เอากุสตุสแห่งปรีมาปอร์ตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งานประติมากรรม
เอากุสตุสแห่งปรีมาปอร์ตา
Augusto di Prima Porta
ไม่ทราบนามศิลปิน

ประติมากรรมหินอ่อนขาว
คริสต์ศตวรรษที่ 1
พิพิธภัณฑ์วาติกัน, นครรัฐวาติกัน, อิตาลี
ประติมากรรมโรมันโบราณ

เอากุสตุสแห่งปรีมาปอร์ตา (อังกฤษ: Augustus of Prima Porta; อิตาลี: Augusto di Prima Porta) เป็นประติมากรรมสูง 2.04 เมตรของจักรพรรดิเอากุสตุสที่พบเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1863 ที่คฤหาสน์ลีวิอาที่ปรีมาปอร์ตาใกล้กรุงโรม ซึ่งเป็นที่ที่ภรรยาของเอากุสตุสลีวิอา ดรูซิลลาออกไปพำนักหลังจากที่สามีเสียชีวิต ในปัจจุบันประติมากรรมชิ้นนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วาติกันในกรุงโรม

ที่มา[แก้]

การระบุเวลาที่สร้างประติมากรรมเป็นวิธีที่เป็นที่คัดค้านกันอย่างกว้างขวาง เชื่อกันว่างานชิ้นนี้เป็นงานก๊อบปี้ของงานชิ้นต้นฉบับที่อาจจะเป็นงานหล่อสัมริด งานชิ้นต้นฉบับและเกียรติยศชั้นสูงอื่น ๆ อุทิศให้แก่เอากุสตุสโดยวุฒิสภาโรมันในปี 20 ก่อนคริสต์ศักราชและนำไปตั้งแสดงในสถานที่สาธารณะ ก่อนหน้านั้นเอากุสตุสใช้ชีวิตอย่างสมถะ แต่การที่มาพบประติมากรรมที่คฤหาสน์ของภรรยาทำให้เชื่อกันว่าเอากุสตุสคงจะพอใจกับผลงาน

นอกจากนั้นก็มีผู้ค้านว่าเป็นงานที่สร้างด้วยหินอ่อนจากงานชิ้นต้นฉบับที่อาจจะเป็นงานหล่อสัมริด ที่อาจจะเป็นของขวัญจากไทบีเรียส ซีซาร์แก่ลีวิอาผู้เป็นมารดา (เพราะเป็นงานที่พบในคฤหาสน์ของลีวิอา) หลังจากที่เอากุสตุสเสียชีวิตไปแล้วเพื่อเป็นการตอบแทนแก่สตรีผู้ทำการรณรงค์อยู่เป็นเวลานานให้ไทบีเรียสได้เป็นซีซาร์คนต่อมา ข้อหลังนี้เป็นการสนับสนุนลักษณะอันเป็นเทพของเอากุสตุสในงานชิ้นนี้ โดยเฉพาะในเมื่อไม่ได้สวมรองเท้า ซึ่งเป็นมาตรฐานในการสร้างงานที่เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าหรือวีรบุรุษของรูปสัญลักษณ์แบบคลาสสิก นอกจากนั้นบนเกราะหน้าอก (cuirass) ก็ยังมีภาพของธงที่ยึดได้โดยพาร์เธียซึ่งเป็นเหตุการณ์ไทบีเรียสมี่ส่วนร่วมเมื่อยังมีอายุน้อย ที่มีหน้าที่เป็นคนกลางกับฝ่ายพาร์เธีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แสดงบนตอนกลางของเกราะ และเป็นกิจการที่สำคัญที่สุดที่ไทบีเรียสได้ทำให้แก่เอากุสตุสบิดาเลี้ยง การที่ไทบีเรียสเสนอตนเองเป็นผู้ไปรับธงก็เท่ากับเป็นการสร้างความต่อเนื่องระหว่างไทบีเรียสเองกับเอากุสตุส ผู้เป็นจักรพรรดิและเทพองค์ใหม่ เช่นเดียวกับที่เอากุสตุสปฏิบัติก่อนหน้านั้นกับจูเลียส ซีซาร์ ฉะนั้นถ้ากล่าวตามสมมุติฐานข้อนี้แล้วประติมากรรมชิ้นนี้ก็คงจะสร้างระหว่างปีแรก ๆ ของรัชสมัยของไทบีเรียสระหว่างปี 42 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึง ค.ศ. 37

