อาทมาต
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อาทมาต, อาทมาฏ, อาตมาท, อาทมารถ หรือ อาจสามารถ[1] เป็นชื่อเรียกวิชาดาบแขนงหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าตกทอดมาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ยังมีพระอิสริยยศ เป็น พระอุปราชวังหน้ารั้งเมืองพิษณุโลก วิชาดาบอาทมาฏ มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็วและรุนแรง สามารถสู้ได้เพียงคนเดียวต่อคู่ต่อสู้หลายคน มีท่ารุกเป็นท่าเดียวกับท่ารับ เมื่อคู่ต่อสู้ฟันมาจะรับและฟันกลับทันที ไม่มีอะไรตายตัว มีแม่ไม้ 3 ท่า คือคลุมไตรภพ ตลบสิงขร และย้อนฟองสมุทร และมีท่าไม้รำ 12 ท่า ได้แก่
- เสือลากหาง
- พระรามแผลงศร
- เชิญเทียนตัดเทียน
- ฟันเงื้อสีดา
- มอญส่องกล้อง
- ช้างประสานงา และ กาล้วงไส้
- ท่ายักษ์
- หงส์ปีกหัก
- สอดสร้อยมาลา
- ฟันเรียงหมอน
- ลับหอกลับดาบ
- พญาครุฑยุดนาค
โดยหัวใจของวิชาอาทมาฏ มีเป็นคำกล่าวที่คล้องจองกันดังนี้
มีเรื่องต้องหนี หนีไม่ได้ให้สู้ สู้ได้อย่าให้เจ็บ เจ็บได้อย่าให้ตาย
ลักษณะของดาบแบบอาทมาฏ จะเป็นดาบสองมือ (ดาบคู่) ที่สั้นและมีน้ำหนักเบา มีความคล่องแคล่ว มีด้ามที่ยาวกว่าดาบปกติ เพื่อป้องกันข้อแขนและเส้นเอ็นของผู้ใช้ อีกทั้งสามารถใช้ผลักหรือดันคู่ต่อสู้ให้เสียหลักได้ รวมถึงใช้กระแทกกระทุ้งด้วย และด้านคมที่ต่อจากด้ามจะเป็นสันที่หนาและยาวใช้สำหรับรับ โดยไม่ใช้ส่วนคมดาบเพราะจะทำให้ดาบบิ่นชำรุดได้ง่าย ซึ่งหัวใจของดาบแบบอาทมาฏ มีเป็นคำที่คล้องจองกัน คือ
เขาฟันเราไม่รับ เขารับเราไม่ฟัน จะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ จะรับต่อเมื่อหลบหลีกไม่ทัน
นอกจากนี้แล้ว คำว่า อาทมาฏ ยังเป็นคำใช้เรียกกองทหารหน่วยลาดตระเวนหาข่าวในสมัยโบราณ คล้ายหน่วยรบพิเศษในปัจจุบัน โดยมากมักจะเป็นชาวมอญเนื่องจากสื่อสารได้หลายภาษา[4]
วิชาอาทมาฏถูกอ้างอิงถึงในสื่อวัฒนธรรมร่วมสมัย อาทิ ขุนศึก นวนิยายโดย ไม้ เมืองเดิม ในปี พ.ศ. 2497 และในหนังสือการ์ตูนเรื่อง กองอาทมาตประกาศศึก ในปี พ.ศ. 2550 เป็นต้น และอ้างอิงถึงในวรรณคดีของไทยเช่น ขุนช้างขุนแผน เช่น ตัวละคร ขุนไกรพลพ่าย ซึ่งเป็นบิดาของขุนแผน ตัวละครเอก ก็มีสถานะเป็นนายทหารสังกัดกองอาทมาฏ[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ดาบอาทมาต ขอความรู้ด้วยครับ จากพันทิปดอตคอม
- ↑ รายการคุณพระช่วย: อาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 3
- ↑ รายการคุณพระช่วย : อาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 4
- ↑ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์: รายการวีรชนคนถูกลืม ตอน ปึกแผ่นแห่งชเวโบ-400 วิญญาณเดียว
- ↑ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2538). หน้า 178.