โรงเรียนเผยอิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนเผยอิง
培 英 学 校

Pei-ing School
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ประเภทสหศึกษา
คำขวัญเรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม
สถาปนา24 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 (103 ปี)
ผู้ก่อตั้งพระอนุวัฒน์ราชนิยม (แต้ตี้ย้ง),
กอฮุยเจียะ, ตั้งเฮาะซัง,
โค้วปิ้ดจี่, เซียวเกียงลิ้ง
หน่วยงานกำกับเอกชน
ผู้อำนวยการนงลักษณ์ เดชดำเกิงชัย[1]
ระดับปีที่จัดการศึกษาอนุบาล-ประถมศึกษา
สี███ สีแสด[2]
เว็บไซต์www.peiing.ac.th, [1]

โรงเรียนเผยอิง (จีน: 培英学校) เป็นโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีน ที่ดำเนินงานโดย สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย มีปรัชญาว่า "รักชาติ เพียรศึกษา ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม", คติพจน์คือ "ความเพียรพยายาม นำไปสู่ความสำเร็จ" และคำขวัญว่า "เรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม"[2] ปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) มีคณะผู้บริหารประกอบด้วย ดร.ไกรสร จันศิริ นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการโรงเรียน, นางสาวนงลักษณ์ เดชดำเกิงชัย ผู้อำนวยการโรงเรียน และ นางจินตนา โรจน์ขจรนภาลัย นายกสมาคมศิษย์เก่าเผยอิง[3]

ประวัติ[แก้]

โรงเรียนเผยอิง ก่อตั้งขึ้นโดย พระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) นายบ่อนหวย กข อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บริจาคทุนร่วมกับบรรดาพ่อค้าชาวจีนหลายคน[4] เปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 มีที่ตั้งอยู่ในซอยอิสรานุภาพ ติดกับศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง หรือศาลเจ้าเก่า โดยที่ส่วนหน้าโรงเรียน หันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 14 ตารางวา[2] และนายหลีเต็กออ เป็นผู้จัดการโรงเรียนคนแรก แต่เนื่องจากภาษาจีนกลางได้รับความนิยมมากกว่า โรงเรียนฯ จึงเริ่มจ้างนายก๊วยบุ้นปิงมาเป็นผู้สอน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 และด้วยความก้าวหน้าของการสอนภาษาจีนในประเทศไทยขณะนั้น โรงเรียนจึงเปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทีเดียว[5]

วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2470 นับเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของโรงเรียน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนป้วยเอง เป็นการส่วนพระองค์[6] โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานกระแสพระราชดำรัส แก่คณาจารย์ นักเรียน เจ้าหน้าที่โรงเรียน ชุมชนชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีนในละแวกนั้น มีใจความดังนี้

ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการที่ได้จัดการรับรองข้าพเจ้าเป็นอย่างดี โดยมีไมตรีจิตต์อันแท้จริง การที่ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมโรงเรียนจีนต่างๆ ในคราวนี้ ก็เพื่อจะแสดงไมตรีจิตต์ของข้าพเจ้า ต่อพวกจีนที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศสยาม และเพื่อแสดงน้ำใจหวังดี ต่อโรงเรียนของท่านทั้งปวง

การที่พวกพ่อค้าจีน ได้คิดจัดตั้งโรงเรียนขึ้นนั้น ก็โดยเหตุที่ความประสงค์อยากจะให้บุตรหลาน ได้เล่าเรียนวิชาต่างๆ ในภาษาจีน อันเป็นภาษาของตน เพื่อจะได้เป็นการสะดวก สำหรับที่จะประกอบการอาชีพ ทำการค้าขายต่อไป และเพื่อประโยชน์อื่นๆ ด้วย นอกจากการสอนภาษาจีน ท่านยังได้จัดการสอนภาษาไทย และเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทยด้วย เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า โรงเรียนจีนนั้นมีประโยชน์มาก เพราะนอกจากที่จะให้วิชาแก่เด็กจีน ให้สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพสะดวกยิ่งขึ้น ยังจะทำให้เด็กจีนรู้จักเมืองไทยดี และเมื่ออ่านหนังสือไทยออก และเขียนได้ ย่อมจะทำให้ไทย และจีน สนิทสนมกลมเกลียวกันยิ่งขึ้นอีก