ลักษณะ[แก้]

เอากุสตุสเป็นรูปของ “Imperator” หรือแม่ทัพ, “thoracatus” หรือแม่ทัพเอกของกองทัพโรมัน ซึ่งหมายความว่าประติมากรรมน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งล่าสุด เอากุสตุสแต่งตัวอย่างทหาร, ถือคทากงสุล และ ยกมือขวาสูงขึ้นในท่า “adlocutio” หรือท่ากล่าวสุนทรพจน์ต่อกองทหาร ภาพนูนบนเกราะเป็นอุปมานิทัศน์ที่ค่อนข้างจะซับซ้อนและเป็นเนื้อหาทางการเมืองที่เป็นนัยยะถึงเทพโรมันต่าง ๆ รวมทั้งเทพมาร์สเทพเจ้าแห่งสงคราม และบุคลาธิษฐานของดินแดนต่างที่เอากุสตุสพิชิตที่รวมทั้งฮิสปาเนีย, กอล, เจอร์มาเนีย, พาร์เธีย (ที่ทำให้คราสซัสเสียหน้า ที่ปรากฏเป็นภาพที่ต้องคืนธงที่ไปยึดมาได้) ตอนบนเป็นรถม้าแห่งสุรยเทพที่ส่องการภารกิจที่เอากุสตุสปฏิบัติ

ประติมากรรมเป็นงานที่มีลักษณะเป็นงานแบบอุดมคติที่มีพื้นฐานมาจากประติมากรรมคนถือหอก หรือ “โดริฟอรอส” โดยประติมากรโพลิไคลทอสจากศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช

เปรียบเทียบกับ “Orator” ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติแห่งฟลอเรนซ์ ท่าตริภังค์[1]ของ “โดริฟอรอส” สร้างแนวทแยงระหว่างความตึงเครียดและความหย่อนของแขนขา ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้กันโดยทั่วไปของประติมากรรมแบบคลาสสิกก็นำมาใช้ในการสร้างประติมากรรมชิ้นนี้ การระบุ “โดริฟอรอส” ผิดไปในสมัยโรมันว่าเป็นภาพของอคิลลีสก็ยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของประติมากรรมชิ้นนี้เพิ่มมากขึ้น[2] แม้ว่าส่วนหัวจะเป็นอิทธิพลของรีพับลิกันแต่ลักษณะโดยทั่วไปแล้วใกล้เคียงกับงานแบบอุดมคติแบบเฮเลนนิสติคมากกว่าที่จะเป็นงานสัจนิยมของการสร้างภาพเหมือนแบบโรมัน

แม้ว่าความเที่ยงตรงต่อรูปร่างลักษณะของเอากุสตุสจะออกมาดูห่างเหินและแสดงสีหน้าสงบในลักษณะที่เป็นแบบอุดมคติ เช่นเดียวกันกับท่าตริภังค์ แต่ลักษณะเครื่องแต่งกายเป็นแบบเครื่องแต่งกายของแม่ทัพที่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันการที่เอากุสตุสมิได้สวมรองเท้าและการมีคิวปิดขี่โลมาเป็นฐานรับก็เป็นนัยยะถึงบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องกับเทพีวีนัสผู้เป็นแม่ของคิวปิดจากทางสายพ่อเลี้ยงจูเลียส ซีซาร์ อิทธิพลของลักษณะประติมากรรมแบบกรีกที่เห็นได้ชัดและสัญลักษณ์สำหรับประติมากรรมเหมือนอย่างเป็นทางการที่เมื่อใช้กับจักรพรรดิโรมันแล้วก็เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐบาลซึ่งเป็นหัวใจของการรณรงค์ทางอุดมคติของเอากุสตุส ซึ่งหันเหมาจากรูปลักษณ์ในสมัยระบบสาธารณรัฐที่ความมีอาวุโสและความมีสติปัญญาถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีบุคลิกอันเป็นที่น่าเคารพ ฉะนั้นประติมากรรมปรีมาปอร์ตาจึงเป็นงานประติมากรรมที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงแนวคิดของการสร้างรูปสัญลักษณ์ไปในทางตรงกันข้ามกับสมัยกรีก และสมัยเฮเลนนิสติค ซึ่งกลายมาเป็นสมัยที่ชื่นชมกับความเยาว์วัยและความแข็งแกร่งว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ การเลียนแบบวีรบุรุษ และ การชื่นชมวีรบุรุษเช่นอเล็กซานเดอร์มหาราช วัตถุประสงค์ทางการเมืองของประติมากรรมดังว่าเป็นที่เห็นได้ชัด เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าจักรพรรดิเอากุสตุสเป็นผู้ที่มีความสามารถเหนือผู้ใด ที่เทียบได้กับวีรบุรุษที่ควรค่าแก่การยกฐานะให้อยู่บนภูเขาโอลิมปัสได้ และเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นผู้นำของโรม

