ต่อเมื่อเห็นกวาง แต่นางเห็นกระบือแล้วก็ให้กำเนิดหนง จื้อเกา ถือเป็นการคลอดผิดฤกษ์ เป็นเหตุให้หนง จื้อเกา พ่ายแพ้ต่อราชวงศ์ซ่ง (宋朝) เมื่อรบกัน[3]
เอกสาร ซ่งฉื่อ (宋史) ของจีน ระบุว่า นางเป็นแม่มด กระทำคุณไสยต่าง ๆ รวมถึงการบูชายัญมนุษย์ แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ข้อมูลนี้อาจผ่านการแต่งเติมด้วยอคติของลัทธิขงจื๊อ[2]
อย่างไรก็ดี อาหนงเสนอให้หนง เฉฺวียนฝู สามี ยึดอำนาจการปกครองเผ่าเฉิน (岑) ด้วยการสังหารพี่ชายหรือน้องชายของเขาเองซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่า[2] หนง เฉฺวียนฝู ก่อตั้งรัฐฉางเชิง (長生國) โดยมีตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ ตั้งอาหนงเป็นราชินี เรียก "หมิงเต๋อหฺวังโฮ่ว" (明德皇后) แล้วตัดความสัมพันธ์กับเวียดนาม ต่อมาใน ค.ศ. 1039 จักรพรรดิลี้ ท้าย ตง (Lý Thái Tông) แห่งเวียดนาม นำทัพมาปราบปราม จับหนง เฉฺวียนฝู และครอบครัวได้ จึงให้ประหารสิ้น เว้นแต่อาหนง และหนง จื้อเกา ผู้บุตร ที่หลบหนีไปได้[2]
อาหนง และหนง จื้อเกา สานสัมพันธ์กับพ่อค้าชาวจีนซึ่งมักเดินทางมาซื้อทองที่กว่างโจว (广州) พ่อค้าคนหนึ่งนาม Huang Wei ชี้แนะแนวทางเอาชนะกองทัพราชวงศ์ซ่งที่ Yong ให้แก่อาหนง และหนง จื้อเกา พวกเขาทำตามและประสบความสำเร็จ จึงมุ่งหน้าไปตีเมืองอื่น ๆ เช่น เหิงเซี่ยน (橫縣) และอู๋โจว (梧州) จนสามารถนำกำลังมาล้อมกว่างตง (广东) ได้ใน ค.ศ. 1052 แต่ไม่สามารถตีเมืองได้
ราชวงศ์ซ่งตั้งค่าหัวอาหนง และหนง จื้อเกา สูงกว่าที่ตั้งไว้สำหรับกบฏในกว่างตง[4] แล้วเรียกประชุมพลไปปราบปรามคนทั้งสองเป็นผลสำเร็จ อาหนง กับหนง จื้อเกา หนีไปยฺหวินหนาน (云南) และพยายามจะเรียกระดมพลที่นั่น แต่ถูกจับกุมเสียก่อน อาหนงถูกประหารชีวิตใน ค.ศ. 1055[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Barlow 2002.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Barlow 1987, p. 256.
- ↑ Inchan, Damrongphon (2015). "Nong of Southern China: Linguistic, Historical and Cultural Contexts". Silpakorn University Journal of Social Sciences, Humanities, and Arts (ภาษาอังกฤษ). 15 (1): 164.
- ↑ Barlow 2005.
- ↑ Barlow 1987, p. 261.
บรรณานุกรม
[แก้]- Barlow, Jeffrey (2005), "The Tang-Song Interregnum", The Zhuang: A Longitudinal Study of Their History and Their Culture, Pacific University, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-08, สืบค้นเมื่อ 2018-10-11.
- ——— (2002), "A Nong (c. 1005–1055)", ใน Commire, Anne (บ.ก.), Women in World History: A Biographical Encyclopedia, Waterford, Connecticut: Yorkin Publications, ISBN 0-7876-4074-3.
- Barlow, Jeffrey G. (1987), "The Zhuang Minority Peoples of the Sino-Vietnamese Frontier in the Song Period", Journal of Southeast Asian Studies, 18 (2): 250–269, JSTOR 20070970
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Eberhard, Wolfram (1982). China's Minorities, Yesterday and Today. Belmont CA: Wadsworth.
- Ma Yin, ed. (1989). China's Minority Nationalities. Beijing: Foreign Languages Press.
- Schafer, Edward (1967). The Vermillion Bird: Tang Images of the South. Berkeley: University of California.
- Taylor, K.W. (1983). The Birth of Vietnam. Berkeley: The University of California Press.