อันที่จริง ไทยกับจีนนั้น ต้องนับว่า เป็นชาติที่เป็นพี่น้องกันโดยแท้ นอกจากนั้น เลือดไทยกับจีน ได้ผสมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนต้องนับว่าแยกไม่ออก ข้าราชการชั้นสูงๆ ที่เคยรับราชการ หรือรับราชการอยู่ในเวลานี้ ที่เป็นเชื้อจีน ก็มีอยู่เป็นอันมาก พวกจีนที่ได้มามีเคหสถาน ตั้งครอบครัวอยู่ในเมืองไทย จนกลายเป็นไทยไป ก็มีอยู่เป็นอันมาก แม้ตัวข้าพเจ้าเอง ก็มีเลือดจีนปนอยู่ด้วย โดยเหตุการณ์เหล่านี้ ไทยและจีน จึงอยู่ด้วยกันได้อย่างสนิทสนม กลมเกลียวมาช้านาน ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์อะไร ยิ่งไปกว่าที่จะขอให้ความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับจีน ให้เป็นไปโดยสนิทสนม เหมือนอย่างที่แล้วมานี้ ให้คงอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านทั้งหลาย คงจะมีความเห็นพ้องกับข้าพเจ้า และจะตั้งใจสั่งสอนบุตรหลาน ให้มีความรู้สึกเช่นนั้น ในโรงเรียนของท่าน ท่านย่อมสั่งสอนให้นักเรียนรักประเทศจีน อันเป็นบ้านเกิดเมืองมารดร ข้อนี้ย่อมเป็นของธรรมดา และของควร แต่นอกจากที่จะสอนให้รักประเทศสยาม ได้รับความคุ้มครองร่มเย็นเป็นอย่างดี จากรัฐบาลสยาม มีสิทธิทุกอย่างเหมือนคนไทย ได้รับความสุขสบาย มั่งคั่งสมบูรณ์ ในประเทศสยาม เพราะฉะนั้น ความมั่นคงของรัฐบาลสยาม และประเทศสยาม ย่อมเป็นสิ่งที่ท่านพึงประสงค์ ถ้ารัฐบาลสยาม หรือประเทศสยาม ต้องประสบภัย เป็นอันตรายไปอย่างใดก็ดี ท่านทั้งหลาย ก็ต้องได้รับทุกข์ด้วย เหมือนกับคนไทย

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านคงจะเกลียดชัง ข้าศึกทั้งปวงของรัฐบาลสยาม จะเป็นข้าศึกภายนอก หรือภายในก็ดี ท่านคงมีน้ำใจ ช่วยปราบปรามกำจัดเสียให้หมดไป ถ้าหากประเทศสยาม จะต้องประสบภัยเมื่อใด ข้าพเจ้าหวังว่า คงจะได้รับความช่วยเหลือจากพวกจีนด้วย ถ้าท่านพยายามอบรมเด็กจีน ให้มีน้ำใจอย่างเช่นที่ว่ามานี้ ไทยและจีน ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม ยังประโยชน์ให้เกิดแก่กันทั้งสองฝ่าย และจะนำความสุขมาสู่ ทั้งไทยและจีน อันเป็นชาติพี่น้องกัน ให้มีน้ำใจมั่นคง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป ชั่วกัลปาวสาน

ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอให้พร แก่บรรดาพ่อค้าคหบดีจีนทั้งปวง และคณะอาจารย์ของโรงเรียน ที่ได้มาประชุมอยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ และนักเรียนทั้งปวง ขอจงมีความสุขสบาย ปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ให้มีกำลังเข้มแข็ง และปัญญาว่องไว จะกระทำสิ่งใด ขอจงเป็นผลสำเร็จ ทุกเมื่อ เทอญ[7]

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2476 โรงเรียนฯ เปลี่ยนระบบเป็นสหศึกษา เริ่มต้นรับนักเรียนหญิงเข้าศึกษาเป็นรุ่นแรก[8] และปลายปี พ.ศ. 2478 คณะกรรมการโรงเรียนฯ มีมติให้เลิกจ้างครูใหญ่ชาวไทย กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ) จึงมีคำสั่งปิดกิจการ เพราะขัดต่อระเบียบการดำเนินกิจการโรงเรียน คณะกรรมการสมาคมแต้จิ๋วฯ จึงยื่นคำขอเปิดโรงเรียนประถมศึกษา อีกครั้งบนที่ตั้งเดิม แต่ใช้ชื่อใหม่ว่า เฉาโจวกงสวย ในปี พ.ศ. 2479 โดยสอนภาษาไทยเป็นหลัก 20 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ และต้องจัดการสอนภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศ พร้อมทั้งลดเวลาสอนลงเหลือเพียง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามระเบียบของกระทรวงฯ แต่ก็ถูกสั่งปิดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2482 เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง สมาคมแต้จิ๋วฯ จึงนำอาคารเรียนไปใช้ เป็นที่ทำการชั่วคราว[9]