พหุรงค์[แก้]

แทบจะเป็นที่แน่นอนว่าประติมากรรมออกัสตัดเดิมทาสีเป็นพหุรงค์ (polychrome) แต่รอยสีถ้ามีก็แทบจะไม่มีเหลือหรออยู่ให้เห็น วินเซนซ์ บริงค์มันน์แห่งมิวนิกพยายามค้นคว้าการใช้สีบนงานประติมากรรมโบราณในคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อที่จะพยายามหาร่องรอยสีบนประติมากรรม

รูปสัญลักษณ์[แก้]

ภาพเหมือน[แก้]

ศีรษะ

ทรงผมเป็นผมเส้นหนาและมีลักษณะเป็นผมม้าบนหน้าผาก จากทางซ้ายมีปอยผมสองปอยออกไปทางด้านหน้า และทางขวาสามปอย ซึ่งเป็นลักษณะทรงผมที่พบเป็นครั้งแรกบนประติมากรรมชิ้นนี้ ทรงผมนี้ใช้ในการเปรียบเทียบกับภาพเหมือนของเอากุสตุสบนเหรียญที่ทำให้สามารถบ่งเวลาที่สร้างหรือทำได้[3] ลักษณะทรงผมนี้ใช้ในการบ่งว่าเป็นประติมากรรมแบบปรีมาปอร์ตา แบบที่สองที่เป็นที่นิยมใช้ที่สุดในบรรดาสามแบบที่ใช้ ทรงผมแบบอื่น ๆ ของเอากุสตุสอาจจะพบบนแท่นเอากุสตุส (Ara Pacis Augustae) ประติมากรรมเต็มตัวของเอากุสตุสแบบปรีมาปอร์ตาอีกชิ้นหนึ่งก็ได้แก่เอากุสตุสเวียลาบิคานา ซึ่งเป็นภาพเอากุสตุสในบทของพอนติเฟ็กซ์แม็กซิมัสที่ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งกรุงโรม

ใบหน้าของประติมากรรมเป็นใบหน้าแบบอุดมคติเช่นเดียวกับประติมากรรมของโพลิคลิตัส ศิลปะได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยการปกครองของเอากุสตุส การสร้างงานที่มีลักษณะเป็นสัจนิยมอย่างแท้จริงในสมัยสาธารณรัฐมาเปลี่ยนเป็นประติมากรรมที่มีอิทธิพลจากงานประติมากรรมของกรีก ที่จะเห็นได้จากงานประติมากรรมของจักรพรรดิหลายพระองค์ การสร้างงานแบบอุดมคติเป็นการรวบยอดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ผู้ที่มีความสามารถเหนือผู้ใดผู้ควรค่าต่อการปกครองจักรวรรดิควรจะมี ประติมากรรมเหมือนในสมัยแรกของเอากุสตุสจะออกมาในรูปแบบของการเป็นพระราชา แต่ในสมัยต่อมารูปลักษณ์นี้ก็ค่อยกลายมาเป็นลักษณะที่อ่อนลงในรูปแบบที่เรียกว่า “ความเป็นเอกในบรรดาผู้เสมอภาค” (Primus inter pares) ศีรษะและคอสร้างจากหินอ่อนที่แยกจากกันและนำมาต่อกับลำตัวภายหลัง

