อารีย์ ลีวีระ
อารีย์ ลีวีระ | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2456 |
เสียชีวิต | 9 มีนาคม พ.ศ. 2496 (40 ปี) บ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
อาชีพ | นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, นักแปล |
คู่สมรส | กานดา บุญรัตน์ |
อารีย์ ลีวีระ (พ.ศ. 2456 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2496) เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวไทย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชย์ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ สยามนิกร และ พิมพ์ไทย และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2491–2494
ประวัติ
[แก้]อารีย์ ลีวีระ จบการศึกษาอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอ้หมึงแห่งชาติ (National University of Amoy) ประเทศจีน และสอนภาษาจีนที่โรงเรียนเผยอิง และโรงเรียนฮั่วเฉียว[1] ใช้เวลาว่างเขียนบทความ ข่าว และสารคดีให้แก่หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับ แล้วเริ่มเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ หมินก๊กยิเป้า และ จงฮัวหมินเป้า[1] และร่วมกับเพื่อนออกหนังสือพิมพ์จีนชื่อ เสียนจิงสีเป้า แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกกิจการ
งานการเมือง
[แก้]หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อารีย์ ลีวีระ ร่วมกับญาติ เข้าซื้อกิจการบริษัทไทยพาณิชย์ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ สยามครอนิเคิล (Siam Chronicle), สยามนิกร, ไทยเสรี, และ สตรีไทย จากพระยาปรีชานุสาสน์ (เดิมคือ บริษัท สยามพาณิชยการ) แต่กิจการไม่ดีต้องยุบเลิกเหลือเพียงฉบับเดียวคือ สยามนิกร และได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ คือ พิมพ์ไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2489[1] มีนโยบายมุ่งเน้นให้เสนอข่าวอย่างอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง
อารีย์ถูกจับกุมพร้อมกับนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เนื่องในคดีกบฏสันติภาพ และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496[2] หลังได้รับอิสรภาพ อารีย์ เข้าพิธีมงคลสมรสกับคนรัก คือ นางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การเสียชีวิต
[แก้]วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496 อารีย์ ลีวีระ ถูกปืนยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก ณ บ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ยิงเป็นตำรวจยศสิบโท 1 นาย และพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท. ศิริชัย กระจ่างวงศ์ หนึ่งในตำรวจอัศวินแหวนเพชรลูกน้อง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์[3] การสอบสวนใช้เวลากว่าครึ่งปี ที่สุดแล้วพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า หลักฐานไม่พอฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย และพนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง[4]
อารีย์ และกานดา ลีวีระ มีบุตรสาวคนเดียว ชื่อ พลตรีหญิง แพทย์หญิง อารียา ลีวีระ (เทพชาตรี) จบแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 อารีย์ ลีวีระ คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
- ↑ "คดีความนักหนังสือพิมพ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
- ↑ ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ). รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ, พ.ศ. 2545. 304 หน้า. หน้า หน้าที่[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]. ISBN 974-90614-5-4
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8/2496 วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. กรุงเทพฯ : เสนาการพิมพ์, 2496. หน้า 466.
- ↑ ประกาศ วัชราภรณ์. ทำเนียบคนหนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งแรกโดย ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. 2506), 2533. 462 หน้า. ISBN 974-601-275-4