หลังสงครามสิ้นสุดลง มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพไทย-จีน เมื่อปี พ.ศ. 2489 เป็นผลให้โรงเรียนจีน ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดสอนอีกครั้ง คณะกรรมการสมาคมแต้จิ๋วฯ จึงมีมติให้ให้ฟื้นฟูโรงเรียนเผยอิงขึ้นใหม่ (เริ่มใช้สำเนียงจีนกลาง) โดยแต่งตั้งให้นายเซี่ยเหอ อดีตครูใหญ่เฉาโจวกงสวย เป็นครูใหญ่ฝ่ายจีนคนแรกของเผยอิง ที่กลับมาเปิดการสอนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[9] โดยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 4 และกลับมาสอนภาษาจีนเป็นหลักอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 โรงเรียนฯ ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้โรงเรียนทั่วประเทศ สอนภาษาไทยเป็นเวลา 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภาษาต่างประเทศ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์[5]

จากนั้น ราวปี พ.ศ. 2501 สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ขอรับใบอนุญาตจากกระทรวงฯ เพื่อเป็นเจ้าของโรงเรียนฯ เนื่องด้วยนายพงส์ สุรพงศ์ชัย ลาออกจากตำแหน่ง และเมื่อกระทรวงฯ ปรับปรุงหลักสูตรประถมศึกษาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2521 โรงเรียนฯ จึงขยายชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 5 และเพิ่มการสอนภาษาไทยเป็น 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน ส่วนภาษาจีนสอนเพียง 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเปลี่ยนแปลงตามระเบียบปีละ 1 ชั้นเรียน และในปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนฯ ก็ขยายชั้นเรียนครบจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรใหม่[5]

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมการเรียนการสอน ของโรงเรียนเผยอิงถึงสามครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์, เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 เป็นการทรงนำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นปีที่ 5 จำนวน 30 นาย มาทัศนศึกษาย่านเยาวราชและสำเพ็ง ในฐานะทรงเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ และเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552 ในโอกาสเสด็จฯ เยือนย่านเยาวราช เนื่องในเทศกาลตรุษจีน[6]

อาคารหลังแรก[แก้]

อาคารหลังแรกของโรงเรียนฯ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีสามชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ภายในมีโถงกลางทางเข้า มีจุดเด่นที่หน้าบันชั้นบนสุด ประดับด้วยนาฬิกาขนาดใหญ่ และแจกันปูนปั้นบนยอดอาคาร จัดสร้างขึ้นโดยทุนของคณะผู้ก่อตั้งโรงเรียนฯ 300,000 บาท เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2459 เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2463[10] โดยอาคารหลังนี้ ได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น และรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2545 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งรางวัลดังกล่าว จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์[6]

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  2. 2.0 2.1 2.2 น่ารู้กับเผยอิง[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "about" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. 9 ทศวรรษ โรงเรียนเผยอิง จากเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
  4. ผู้ก่อตั้งเผยอิง[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  5. 5.0 5.1 5.2 ประวัติเผยอิง[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  6. 6.0 6.1 6.2 เกียรติประวัติ[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  7. เกียรติประวัติ จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  8. ประวัติศาสตร์เผยอิง[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  9. 9.0 9.1 วิกฤตการณ์[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  10. อาคาร-สถานที่[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  11. ผลสมาบัติบุคคลสำคัญ : นายเจิ้งอู่โหลว (ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์)[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  12. ผลสมาบัติบุคคลสำคัญ : ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  13. ผลสมาบัติบุคคลสำคัญ : นายหูวี่หลิน (ดร.สมาน โอภาสวงศ์)[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  14. "เผยอิง" โรงเรียนสร้างเจ้าสัว กำเนิดนักธุรกิจพันล้านเมืองไทย เก็บถาวร 2012-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับที่ 9484 ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 หน้า 17 จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]