ภาพนูนบนเกราะหน้าอก[แก้]

รูปสัญลักษณ์ที่ใช้มักจะเปรียบเทียบกับรูปสัญลักษณ์ที่ใช้ใน “เพลงสดุดีคาร์เมน” (Carmen Saeculare) โดยโฮราซ และฉลองโอกาสที่เอากุสตุสก่อตั้ง “สันติภาพโรมัน” (Pax Romana) เกราะหน้าอกเป็นงานภาพนูนที่มีจุลรูปของการนำธงประจำกองทหารโรมันที่เสียให้กับพาร์เธียกลับคืนมาโดยมาร์ค แอนโทนีราวสี่สิบปีก่อนคริสต์ศักราช และ โดยคราสซัสในปี 53 ก่อนคริสต์ศักราชที่เป็นผลมาจากความสามารถทางการทูตของเอากุสตุส

จุลรูปตรงกลางเกราะหน้าอกตามการตีความหมายโดยทั่วไปเป็นภาพพระมหากษัตริย์พาร์เธียพระราชทานธงของคราสซัสคืนให้แก่ทหารโรมันสวมเกราะ (อาจจะเป็นมาร์ส อุลทอร์) ภาพนี้เป็นหัวข้อที่นิยมกันในการสร้างเสริมชื่อเสียงของเอากุสตุสเพราะเป็นการแสดงความสำเร็จครั้งใหญ่ทางด้านการต่างประเทศของเอากุสตุส และเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเน้น เพราะเอากุสตุสใช้การเจรจาทางทูตแทนการเข้าสงครามกับพาร์เธียซึ่งมีอำนาจทางการทหารที่เหนือกว่า ทางด้านซ้ายและขวาเป็นภาพสตรีนั่งเศร้า จุลรูปทางด้านหนึ่งเป็นบุคคลาธิษฐานของชาวตะวันออกที่ถูกบังคับให้ส่งบรรณาการให้แก่โรม และอีกด้านหนึ่งเป็นดาบที่เป็นบุคคลาธิษฐานของชาวเมืองขึ้นของโรม (เคลต์) จากตอนบนตามเข็มนาฬิกา:

แต่ก็ไม่มีจุลรูปใดที่ไม่ได้รับการคัดค้าน เทพทั้งหมดอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องและความคงเส้นคงวาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการขึ้นการตกของพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ที่เกิดขึ้นทุกวันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นความสำเร็จของชาวโรมันจึงเป็นสิ่งที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการช่วยเหลือของเทพ นอกจากนั้นความสำเร็จต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็มีความเกี่ยวข้องกับเอากุสตุสผู้ที่สวมเกราะด้วย บุคคลสำคัญคนเดียวบนเกราะที่ไม่ได้เป็นเทพคือพระมหากษัตริย์พาร์เธียน ซึ่งเป็นนัยยะว่าสิ่งอื่น ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความประสงค์ของเทพเบื้องบน หรือ สิ่งที่เทพเบื้องบนมีความเห็นด้วย

ฐานะความเป็นเทพ[แก้]

เมื่อยังมีชีวิตอยู่เอากุสตุสไม่ต้องการที่จะแสดงตัวเป็นเทพ (ซึ่งไม่เหมือนจักรพรรดิองค์ต่อมาที่พยายามทำตนเป็นเทพ) แต่ประติมากรรมชิ้นนี้มีนัยยะหลายอย่างที่บ่งถึง “ความเป็นเทพ” (divine nature) ของเอากุสตุส เอากุสตุสที่ไม่สวมรองเท้าบ่งว่าเป็นวีรบุรุษและอาจจะเป็นเทพ และ อาจจะเป็นการสร้างรายละเอียดทางด้านการพลเรือนในภาพที่ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นภาพเกี่ยวกับทหารอย่างเต็มที่ การไม่สวมรองเท้าเดิมใช้กับงานที่เป็นภาพของเทพเท่านั้น แต่ก็อาจจะเป็นการนัยยะว่าเป็นงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของเอากุสตุสที่เป็นงานก็อปปีของประติมากรรมชิ้นเดิมในเมือง ที่เอากุสตุสอาจจะสวมรองเท้า

