อนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ

อนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ ตั้งอยู่ที่ถนนเชียงใหม่-ลำพูน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงพระกรณียกิจในการกอบกู้เมืองเชียงใหม่ของพระเจ้ากาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 1 เมื่อครั้งถูกพม่าปกครอง

ปัจจุบันอนุสรณ์สถาน อยู่ในความดูแลของมูลนิธิอนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ[1]

ประวัติ[แก้]

การก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ ริเริ่มโดยพันเอกการุญ บุญบันดาล ผู้บังคับการผสมที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยความเห็นชอบของเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ซึ่งมีพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2511 และทำพิธีวางศิลาฤกษ์ที่หน้าค่ายกาวิละ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 จากนั้นได้มีพิธียกอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยพลเอกประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน[2]

ภายในบริเวณอนุสรณ์สถาน นอกจากมีอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละแล้ว ยังมีอาคารอนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ เป็นสถานที่จัดแสดงภาพเหตุการณ์ในอดีต และสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากาวิละ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลัง ซึ่งก่อสร้างในปี พ.ศ. 2535

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

การเทเลือดประกอบพิธีสังเวย[แก้]

พระครูสุเทพสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง พร้อมทั้งสมาชิกกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ประมาณ 80 คน ได้จัดกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยทำพิธีเทเลือดสังเวยพระเจ้ากาวิละ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553[3] ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทางฝ่ายทหารจึงได้จัดพิธีขอขมา ในวันที่ 18 ของเดือนเดียวกัน โดยมีคุณหญิงเจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล เจ้านายฝ่ายเหนือ และพันเอกกฤษณ์ กิจสุวรรณ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานในพิธี[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิอนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ"ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 158ง วันที่ 21 ตุลาคม 2553 หน้า 332
  2. "อนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-02. สืบค้นเมื่อ 2013-03-13.
  3. เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรืองแผลงฤทธิ์สาดเลือดใส่ทหาร[ลิงก์เสีย]
  4. ทหารทำพิธีสักการะ พระเจ้ากาวิละ แจ้งจับพระครูสุเทพ