คิวปิด (ลูกของวีนัส) ที่เท้าของเอากุสตุส (ขี่โลมา) เป็นการอ้างอิงของทั้งเอากุสตุสและบิดาเลี้ยงจูเลียส ซีซาร์ว่าตระกูลจูเลียนสืบเชื้อสายมาจากเทพีวีนัส - การอ้างอิงว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพโดยไม่ได้อ้างอิงว่ามีฐานะเป็นเทพซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในกรีซแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในโรม

ประเภท[แก้]

เอากุสตุสในฐานะpraetor - ตัวอย่างของเครื่องแต่งกาย (พิพิธภัณฑ์ลูฟร์)

ประติมากรรมแบบ “เอากุสตุสแห่งปรีมาปอร์ตา” กลายมาเป็นลักษณะที่เป็นที่นิยมกันมากของเอากุสตุส งานก็อปปีเต็มตัว และ ครึ่งตัว แบบต่าง ๆ ก็ทำกันทั่วไปในจักรวรรดิจนกระทั่งเมื่อเอากุสตุสเสียชีวิต แต่ไม่มีงานชิ้นใดที่แสดงภาพเอากุสตุสเมื่อมีอายุมากขึ้นซึ่งเป็นการสนับสนุนทฤษฎีของการสรรเสริญผู้มีความหนุ่มแน่นว่าเป็นผู้มีความสามารถ

อ้างอิง[แก้]

  1. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  2. John Pollini, "The Augustus from Prima Porta and the Transformation of the Polykleitan Heroic Ideal", in Warren G. Moon (ed.), Polykleitos, the Doryphoros and Tradition. (Madison: The University of Wisconsin Press) 1995, analyses the cultural significance of unmistakable Polykleitan features in the Prima Porta Augustus, presented in aemulatio as the successor to heroic Polykleitan portrayals of Alexander the Great.
  3. Coins were one of the most effective ways of spreading propaganda, such as news of decisive battles and changes of ruler, because on such occasions new coins would be minted.

บรรณานุกรม[แก้]

ภาษาเยอรมัน[แก้]

  • Heinz Kähler: Die Augustusstatue von Primaporta. Köln 1959.
  • Erika Simon: Der Augustus von Prima Porta. Bremen, Dorn 1959. (Opus nobile 13)
  • Hans Jucker: Dokumentationen zur Augustusstatue von Primaporta, in: Hefte des Archäologischen Seminars Bern 3 (1977) S. 16-37.
  • Paul Zanker: Augustus und die Macht der Bilder. München, C. H. Beck 1987, ISBN 3-406-32067-8
  • Kaiser Augustus und die verlorene Republik, Ausstellung Berlin 1988. Mainz, Zabern 1988. S. 386 f. Nr. 215.
  • Erika Simon: Altes und Neues zur Statue des Augustus von Primaporta, in: G. Binder (Hrsg.), Saeculum Augustum, Bd. 3, Darmstadt, WBG 1991, S. 204-233.
  • Dietrich Boschung: Die Bildnisse des Augustus, Gebr. Mann Verlag, Berlin 1993 (Das römische Herrscherbild, Abt. 1, Bd. 2) ISBN 3-7861-1695-4
  • Thomas Schäfer: Der Augustus von Primaporta im Wechsel der Medien, in: H. J. Wendel u.a. (Hrsg.), Wechsel des Mediums. Zur Interdependenz von Form und Inhalt, Rostock 2001, S. 37-58.
  • Vinzenz Brinkmann und Raimund Wünsche (Hgg.): Bunte Götter. Die Farbigkeit antiker Skulptur. Eine Ausstellung der Staatlichen Antikensammlungen und Glyptothek München in Zusammenarbeit mit der Ny Carlsberg Glyptotek Kopenhagen und den Vatikanischen Museen, Rom, Staatliche Antikensammlungen und Glyptothek, München 2004 ISBN 3-933200-08-3

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เอากุสตุสแห่งปรีมาปอร์ตา